รอยร้าวใน "พรรคพลังประชารัฐ" สั่งสมมาโดยตลอด นับแต่ "นายกรัฐมนตรี" เคาะรายชื่อ "ครม.ประยุทธ์ 1" ในคราวนั้นมีผู้เสียประโยชน์ 4 กลุ่มใหญ่
กลุ่มแรกนำโดย "อนุชา นาคาศัย-สุชาติ ชมกลิ่น" ที่พลาดนั่งตำแหน่งรัฐมนตรี ทำได้เพียงหนุนให้ "สุริยะ" ไม่หลุดตำแหน่งรัฐมนตรีในการคัดชื่อรอบสุดท้าย แต่ถือว่าพ่ายหนัก เพราะไม่ได้ปักหลักที่กระทรวงพลังงานอย่างใจหวัง
กลุ่มสองนำโดย "ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" ที่ไม่ได้หมายมั่นกระทรวงศึกษาธิการแต่แรก หากแต่หวังปักหลักที่กระทรวงพลังงาน
ศึกชิงกระทรวงพลังงาน ระหว่าง "สุริยะ-ณัฏฐพล-สนธิรัตน์" จะจบอย่างไร อีกไม่นานได้รู้กัน ท่ามกลางกระแสข่าว หลุดเพียง "อุตตม-สุวิทย์" แต่ยังมีที่ยืน "สนธิรัตน์" ในคณะรัฐมนตรี สอดรับกับกระแสข่าว "สนธิรัตน์" ใช้กองทุนพลังงาน เป็นเครื่องกุมใจ ส.ส.ให้ยังยืนหยัดเคียงข้าง
กลุ่มที่สามนำโดย "สันติ พร้อมพัฒน์" ว่าที่แม่บ้านพรรคพลังประชารัฐ ที่หวังมากไปกว่า เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เหมือนกระแสข่าวที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ว่า "สันติ" หวังนั่งเป็นรัฐมนตรีคลัง พร้อม "อ.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์-โฆษกรัฐบาล" หวังนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยคลังฯ
กลุ่มที่สี่นำโดย "ตระกูลรัตนเศรษฐ" ที่หวังมากไปกว่าเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งคนในวงการเมืองรู้ดีว่า เป็นเพียงตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เหตุเพราะอำนาจการตัดสินใจทุกอย่าง โดยเฉพาะในด้านงบประมาณอยู่ที่ "ตระกูลชิดชอบ" เป็นหลัก
การจัดวางเก้าอี้ใน "ครม. ประยุทธ์ 1" นั้น เป็นการยอมของ "ประวิตร" ชนิด "เงี่ยหู หรี่ตา" ให้กับ "ประยุทธ์" เพราะมีการรื้อหลายตำแหน่งที่พี่ใหญ่แห่งป่ารอยต่อได้เห็นชอบในโผและรับปากรับคำไว้กับนักการเมือง 4 กลุ่มใหญ่ข้างต้น
เหตุแห่งการเคาะรายชื่อ "ครม.ประยุทธ์ 1" เมื่อปีก่อน นำมาสู่ความขัดแย้งและการรื้อตำแหน่งใหม่ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ-รัฐบาล ในเร็ววันนี้
ถือเป็นการเกลี่ยผลประโยชน์ใหม่ให้ลงตัวยิ่งกว่าเดิม เพื่อตอบโจทย์การเมืองสนามจริง
โจทย์การเมืองสนามจริงที่ "แกนนำพรรค-รัฐมนตรี-ส.ส." ต้องปันท่อน้ำเลี้ยง-เป็นวงจรไหลหล่อเลี้ยง-ตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน อันเป็นบทบาทที่ "อุตตม-สนธิรัตน์" เล่นน้อยเกินไป ในห้วงที่ดำรงอยู่ในอำนาจ และเมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้เล่นบทบาทนี้ ก็ถือว่าสายเสียแล้ว
พรรคประชาธิปัตย์
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แคนดิเดตที่พ่ายแพ้ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์" ต่างแสดงท่าทียอมรับในความพ่ายแพ้ มีน้ำใจนักกีฬา
ดูเหมือนว่า ทุกคนจะยังมุ่งมั่นทำงานต่อไปให้กับพรรค ในบทบาทต่างๆ ตามแต่ที่หัวหน้าพรรค-เครือข่ายผู้กำชัยจะหยิบยื่น ทว่าถึงที่สุดแล้วสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก ในระดับที่แคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรคทั้งหมด ต่างตีจากเมื่อถึงเวลาอันควร และมีที่ยืนใหม่ที่เสมอหน้า-ไม่น้อยหน้าไปกว่า "จุรินทร์"
นับแต่ "จุรินทร์" ขึ้นครองอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์เผชิญกับวิกฤติเลือดสีฟ้าไหล ภาษาข่าวไปไกลถึงขนาดเรียก "สูญเสียคนดี-มีฝีมือ"
เปิดฉากด้วยการลาออกของ "หมอวรงค์-พีระพันธ์ุ" โดยทั้งคู่ยื่นใบลาออกจากพรรคในเวลาไล่เลี่ยกัน และตัดสินใจช่วยผู้มีอำนาจเดินเกมส์ทั้งในสภา-นอกสภา
19 พ.ย. 2562 "วรงค์ เดชกิจวิกรม" ยื่นใบลาออกจากพรรค ให้หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยของลุงกำนัน โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคแบบตลอดชีพ
ผลงานเด่นของวรงค์ คือเดินสายโจมตี "ธนาธร-ปิยบุตร-พรรคอนาคตใหม่" แบบต่อเนื่อง ในฐานะคน "ชังชาติ" ที่เป็นอันตรายและต้องปราบให้เร็วที่สุด
9 ธันวาคม 2562 "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" อีกหนึ่งแคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
ให้หลังการลาออกไม่กี่วัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอขอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ให้ "พีระพันธุ์" ดำรงตำแหน่ง "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"
ระยะต่อมาชื่อเดียวกันนี้ ถูกเสนอให้กุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็น "เงื่อนใหญ่" ที่ช่วยให้รัฐบาลประยุทธ์สืบทอดอำนาจตามสูตร 4 ปี+4 ปี (ไม่นับรวมห้วงรัฐบาล คสช.)
15 มกราคม 2563 "กรณ์ จาติกวณิช" ยื่นใบลาออกจากพรรคเดินสู่เส้นทาง "พรรคกล้า" พร้อมข่าวสะพัดถึงโอกาสนั่งเก้าอี้สำคัญด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล
อดีตแคนดิเดตหัวหน้าพรรคสีฟ้าทั้งหมด มีที่ยืนในบทบาท-ทิศทางต่างๆ ที่สะท้อนการได้รับการยอมรับจากผู้มีอำนาจ ขณะที่วงล้อมของ "จุรินทร์" แคบเข้า
แคบเข้าจนถูกขนานว่าเป็น "รัฐมนตรีหมดสภาพ" อันเป็นผลจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ในโลกออนไลน์พูดกันว่า ทั้งของแพง-ของกักตุน-ของหายาก-ของขาดตลาด ล้วนเป็นผลงานในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์นั่งกุมบังเหียนกระทรวงพาณิชย์ทั้งสิ้น
ให้หลังความพยายามในการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐใกล้สำเร็จ ตามบทที่ผู้มีอำนาจวางไว้ ก็ปรากฎข่าวความพยายามในการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้สูตรเดียวกับ พปชร. คือลาออกครึ่งหนึ่ง จนเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมหมดสภาพ
"จุรินทร์" ปฏิเสธทันที "ประเด็นดังกล่าวมีที่มาจากข่าวทั่วไป หาที่มาไม่ได้ เป็นเพียงแค่ข่าวลือ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น และไม่จำเป็นต้องตรวจสอบที่มาของข่าว เพราะข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามนั้น และในส่วนของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ได้ทำหน้าที่ของตนเองในแต่ละส่วนอย่างเต็มที่ ซึ่งยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง"
แนวคำปฏิเสธเช่นนี้ ทำให้ต้องหวนกลับไปดูท่าทีปฏิเสธของ "อุตตม-สนธิรัตน์" ในช่วงแรก ซึ่งไม่ต่างกันในคำปฏิเสธ แต่ถึงที่สุดก็ปรากฎการเปลี่ยนตำแหน่งจริงในต้นเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้
สมบัติผลัดกันชม
"ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส่งสัญญาณแล้วว่า จะมีการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐในวันที่ 3 ก.ค. ต้นเดือนหน้า
ในวันเดียวกันนั้น มีแนวโน้มอย่างสูงที่จะได้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ คือ "ประวิตร" ในตำแหน่ง "หัวหน้าพรรค" และ "สันติ" ในตำแหน่ง "เลขาธิการพรรค" ทั้งอาจไม่ปรากฎชื่อ '4 กุมาร' ในรายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
เมื่อปรับตำแหน่งในพรรคจบแล้ว ย่อมส่งผลต่อการเขย่า ครม. เป็นลำดับต่อมา
ฟาก "ภูมิใจไทย" มีแต่จะต้องได้เพิ่ม ไม่มีลดไปกว่านี้ เป็นผลจากการได้ ส.ส.สีส้มมาประดับบารมี จนทำให้มีเก้าอี้ ส.ส. เป็นจำนวนรวม 61 ที่นั่ง มากเป็นลำดับ 2 ในรัฐบาล
เก้าอี้เพิ่มเติมที่พึงได้ อาจมาจากที่ปันส่วนออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ทว่าอาจต้องปรับรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ ให้บัญชีรายชื่ออื่นในพรรคได้ลิ้มรสเก้าอี้เสนาบดี
"ประชาธิปัตย์" ทั้งต้องสละบางกระทรวง บางตำแหน่ง และต้องรื้อรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ โดยเฉพาะในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์-กระทรวงคมนาคม-กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งชื่อ "ทรงศักดิ์-วีรศักดิ์-กนกวรรณ" แห่งภูมิใจไทยก็ดี
ทั้งชื่อ "จุติ-ถาวร-สาธิต" แห่งประชาธิปัตย์ก็ดี
เป็นชื่ออันสุ่มเสียงยิ่งในการปรับ ครม. รอบนี้ อันเป็นผลทั้งจาก ไร้ผลงานเด่นชัด-จำต้องปันเก้าอี้ ส่งสมบัติผลัดกันชมให้ถ้วนทั่ว
ในส่วน "พลังประชารัฐ" เมื่อจัดทัพใหม่ในพรรคจบแล้ว ก็จะมาพร้อมกับการจัดทัพใหม่ในคณะรัฐมนตรี ซึ่ง 4 กลุ่มข้างต้น มีแนวโน้มสูงที่จะได้อยู่ในกระทรวงที่ปรารถนามาแต่เมื่อคราวจัด "ครม.ประยุทธ์ 1"
แม้นายกรัฐมนตรี จะหย่าศึกด้วยการสั่งหยุดการยกทัพรบราของทุกขั้วการเมือง ทว่ายี่ห้อ 3 ป. การจัดวางได้ดำเนินไปแล้ว เหมือนที่ "ประวิตร" ปฏิบัติการเงียบๆ จนจะก้าวสู่ตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญในเร็ววันนี้
ทั้งหมดนี้ เป็นธรรมดาของการส่งสมบัติผลัดกันชม เพื่อปรับสมดุลอำนาจให้อยู่ยาวตามโครงการทางการเมืองที่ได้วางไว้มาเป็นลำดับ.
อ่านเพิ่มเติม