ไม่พบผลการค้นหา
สภาผู้แทนราษฎรมีคิวบรรจุร่าง พ.รบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการทำแท้ง 2 ฉบับเข้าสู่สภาฯแล้ว หลังศาล รธน.ตีความให้แก้ไขให้สอดคล้องกับ รธน.และสภาพการณ์ปัจจุบันให้เสร็จใน 1 ปี โดยร่าง ครม.ให้ทำแท้งได้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ขณะที่ร่างของพรรคก้าวไกลชงให้ทำแท้งได้อายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุมปรึกษาลงมติเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) ต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องด่วน

  • ร่าง ครม.ให้การทำแท้งอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

โดยร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการทำแท้ง ซึ่งกำหนดในมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

โดยบทบัญญัติเดิม คือ มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 

"มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังกล่าวต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์"

ถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับที่มาของการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติปรับปรุงบทบัญญัติความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 

ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการ qqq0923.jpg


  • ศาล รธน.วินิจฉัย ป.อาญา ม.301 ขัดแย้ง รธน. แนะให้แก้ไขใหม่

โดยมีเหตุและความจำเป็นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ว่า บทบัญญัติความผิดฐาน ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์เป็นปัญหาทั้งทางสังคม ทางการแพทย์และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน 

รวมทั้งประเด็นปัญหาที่เกี่ยวขอ้งกับจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางอาญาและกำหนดโทษแก่หญิงฝ่ายเดียวที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก

ทั้งนี้ความผิดฐานทำให้แท้งลูกมีเจตนารมณ์และคุณธรรมทางกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ โดยเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่กำลังจะเกิดมา แต่เนื่องจากรากฐานของสังคมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเป็นรากฐานของสังคมประกอบด้วย 

เช่นเดียวกับการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์ หากมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียวโดยมิได้พิจารณาคุ้มครองสิทธิของหญิงผู้ตั้งครรภ์อันมีมาก่อนสิทธิของทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่อาจส่งผลกระทบให้หฯญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกลิดรอนหรือจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิง ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติอันเป็นสิทธิพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดต่อชีวิตและร่างกายของตนได้ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ไปรบกวนหรือล่วงล้ำสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น

รวมทั้งยังส่งผลกระทบถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของหญิงตั้งครรภ์ที่ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการตัดสินใจของหญิงว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ การคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์และสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ต้องให้เกิดความสมดุลกันโดยอาจต้องนำช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์มาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา

การปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยปราศจากการกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เหมาะสมดังเช่นมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินความจำเป็น ประกอบกับรัฐมีหน้าที่กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมให้บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพโดยจัดให้มีมาตรการในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่กระทบต่อการใช้สิทธิของหญิงและในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าไปดูแลและคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์มิให้ถูกระทบสิทธิในการมีชีวิตด้วยเช่นกัน บทบัญญัติมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วนและเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 

WT_ครรภ์.jpg

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ให้ข้อเสนอแนะด้วยว่าประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำแท้งสมควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก โดยกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา 301 รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นควาสมผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา 305 ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามนัยมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลา 60 ปีแล้ว ก่อให้เกิดปัญหาการทำแท้งเถื่อนในสังคมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของหญิงจำนวนมาก และทำให้เกิดปัญหาสังคมจากความไม่พร้อมของหญิงและเด็กที่เกิดมาอีกมากมาย 

"ในขณะที่ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาขึ้นมากสามารถให้บริการดูแลรักษารองรับการตัดสินใจใช้สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้อย่างสะดวกปลอดภัยแล้ว ประกอบกับยังไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ที่ครอบคลุมและเหมาะสม ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้ข้อเสนอแนะว่าประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำแท้งสมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข" คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

โดยกฎหมายดังกล่าวนี้จะต้องพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จโดยด่วนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 ก.พ. 2564 

เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี หากแก้ไขไม่แล้วเสร็จ มาตรา 301 จะไม่มีผลบังคับใช้โดยปริยาย เพราะกฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา  (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) มีคิวถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธ.ค. 2563 แล้ว โดยเป็นเรื่องด่วนลำดับที่ 14 

ธัญวัจน์
  • พรรคก้าวไกล ชงทำแท้งอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์

นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะเป็นผู้เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยมีคิวถูกบรรจุต่อท้ายอยู่วาระเรื่องใหม่

โดยร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลนั้น เสนอให้แก้ไขมาตรา 301 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 

"มาตรา 301 บุคคลใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" 

พร้อมเสนอให้ยกเลิกความในมาตรา 302 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้ข้อความว่า

"มาตรา 302 ผู้ใดทำให้บุคคลแท้งลูกโดยบุคคลนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไมเกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท"

พร้อมกันนั้นยังแก้ไขมาตรา 303 โดยใช้ข้อความว่า "มาตรา 303 ผู้ใดทำให้บุคคลแท้งลูกโดยบุคคลนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000บาท ถึง 200,000 บาท

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 400,000 บาท"

พรรคก้าวไกลยังแก้ไขมาตรา 305 โดยกำหนดให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) บุคคลซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตใจของบุคคลนั้น

(3) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากทารกในครรภ์มีความพิการหรือเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง หรือ 

(4)บุคคลมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ 

ผู้กระทำไม่มีความผิด"

ขณะที่เฟซบุ๊ก คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง โดยโพสต์ข้อความนัดหมายเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ธ.ค. หน้ารัฐสภา หลังกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งได้เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ถึง 2 ฉบับ โดยฉบับ คณะรัฐมนตรีอนุญาตบุคคลมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ในการทำแท้ง ส่วนร่างของพรรคก้าวไกลมีอายุครรภ์ในการทำแท้งไม่เกิน 24 สัปดาห์

"นี่คือก้าวใหญ่ของกฎหมายทำแท้งขอให้ทุกคนติดตามและสนับสนุนให้ทำแท้งปลอดภัยถูกกฎหมายและดันได้ถึง 24 สัปดาห์ด้วยนะคะ" 

อ่านเพิ่มเติม : คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่4/2563