ประชากรไทยหลายจังหวัดคุ้นชินกับการสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 มากขึ้นตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนในเมืองหลวงที่ทั้งทางกรุงเทพมหานครและรัฐบาลยังไร้นโยบายประสิทธิภาพสูงช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตผู้คน
งานศึกษาจาก Rocket Media Lab วิเคราะห์ผลลัพธ์จากการดมฝุ่นพิษของชาวกรุงเปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่ตลอดทั้งปี 2563 พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 22 ไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทำให้เกิดมลพิษเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน
ตามข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่า ในปีที่ 2563 ที่ผ่านมา คุณภาพอากาศกรุงเทพฯ อยู่ในระดับดีเพียง 71 วัน หรือคิดเป็น 19.56% ของจำนวนวันตลอดทั้งปีเท่านั้น
ขณะที่สัดส่วนโดยรวมไปตกอยู่ในหมวกอากาศปานกลางทั้งสิ้น 210 วัน หรือคิดเป็น 57.85% ทั้งนี้เมืองหลวงของไทยตกอยู่ในภาวะอากาศระดับกลางซึ่งเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนะถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสูงถึง 82 วัน หรือคิดเป็น 22.40%
เมื่ออ้างอิงแนวคิดข้างต้นพบว่า ในปี 2563 คนกรุงเสมือนสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 1,270.07 มวน โดย 3 เดือนที่อากาศมีสภาพเลวร้ายที่สุดได้แก่ เดือน ก.พ.ซึ่งมีค่าฝุ่นสูบที่สุดเทียบเท่าการสูบบุหรี่ราว 170 มวน ตามมาด้วยเดือน ม.ค.ที่มีค่าฝุ่นเทียบเท่าการสูบบุหรี่ประมาณ 165 มวน และปิดท้ายด้วยเดือน ธ.ค.กับค่าฝุ่นพิษเทียบเท่าการสูบบุหรี่เกือบ 150 มวน
มิ.ย.คือเดือนที่มีอากาศดีที่สุดของชาวกรุงเทพฯ แม้คนเมืองยังต้องสูดดมมลพิษเทียบเท่าการสูบบุหรี่ราว 67 มวน รองลงมาคือเดือน ก.ย.และปิดท้ายด้วยเดือน ก.ค.ด้วยจำนวนเทียบเท่าบุหรี่ราว 70 และ 73 มวน ตามลำดับ
เมื่อนำข้อมูลข้างต้นไปเทียบกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2543 ซึ่งระบุว่า "การสูบบุหรี่ 1 มวน ลดอายุของคุณลง 11 นาที" การคำนวณพบว่าชีวิตของชาวกรุงลดลงไปแล้วราว 13,970 นาที หรือคิดเป็นจำนวน 233 ชั่วโมง หรือแปลได้ว่าเพราะคุณภาพอากาศที่เลวร้ายเพียง 1 ปี คนกรุงฯ สูญเสียห้วงเวลาในการใช้ชีวิตอันมีค่าไปแล้วเกือบ 10 วัน
Rocket Media Lab พบว่า แม้ไม่มีนโยบายอย่างชัดเจนว่ากรุงเทพมหานครจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยวิธีใด แต่จากการสืบค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พบว่ามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 หลายโครงการ
ทั้งนี้ยังปรากฏโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สอดคล้องกับกิจกรรมการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของทาง กทม. อีกหลายรายการ เช่น กิจกรรม Big Cleaning ปฏิบัติการล้างทำความสะอาดพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต
ขณะที่โครงการที่ปรากฏตามข่าวในปีที่แล้ว เช่น การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถเมล์นั้น เป็นงบประมาณจากกระทรวงคมนาคม ส่วนโครงการของกรุงเทพมหานครอื่นๆ ที่มีการพูดถึงในข่าว เช่น หอฟอกอากาศ จำนวน 24 หอ งบประมาณราว 127 ล้านบาท ยังไม่ปรากฏมีการจัดซื้อจัดจ้าง