ไบเดนและสีได้พูดคุยกันครั้งล่าสุด ในการหารือนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งจัดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาโดยทั้งสองฝ่ายต่างชื่นชมความก้าวหน้าในขณะที่ทั้งสองชาติยังคงมีความขัดแย้งกับประเด็นต่างๆ เช่น ไต้หวัน และการพัฒนาเทคโนโลยี
ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมเมื่อวันอังคาร เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่าการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ดังกล่าวของไบเดนกับสี มีจุดมุ่งหมายเพื่อ "เช็คอิน" มากกว่า และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุความก้าวหน้าทางนโยบายใดๆ “ผู้นำทั้งสองได้หารือกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ ในประเด็นต่างๆ ในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงด้านความร่วมมือและด้านความแตกต่าง” ทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ภายหลังการประชุม
ในขณะเดียวกัน ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของรัฐบาลจีนระบุว่า สีระบุกับไบเดนระหว่างการพูดคุยกันว่า ทั้งสองประเทศควรใช้หลักการพื้นฐานว่า “ไม่มีการปะทะกัน ไม่มีการเผชิญหน้า” กันในปีนี้ “เราควรจัดลำดับความสำคัญของเสถียรภาพ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ไม่ข้ามเส้น แต่รักษาเสถียรภาพโดยรวมของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ” สีกล่าวตามรายงานของ CCTV
การโทรศัพท์พูดคุยระหว่างทั้งสองผู้นำเกิดขึ้นก่อนการเจรจาทางการทูตหลายสัปดาห์ โดย เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เตรียมเดินทางไปจีนในสัปดาห์นี้ และ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็จะเดินทางไปเยือนจีนต่อในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ทำเนียบขาวกล่าวว่า สีและไบเดนกล่าวถึงประเด็นต่างๆ “รวมถึงความร่วมมือต่อต้านยาเสพติด การสื่อสารระหว่างทหารกับทหารที่กำลังดำเนินอยู่ การเจรจาเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI และความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน”
“เราเชื่อว่าไม่มีทางใดจะแทนที่การสื่อสารตามปกติในระดับผู้นำ เพื่อจัดการความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ซับซ้อน และมักจะตึงเครียดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” จอห์น เคอร์บี ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร
การเจรจาเกิดขึ้นหลังจากความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นนานหลายเดือน โดยเฉพาะเหตุการณ์ "เกือบพลาด" ที่กองทัพสหรัฐฯ ระบุว่าเรือในช่องแคบไต้หวันเกือบชนกัน และเครื่องบินขับไล่พุ่งเข้ามาใกล้กันอย่างอันตราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมรบเชิงรุก ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนดำเนินการปฏิบัติการในพื้นที่สำคัญๆ หลายแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และช่องแคบไต้หวัน และการปะทะกันใดๆ ก็ตามอาจนำไปสู่ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้
รัฐบาลของไบเดนดำเนินนโยบายตอบโต้การเพิ่มขึ้นของ “ความกล้าแสดงออก” ทางการทหารและเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคแปซิฟิก เป็นประเด็นสำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามเสริมกำลังพันธมิตรทางทหาร ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาข้อจำกัดทางการค้ากับทางการจีนด้วย
ในช่วงสัปดาห์หน้า ไบเดนจะเป็นเจ้าภาพให้การต้อนรับ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์และ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ทำเนียบขาว โดยประเด็นอิทธิพลของจีนในภูมิภาคแปซิฟิกถูกกำหนดให้เป็นวาระสำคัญที่สุดในการหารือกัน
ทางการจีนกล่าวว่าข้อจำกัดของสหรัฐฯ ในการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูง และการคว่ำบาตรธุรกิจของจีนได้สร้างความตึงเครียดให้กับเศรษฐกิจของจีนอย่างไม่สมควร โดยตามรายงานของ CCTV ระบุว่า สีกล่าวกับไบเดนว่ามาตรการดังกล่าว “ไม่ได้ลดความเสี่ยง แต่สร้างความเสี่ยง” โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ดำเนินการกับบริษัท ByteDance โดยเรียกร้องให้ ByteSance ขายกิจการของตัวเองในสหรัฐฯ ภายใน 6 เดือน หรือไม่อย่างนั้น TikTok จะถูกทางการสหรัฐฯ แบน
ผู้นำสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลผู้ใช้ถูกส่งไปยังรัฐบาลจีน ซึ่งนำไปสู่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ โดยไบเดนส่งสัญญาณถึงความเต็มใจที่จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ก่อนการลงนามในกฎหมายโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่างรัฐบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังไม่ผ่านวุฒิสภา ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจเผชิญกับการยื่นฟ้องเพื่อตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ในด้านเสรีภาพในการพูด
ทำเนียบขาวยอมรับว่า ทั้งสองผู้นำได้หยิบยกคำถามเรื่องการแบน TikTok ขึ้นในการประชุมเมื่อวันอังคาร นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ถูกนำมาพูดคุยกันระหว่างการสนทนาหนีไม่พ้นประเด็นไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่จีนอ้างว่าเป็นของพวกเขา
ตามการระบุของทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร ไบเดน “เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนหลักนิติธรรมและเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้”
ประเด็นไต้หวันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนมายาวนาน โดยสหรัฐฯ เน้นย้ำว่าพวก้ขา “ยอมรับ” นโยบาย “จีนเดียว” และไม่สนับสนุนเอกราชของไต้หวันอย่างเปิดเผย แม้ว่าสหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไต้หวัน แต่สหรัฐฯ ได้ขายอาวุธให้กับไต้หวัน และไบเดนเองให้คำมั่นที่จะปกป้องหากไต้หวันเผชิญกับการรุกรานของจีน
ความตึงเครียดของสหรัฐฯ กับจีนมีเพิ่มมากขึ้น หลังไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาะในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยประชาชนส่วนใหญ่เลือก วิลเลียม ไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวัน ให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ทั้งนี้ ไล่เป็นผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวันมายาวนาน และมีกำหนดเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในวันที่ 20 พ.ค.ที่จะถึงนี้
ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารเน้นย้ำระหว่างการประชุมกับสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า ทางการจีน “จะไม่มีวันประนีประนอมหรือถอยกลับในประเด็นของไต้หวัน” นอกจากนี้ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวภายหลังในเดือนเดียวกันว่า “เอกราชของไต้หวัน” ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ความขัดแย้งระหว่างประเทศอื่นๆ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในการประชุมเมื่อวันอังคารเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไบเดนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “การสนับสนุนฐานอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของรัสเซีย” ของจีน ท่ามกลางสงครามที่ดำเนินอยู่ของรัสเซียในยูเครน
ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าทางการจีนดูเหมือนจะเต็มใจที่จะลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ มากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนกำลังเผชิญกับแนวโน้มที่น่ากังวล
ที่มา: