ข่าวการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของบรรพบุรุษตระกูล 'ชินวัตร' ของทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 พี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรีไทย และข่าว 'ยิ่งลักษณ์' ขึ้นเป็นประธานบริหารบริษัทซัวเถา อินเตอร์เนชันเเนล คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล จำกัด (SICT) ที่ดูแลการควบคุมบริหารท่าเรือในเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้งของจีน กลายเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงในโซเซียลมีเดียของจีนอย่างเว่ยป๋อ เป็นอย่างมาก สำนักข่าวในจีนต่างนำเสนอข่าวดังกล่าวจนเสมือนเป็นไวรัลข่าวในโลกโซเซียลของจีนแทบจะทันที
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่าสำนักข่าวต่างๆ ในจีนที่นำข่าวและคลิปวิดีโอไปเยี่ยมบ้านเกิดของ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีไทยได้ลบข่าวต้นฉบับออกจากหน้าบัญชีเว่ยป๋อของตนเองทั้งหมด เนื่องจากอาจกลัวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัฐบาลทหารไทยชุดปัจจุบัน หลังจากที่ข่าวดังกล่าวมีจำนวนแชร์และยอดไลก์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม กระแสของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยในโลกโซเชียลของจีนก็ยังไม่จางหายไป
(ข่าวการขึ้นเป็นประธานบริหารบริษัท SITC ดูแลท่าเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถา จากสำนักข่าวโถวเถี่ยวซินเหวินที่มีผู้กดไลค์กว่า 2,000 คน)
นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยานานกิงท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการโซเซียลมีเดียของจีนอย่างกว้างขวาง กล่าวกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า กระแสของ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีไทยจากตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ได้รับความชื่นชม และมีการตอบรับอย่างดีจากคนจีนเสมอมา ทั้งยังเป็นการกล่าวถึงนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเยือนจีนครั้งแรกในปีพ.ศ. 2555
ความสนใจของชาวเน็ตจีนที่มีต่ออดีตนายกฯ ไทยเริ่มเมื่อใด
แหล่งข่าวของวอยซ์ ระบุว่า ชาวเน็ตจีนเริ่มให้ความสนใจและความชื่นชมในตัวนางสาวยิ่งลักษณ์มานับตั้งแต่ที่เธอขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย โดยเฉพาะในการเยือนประเทศจีนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีพ.ศ. 2555 ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์แต่งกายด้วยชุดจีน ประกอบกับกิริยาที่อ่อนหวาน บุคลิกที่ดูมุ่งมั่น เป็นคนเก่ง ทำให้กลายเป็นจุดเด่นและเป็นที่สนใจของชาวเน็ตจีนโดยทันที
(ในการเยือนปักกิ่งครั้งแรกขณะดำรงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยเมื่อปีพ.ศ. 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการต้อนรับจากนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้น)
นอกจากนี้ 'ความไกลที่รู้สึกใกล้' ที่ชาวจีนสัมผัสได้จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผ่านการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบจีนในเทศกาลสำคัญของจีน หรือในระหว่างการเยือนจีน การเดินซื้อสินค้าในร้านค้ากลางกรุงปักกิ่งและในตลาดรัสเซียที่กรุงปักกิ่ง รวมไปถึงการยอมรับว่ามีเชื้อสายจีนและการกลับไปเยี่ยมบ้านบรรพบุรุษที่เมืองเหมยโจ มณฑลกวางตุ้งอย่างไม่ปิดบัง สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับชาวจีนมากยิ่งขึ้น ต่างจากผู้ที่มีตำแหน่งผู้นำต่างชาติคนอื่นๆ
ดังนั้นแล้ว ข่าวการเข้าไปลงทุนในจีน หรือการขึ้นเป็นผู้บริหารบริษัทที่คุมท่าเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้คนจีนรู้สึกยินดีต้อนรับ เสมือนว่าเป็นลูกหลานคนจีนที่กลับมาบ้านเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ได้มองอดีตนายกฯ ไทยเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ในจีน
อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดังแค่ไหนในโลกโซเชียลของจีน
สำนักข่าวโถวเถี่ยวซินเหวินท��่มีผู้ติดตาม 59,670,000 คน ซึ่งเกือบเท่ากับจำนวนประชากรในประเทศไทย เสนอข่าวการขึ้นเป็นประธานบริหารบริษัท (SICT) ซึ่งแม้ว่าข่าวดังกล่าวจะมีผู้แชร์ไป 1,316 แชร์ และกดไลก์กว่า 2,092 ราย และมีคอมเมนต์ใต้ข่าวอีกกว่า 1,000 คอมเมนต์ แต่จากการประเมินจากผู้ติดตามบัญชีเว่ยป๋อของสำนักข่าวดังกล่าว คาดว่าน่าจะมีผู้เห็นข่าวดังกล่าวกว่า20-30 ล้านคนในโลกโซเซียลของจีน ทั้งยังไม่นับสื่อออนไลน์อื่นๆที่นำเสนอข่าวของอดีตนายกหญิงของไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมไปถึงคอมเมนต์ในข่าวหรือบทความที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยนั้นก็เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์มาโดยตลอดเช่นกัน
นอกจากนี้ในเว่ยป๋อยังมีบัญชีที่แฟนคลับชาวจีนทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อนำเสนอข่าวสารและผลงานของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยท่านนี้
(บัญชีเว่ยป๋อที่ชาวจีนสร้างขึ้นเพื่อแชร์ข่าวสารของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย )
ดังนั้น ภาพลักษณ์ที่มาพร้อมกับบุคลิกที่มุ่งมั่นและเก่ง รวมไปถึง 'ความไกลที่รู้สึกใกล้' และสัมผัสได้จึงทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยกลายเป็นที่ชื่นชอบและที่ยอมรับของโลกโซเชียลจีนที่มีผู้ใช้อยู่ราว 1,000 ล้านคนไปโดยปริยาย