ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมรัฐสภาถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วาระ 2 กมธ.เสียงข้างมากแพ้โหวต ม.9 ต้องยึดเนื้อหาของ กมธ.เสียงข้างน้อย - ส.ว.ลักไก่ชงนับคะแนนใหม่ เจอประท้วงวุ่น ก่อนประธานสั่งพักประชุม - 'ชวน' หนุนข้อเสนอกฤษฎีกาขอแก้เนื้อหาก่อน พร้อมสั่งเลื่อนประชุม

วันที่ 18 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ...." ในวาระที่สอง ซึ่งเป็นการพิจารณาเรียงลำดับเป็นรายมาตรา หลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 

เวลาประมาณ 18.30 น. การประชุมได้ดำเนินมาถึงมาตรา 9 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียงให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย

โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็นมาตรา 9 โดยเสนอให้ ขยายขอบเขตการขอจัดทำประชามติ โดยให้สามารถทำได้ให้ 5 กรณี 1.การออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2.เมื่อคณะรัฐมนตรี มีเหตุอันเห็นว่าสมควร 3.ตามที่กฎหมายกำหนดว่าให้ต้องออกเสียง 4.ออกเสียงตามที่รัฐสภาเห็นว่าสมควร 5.กรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอ ครม.ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

โดยผลการลงมติในมาตรา 9 ที่ประชุมมีมติ 273 ต่อ 267 งดออกเสียง 1 เห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนความ ซึ่งถือว่า กมธ.เสียงข้างมากแพ้โหวตในรัฐสภา

ชูศักดิ์ ประชามติ รัฐสภา E05-8BBF-EE5E69A4FA4B.jpeg

ทำให้ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานที่ประชุม สั่งให้พิจารณาในมาตรา 10 และขอให้ กมธ.เสียงข้างน้อยพิจารณาว่าจะต้องการให้เพิ่มข้อความอย่างไร

ขณะที่ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ. แจ้งว่า เนื่องจากมาตรา 9 มีความเชื่อมโยงกับมาตรา 10 และ 11 จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่ ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่มีการแก้ไขเพราะ กมธ.ไม่ได้พิจารณาข้อสงวนในมาตรา 10 และ 11 เอาไว้ด้วย จึงเสนอให้พักการประชุมก่อน

ส.ว.ชงนับคะแนนใหม่แพ้ไม่เกิน 30 แต้ม เจอโห่ใ่ส่ ก่อนประธานสั่งพักประชุม

จากนั้น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ที่ประธานพูดนั้น สมาชิกหลายคนฟังไม่ทัน จึงไม่ทราบว่าได้พูดอะไร จึงเสนอให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 58 เพื่อให้นับคะแนนใหม่ในกรณีคะแนเสียงมีความต่างกันไม่เกิน 30 คะแนน และให้เปลี่ยนการลงคะแนนเป็นการออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ตาม ข้อ 56 (2) 

เป็นผลให้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่มาตรา 10 แล้ว จะกลับไปลงมติใหม่ไม่ได้ เพราะถือว่าผ่านไปแล้ว ถ้าอย่างนั้น ตนจะขอให้นับคะแนนตั้งแต่มาตรา 1 ใหม่ ก็ได้ใช่หรือไม่ แล้วรัฐสภาจะเดินไปอย่างไร

"เมื่อมีมติเห็นชอบในมาตรา 9 เราสามารถเดินต่อเพื่อเห็นชอบตามคำสงวนความเห็นของชูศักดิ์ ศิรินิล ต่อไปได้เลย เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน" จุลพันธ์ ระบุ

ระหว่างนั้น นพ.เจตน์ลุกขึ้นกล่าวว่า "ผมยืนยันว่ายังไม่เข้าสู่มาตรา 10 สามารถนับคะแนนใหม่ได้" ทำให้มีเสียงโห่ไปทั่วห้องประชุม ทำให้ พรเพชรได้สั่งพักการประชุม 10 นาที

ประชุมรัฐสภา สุรชัย สมาชิกวุฒิสภา ประชามติ 141D1.jpeg

ทั้งนี้ การประชุมกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง หลังสั่งพักการประชุมเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง โดย สุรชัย แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลักการมาตรา 9 ตามร่างเดิมของ กมธ.ที่เสนอนั้น ได้เดินตามหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยการทำประชามติเรื่องอื่นๆ กมธ.เสียงข้างมากเห็นว่าใช้ช่องทางมาตรา 166 เสนอ ครม. แต่เมื่อที่ประชุมเห็นควรให้เพิ่มเติมรายละเอียดตามร่างที่ ชูศักดิ์ เสนอ 

สุรชัย ระบุว่า เมื่อ กมธ.ได้ตรวจสอบรายละเอียดแล้ว พบว่ามีผลกระทบต่อร่างเดิมที่เสนอไว้อย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 10 มาตรา 11 ซึ่งสองมาตรานี้จะพูดถึงวิธีการทำประชามติแต่ละกรณี และเชื่อมโยงหมวด 2 การให้ข้อมูลและจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ อีกทั้งต้องปรับมาตรา 14 และมาตรา 15 ด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าต้องรับเรื่องนี้กลับไปทบทวนการยกร่างก่อน ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จขณะนี้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะละเอียดรอบคอบ และต้องตรวจสอบหมวดอื่นว่ามีผลกระทบมาตราอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะหมวดความผิดและบทลงโทษ จึงขอท่านประธานพิจารณาสามารถจะเลื่อนการประชุมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปพิจารณาในการประชุมครั้งหน้าได้หรือไม่ 

'ชวน' ตกลงตามข้อเสนอกฤษฎีกาให้เลื่อนประชุมกลับไปแก้เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ก่อน

โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่าเลื่อนประชุมได้ แต่ พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมรัฐสภาได้ประกาศใช้แล้วในวันที่ 19 มี.ค. ดังนั้น ต้องรอเดือน พ.ค.นี้ หรือจะขอให้มี พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมรัฐสภาวิสามัญอีกครั้ง ซึ่งต้องค่อยหารืออีกครั้งหนึ่ง หากเลื่อนการพิจารณานั้น เรื่องจะค้างอยู่ โดยความเหมาะสมนั้นหากเลื่อนแล้วก็ควรต้องเลื่อน ตนจึงขออนุญาตให้เลื่อนการประชุมในครั้งต่อไป และหวังว่าสมาชิกจะไม่ขัดข้อง 

ภายหลังประธานรัฐสภาได้เปิดให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลื่อนการพิจารณา เมื่อสมาชิกรัฐสภาได้แสดงความเห็นแล้ว เวลา 19.55 น. ประธานรัฐสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมขอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พร้อมให้เลขาธิการรัฐสภา อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตรา พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2564 ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2564 และประธานรัฐสภาได้ปิดการประชุมทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง