Internews จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ "บทบาทของสื่อในการลดการตีตราและอคติในการรายงานข่าวการระบาดของโรคโควิด-19 WEBINAR: Reducing stigma and prejudice in COVID-19 reporting" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นคำถามหลักว่า วิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัว การตีตรา และอคติต่อประชากรทั่วโลก สื่อมีบทบาทในการการรายงานข่าวเพื่อสร้างสังคมที่ร่วมมือร่วมใจกัน และป้องกันแก้ไขความแตกแยกในสังคมได้อย่างไร
โดยมีวิทยากรรับเชิญ ได้แก่ พิณผกา งามสม บรรณาธิการบริหาร Voice TV และ Voice Online , ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เจ้าของเพจเฟสบุ๊ก 'มนุษย์กรุงเทพ ฯ', และนัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักข่าวประชาไท
พิณผกา กล่าวว่า โจทย์ของสื่อคือการรายงานอย่างไรให้ไม่ตีตรา และร่วมมือกับประชาชน โดยนักข่าวจะมีความท้าทายเนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถออกไปทำข่าวในช่วงเคอร์ฟิวได้หรือไม่ หลายสำนักข่าวต้องเขียนจดหมายรับรอง และการต่อต้านข่าวปลอมโดยรัฐ สื่อไม่สามารถทำงานที่บ้านได้เหมือนอาชีพอื่นเพราะต้องเข้าไปเจอคน
แต่ปัญหาต่อมาก็คือทำอย่างไรให้การทำงานของสื่อปลอดภัยจากโรคด้วย แม้ว่าจะมีการแจกหน้ากากและซื้อประกันให้กับพนักงาน แต่มาตรฐานในการลงพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักข่าวเองเสี่ยงต่อการเป็นพาหะมากกว่าอาชีพอื่นเช่นกัน ประเด็นต่อมาคือข่าวในช่วงวิกฤตควรมาในช่องทางเดียว แต่ก็ควรมีการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐด้วย และสุดท้ายคือการหาองค์ความรู้
ยกตัวอย่างปัญหาการทำงานข่าว เช่น ข่าวเรือสำราญเวสเตอร์ดัมที่จะเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบัง ที่เว็บไซต์ต้นทางก็เปลี่ยนข้อมูลในวันรุ่งขึ้น และกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ประกาศว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม ทั้งที่เป็นเรื่องของอายุข่าว และควรมีการตีความคำว่า 'ข่าวปลอม' ให้ชัดเจนกว่านี้
นอกจากนี้ยังมีกรณีการสัมภาษณ์กลุ่มคนไร้บ้านที่นักข่าวต้องรอเวลาเพื่อที่จะสัมภาษณ์ แต่ติดปัญหาเคอร์ฟิวที่ห้ามออกจากเคหะสถานหลัง 22.00 น. เป็นต้น
หรือกรณีตัวอย่างการตีตรา ในประเด็นข่าว 'ผีน้อย' หรือ 'แรงงานไทยที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในเกาหลีใต้' ประชาชนหลายคนหวาดกลัวการกลับมาของแรงงานไทยกลุ่มนี้ แม้บางคนจะเรียกว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง แต่เมื่อความรู้ไม่อัปเดต อีกมุมหนึ่งก็จะกลายเป็นการล่าแม่มด ทำให้เกิดข่าวการฆ่าตัวตาย เพราะเพื่อนบ้านต่อต้าน ทั้งที่ไม่มีการรวบรวมข้อมูลว่าการระบาดของโรคที่เกิดจากแรงงานดังกล่าวมีมากน้อยแค่ไหน และมากน้อยกว่าการระบาดในสนามมวยหรือไม่
อคติต่อมาคือ คนจนและคนกินเหล้า สื่อบางสำนักและเพจบางเพจมีการวิจารณ์การกินเหล้า ซึ่งลักษณะนี้คล้ายกับสมัยที่คนไทยยังไม่มีความรู้เรื่องโรคเอดส์และกีดกันคนเหล่านี้ออกจากสังคมในช่วงเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งต่อมาเมื่อวิทยาการทางการแพทย์และการรักษาพัฒนาขึ้น คนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่ในการระบาดของโควิด เป็นเรื่องของการระแวง แล้วสื่อจะสื่อสารอย่างไรไม่ให้คนมองกันว่าเป็นศัตรู
นอกจากนี้การอัปเดตตัวเลขคนป่วย ผู้เสียชีวิต จาก ศบค. อย่างเดียวไม่พอ เพราะโรคนี้ส่งผลถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน การทำงานที่บ้านถือเป็นอภิสิทธิ์ของคนมีเงิน แต่คนจนจะอยู่ได้อย่างไร ทางสำนักข่าวจึงต้องทำข่าวและดูมิติอื่นๆ มากกว่าข่าวจากราชการ เช่น คนจน คนไร้บ้าน และการสะท้อนความเห็นแทน ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานในเชิงนโยบายควบคู่ไปด้วย เพื่อให้คนดูได้เห็นภาพรวม
ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า การที่เราจะอยู่ในโลกหลังจากนี้ สิ่งที่เราทำขณะนี้จะเป็นการนิยาม New Normal ได้ แต่อคติและการกีดกันในช่วงโควิดที่คนเต็มไปด้วยความกลัว ความหวาดระแวง และลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง ทำให้เห็นความดำมืดในสังคม คนจะเริ่มจำว่าช่วงนี้ถูกกระทำอย่างไร แล้วมันจะเป็นตัวกำหนดทิศทางหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไม่ได้มีแค่สื่อกระแสหลัก แต่ทุกคนสามารถนำข้อมูลเข้าสู่สื่อ อาจทำให้เกิดภาวะการระบาดของข้อมูลข่าวสาร Infordemic ที่ผสมทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม หน้าที่ของสื่อตรงนี้ที่ต้องพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพคือ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และกรอกให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เป็นเพียงโซเซียลมีเดีย (Social Media) แต่การทำจริงยาก เพราะนักข่าวจะเข้าถึงข้อมูลในช่วงวิกฤตยากกว่าช่วงเวลาปกติ
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ 'Privacy' หรือความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นอยู่ ซึ่งสังคมไทยยังค่อนข้างอ่อนด้อย มีการรั่วของข้อมูล เช่น กรณีเที่ยวบินที่คนไทยที่กลับจากต่างประเทศมาลงที่สุวรรณภูมิ มีการเปิดเผยข้อมูลของคนที่กลับมา และแม่ของผู้โดยสารคนหนึ่งก็ถูกคนแปลกหน้าโทรไปด่า เพราะคนตัดสินไปแล้วด้วยอารมณ์ ดังนั้น Media (สื่อ) กับ Social Media (สื่อสังคมออนไลน์) จึงต่างกัน
ขณะเดียวกัน ทำให้เห็นว่ามาตรการทางกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังอ่อน นอกจากนี้ยังมีประเด็นการทำ Mass Testing แม้จะดี แต่ไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้ เพื่อไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ติดเชื้อ ประเด็นความเป็นส่วนตัว ถ้าคนทั่วไปยังไม่รู้จักเคารพข้อมูลส่วนบุคคลหรือยังไม่มี พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ที่ดีเพียงพอ แม้จะมีกฎหมายใกล้จะประกาศใช้ช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้ก็ตาม ก็จะเป็นเรื่องที่น่ากลัว จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ สื่อพยายามโพสต์เพื่อสร้างความนิยมและยอดแชร์ ทั้งที่ความจริงก็รู้ว่าอะไรคือการตีตราหรืออคติ
ขวัญชาย กล่าวว่า เราต้องรู้ก่อนว่าปัญหาคืออะไร ก่อนที่จะไปถามหรือสัมภาษณ์ใครและให้คนดูเข้าใจเรื่องนี้ เวลาตนลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ก็จะใช้หลักการ 'ใจเขาใจเรา' ตนไม่ค่อยเห็นด้วยกับการไปถามคนที่ญาติเพิ่งเสียชีวิตว่ารู้สึกยังไง
นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างคนที่ตนสัมภาษณ์มา ซึ่งเป็นคนที่เพิ่งได้รับการรักษาจนหายจากโควิด-19 และกลับมาอยู่ที่หอพัก แต่กลับถูกขับไล่ และหลังจากที่ลงบทความไปแล้วนักข่าวหลายสำนักก็สนใจมาทำข่าวต่อ แต่ตนกลับมองว่าหลายกรณี คนที่เป็นข่าวไม่ได้อยากเปิดเผยข้อมูลมากนัก ไม่ใช่ว่าเขาเอาชนะในหลักการได้แล้วจะสามารถอยู่หอพักนั้นได้อย่างปกติสุข แต่เราต้องเข้าใจปัญหา
ดังนั้น คำถามทำให้ตระหนักถึงอะไรมากขึ้น และคนที่เราสัมภาษณ์ก็จะได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดีย เพราะทุกคนมีหัวใจ มีความเจ็บปวด ทุกครั้งที่ตนเขียนงานเสร็จ โดยเฉพาะในช่วงโควิด ตนจะให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ดูก่อนทุกครั้ง เพราะตนไม่สามารถแบกรับคำด่าไว้คนเดียวได้ และทุกครั้งก็จะไม่ได้ลงเนื้อหาทุกอย่างที่น่าสนใจ แต่จะขึ้นอยู่กับความพอดี อีกทั้งการตั้งคำถามก็ไม่จำเป็นต้องคมมาก แต่เราต้องตั้งใจฟังเขา ไม่ต้องไปรู้ดีกว่าเขา เพราะไม่อย่างนั้นเราจะเขียนสิ่งที่ตัวเองคิด ไม่ใช่เขียนในสิ่งที่เขาบอก และสุดท้าย คือ อย่ารับปากคนที่สัมภาษณ์ว่าจะช่วย แต่ช่วยไม่ได้ เพราะบางคนอาจจะรอการกลับมาของคนๆ นั้นเสนอ
นัชชา เล่าถึงประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ผู้ที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า บุคคลดังกล่าวมีประสบการณ์ที่ถูกกระทำจากสังคมภายนอกเยอะมาก เช่น ถูกเพื่อนขอให้ย้ายออกจากที่พัก ถูกสื่อนำเสนอข่าวเกินจริงจนกระทบกับชีวิตของเขา ดังนั้นจึงอยากให้สื่อนำเสนอข่าวที่เป็นความจริง ไม่เน้นอารมณ์เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น
สื่อควรนำเสนอให้คนลดความหวาดกลัว และทำให้เห็นว่าคนที่ถูกกีดกันหลังจากติดโรครู้สึกอย่างไร นอกจากนี้เธอยังเล่าถึงประสบการณ์การทำข่าวคนฆ่าตัวตาย เธอเห็นว่าสื่อและคนในสังคมพยายามเบี่ยงประเด็นการฆ่าตัวตาย เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจเป็นเรื่องของความอ่อนแอ หรือปัญหาส่วนตัวแทน หลายสื่อพยายามสัมภาษณ์คนรอบตัว เช่น แฟน ญาติ โดยมองข้ามภาพวาดและจดหมายลา ก่อนเสียชีวิต ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่มีการชี้แจงมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้
ประเด็นสุดท้ายคือ แรงงานข้ามชาติที่รัฐยังไม่มีความชัดเจนในการให้เงินชดเชยหลังว่างงาน เพราะการทำเอกสารยุ่งยาก และมีเงื่อนไขในการเปลี่ยนงาน ฯลฯ ตนอยากให้สื่อนำเสนอเพราะยังไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้มากนัก ทั้งนี้ตนยืนยันว่าการทำข่าวของตนไม่ได้ทำเพราะความสงสาร แต่คนเหล่านี้มีความเสี่ยงเหมือนคนไทย และหากเขาติดโรคโควิด-19 ก็มีโอกาสเกิดการระบาดไปสู่คนรอบข้างเช่นเดียวกัน
สำหรับช่วงถามตอบ ผู้ฟังยกประเด็นการนำเสนอข่าวที่มีความอ่อนไหวมาถาม
พิณผกา ตอบว่า สื่อจำเป็นต้องบอกผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของข่าวที่ออกไป แม้ว่าแหล่งข่าวพร้อมจะเปิดหน้าให้ข่าว เช่น ประเด็น Poverty Porn การทำข่าวที่เห็นมากช่วงนี้คือการบริจาค มันมีความเป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือจากบนลงล่าง แต่การนำเสนอที่ดีไม่ควรให้มีความเป็นคนใจบุญ หรือทำบุญ แต่มันต้องมองในมุมที่ทุกคนเท่าเทียมกันและเป็นเรื่องของการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ ฝ่าฟันวิกฤตไปด้วยกัน เป็นคนเท่ากัน และการถ่ายทำก็ต้องถ่ายและเลือกภาพที่จะนำเสนอไม่ให้ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือน่าสงสาร
ด้าน ศ.ดร.พิรงรอง ตอบประเด็น Poverty Porn ว่าในมุมของงานเขียนไม่ควรไปเชื่อมโยงกับชาติพันธุ์ สถานที่ กลุ่ม หรือศาสนา ถ้าไม่จำเป็นในด้านสาธารณสุข โดยระบุเพียงเป็นตัวเลขเคส และใช้คำว่ากรณี เพื่อเลี่ยงการระบุกลุ่มและป้องกันการสืบไปถึงตัวบุคคล
ขณะที่ พิณผกา เล่าว่า การจัดการเพจก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นต่อข่าวหรือการแลกเปลี่ยน ถ้าผิดกฎหมายหรือมีการเยียด หรืออคติที่รุนแรงอาจจะต้องลบความเห็น แต่ถ้าเป็นความเห็นเชิงอคติที่ผู้อ่านยังไม่อ่านเนื้อหา แต่แสดงความเห็นจากพาดหัวก็ยังสามารถที่จะชี้แจงและสร้างบรรยากาศในการพูดคุยได้
ในช่วงท้าย พิณผกา ตอบคำถามถึงการทำงานของสื่อว่า การทำงานของสื่อคือการหาคนที่หลุดตะแกรงของรัฐ ที่รัฐยังไม่ได้ดูแล ไม่ใช่หน้าที่ที่จะไปตอบแทนรัฐว่าทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว แต่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐ หรือกลุ่มทุน ไม่ควรไประดมสรรพกำลังในการทำข่าวเชิง Investigative (สืบสวนสอบสวน) ของคนฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอำนาจและเสียชีวิตไปแล้ว แต่ควรตรวจสอบผู้มีอำนาจ