ไม่พบผลการค้นหา
นักเรียนทั่วประเทศนัดแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการด้วยการชูสามนิ้ว และผูกโบว์สีขาว พร้อมมีรายงานว่าพบเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตการณ์ภายในโรงเรียน และผู้สอนบางโรงเรียนไม่เห็นด้วยกับการแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว

นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาหลายโรงเรียนทั่วประเทศร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านระบอบเผด็จการ ด้วยการชูสามนิ้วระหว่างการร้องเพลงชาติหน้าเสาธง และผูกโบว์สีขาวเพื่อเป็นการแสดงออกร่วมกัน


โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกรายงานผ่านสังคมทวิตเตอร์ในแฮชแท็ก #โรงเรียนหน้าเขาไม่เอาเผด็จการ และ #upfact มีการทวีตภาพกิจกรรมนักเรียนที่ชูสามนิ้วระหว่างการเข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้า พร้อมๆ กับมีรายการว่าพบการคุกคามของบรรดาเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ครู อาจารย์ในโรงเรียนเองที่ขัดขวางไม่ให้เด็กนักเรียนทำกิจกรรมที่นัดกันไว้นี้ 


โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นมีรถตำรวจเข้าไปจอดภายในบริเวณโรงเรียน และยึดโบว์ขาวของนักเรียนไปด้วย ทำให้ชาวทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่หรือครูเองสามารถยึดสิ่งของที่เป็นของนักเรียนไปโดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ ได้หรือไม่


ด้านเพจภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย - Associate of student in Thailand โพสต์ข้อความว่า ถ้ามีนักเรียนที่ชูสามนิ้ว และผูกโบว์ขาว แล้วถูกเรียกเข้าห้องปกครอง หรือมีการลงโทษ ข่มขู่ให้แจ้งกับทางภาคีฯ ได้ตลอดเวลา 

ทั้งนี้จากรายงานของ iLaw เรื่อง 'สรุปการคุกคามเยาวชน-แกนนำจัดชุมนุม ก.ค.- ส.ค.63' บอกว่า ตั้งแต่ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. – 14 ส.ค. 2563 เท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้ พบการคุกคามผู้จัด-ผู้ร่วมกิจกรรมการชุมนุมทั้งหมด 79 ครั้ง เป็นกรณีเปิดเผยได้ตามรายงานฉบับนี้ 63 ครั้ง และเป็นกรณีที่เจ้าตัวไม่ขอเปิดเผยเพราะเกรงผลกระทบอีก 16 ครั้ง 

ทั้งนี้ นิยามของ 'การคุกคาม' คือ การกระทำนอกเหนือจากกระบวนการดำเนินคดี ไม่ใช่แจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายใดๆ แต่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นทางการซึ่งมีผลสร้างความหวาดกลัวหรือความกังวลใจให้แก่ประชาชนที่ต้องการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

การคุกคามโดยการไปพูดคุยที่บ้าน สถานศึกษา มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความกลัวหรือกังวลในการจัดหรือร่วมการชุมนุม การดำเนินการเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งจากเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน/มหาวิทยาลัย และครูอาจารย์ ซึ่งส่งผลให้เยาวชนหลายคนถูกสั่งห้ามร่วมกิจกรรมโดยเด็ดขาดจากผู้ปกครอง

จากการเก็บข้อมูลพบว่า แกนนำจัดชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านหลายกรณี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนจัดการชุมนุม เช่นใน จ.ลำพูน, เพชรบูรณ์, แพร่, เลย, พัทลุง, นครศรีธรรมราช, ปัตตานี, สมุทรปราการ, กาญจนบุรี, นนทบุรี, สงขลา, ขอนแก่น, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, กระบี่, กรุงเทพมหานคร ฯลฯ 

กรณีบทบาทของโรงเรียนนั้นพบว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูเรียกพบนักเรียนที่เป็นแกนนำจำนวน 4 ครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อห้ามปรามการชุมนุม บ้างเป็นการขอความร่วมมือ บ้างเป็นการข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษ กระทั่งจะไม่ได้รับใบประกาศจบการศึกษา 

อย่างไรก็ดี การชุมนุมโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงจัดขึ้นตามกำหนดการ มีเพียงไม่กี่กรณีที่ยุติการจัดการชุมนุม เช่น กรณีโรงเรียนสตรีวิทยา2 ที่นักเรียนที่จะจัดกิจกรรมถูกผู้อำนวยการเรียกพบในวันที่นัดจัดกิจกรรม และในโรงเรียนมีรถตำรวจจาก สน.โชคชัย มาจอดหลายคันพร้อมทั้งบันทึกภาพนักเรียนไปด้วย จนสุดท้ายแกนนำนักเรียนจึงยกเลิกการจัดกิจกรรมที่นัดหมายไว้ กรณีโรงเรียนหอวัง กลุ่มนักเรียนผู้จัดกิจกรรมถูกผู้อำนวยการเรียกพบหลังประกาศจัดกิจกรรม 1 วัน โดยในการพูดคุยมีคุณครูกว่า 10 คน รวมถึงตำรวจจาก สน.พหลโยธินเข้าร่วมพูดคุยด้วย 2 คน โดยพยายามสร้างเงื่อนไขในการจัดงาน และการห้ามใช้ชื่อโรงเรียน จนสุดท้ายกลุ่มนักเรียนผู้จัดกิจกรรมจึงยกเลิกการจัดกิจกรรมไป