การผัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่ย่อมเคยประสบ แต่กับคนบางคนก็อาจเลื่อนสิ่งที่จำเป็นต้องทำออกไปบ่อยเสียจนทำให้ตัวเอง และคนอื่นๆ เดือดร้อนได้ ยิ่งคนที่กำหนดเส้นตายด้วยตัวเองยิ่งแล้วใหญ่ เพราะสามารถลักไก่เลื่อนเส้นตายออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด
เมื่อการผัดวันประกันพรุ่งกลายเป็นนิสัยเสียที่กระทบถึงชีวิต เราจึงต้องสบตากับปัญหา และทำความเข้าใจเจ้านิสัยไม่น่ารักในตัวเรา
ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟอร์รารี (Joseph Ferrari) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดอพอล (DePaul University) จำแนกประเภทของผู้เป็นโรคเลื่อนออกเป็น 3 กลุ่ม โดยแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
ผู้แสวงหาความตื่นเต้น (Thrill Seeker) เชื่อว่าตัวเองสามารถทำงานได้ดีขึ้นภายใต้แรงกดดัน จึงรอจนนาทีสุดท้ายค่อยลงมือทำสิ่งที่ต้องทำ แต่ศาสตราจารย์เฟอร์รารีอธิบายว่าจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้แค่เสพติดความตื่นเต้นจากการทำงานแบบเฉียดฉิว
นักเลี่ยง (Avoider) เป็นกลุ่มที่ผัดวันประกันพรุ่งเพราะความกลัว คนกลุ่มนี้จะเลื่อนเส้นตายออกไปเรื่อยๆ เพราะกลัวการถูกตัดสิน กลัวว่าสิ่งที่ทำจะล้มเหลว รวมถึงคนที่อาจจะกลัวความสำเร็จซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และความคาดหวังจากคนอื่นที่มากขึ้นด้วย
จอมลังเล (Indecisive) โรคเลื่อนของคนประเภทนี้ มีสาเหตุมาจากความลังเล ตัดสินใจไม่ได้ จึงเลื่อนสิ่งที่ต้องทำออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถูกบีบให้เลือกสักทางจะได้ไม่ต้องตัดสินใจเอง
การแบ่งนิสัยผัดวันประกันพรุ่งออกเป็นแบบนี้สะท้อนว่าอารมณ์ของคนเราส่งผลต่อนิสัยชอบเลื่อนไม่น้อย แนวทางการศึกษาพฤติกรรมนี้ก็มักเป็นไปในทางเดียวกัน คือพยายามชี้ชัดว่า นิสัยผัดวันประกันพรุ่งเป็นปัญหาด้านการจัดการอารมณ์ ไม่ใช่เพราะบริหารเวลาไม่ดี
สำหรับใครที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งบ่อยเสียจนตัวเองยังสังเกตได้ ก็คงเคยพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองกันบ้างแล้วด้วยการกำหนดเดดไลน์ หรือเส้นตายในการทำงานของตัวเองล่วงหน้าก่อนวันส่งงานจริงๆ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า วิธีนี้อาจไม่ได้ผลดีดังหวัง
ในปี 2002 แดน อาเรียลี (Dan Ariely) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) และ เคลาส์ แวร์เทินบร็อค (Klaus Wertenbroch) ศาสตราจารย์ด้านการตลาดจากสถาบันอินเซียด (INSEAD) ได้ทำการทดลองทางสังคมด้วยการจ้างนักศึกษา 60 คนให้ทำงานพิสูจน์อักษร ตรวจทานหาจุดผิดพลาดในงานเขียนสามชิ้น โดยแบ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมการทดลองออกเป็นสามกลุ่ม
กลุ่มแรกจะถูกกำหนดเส้นตายไว้ให้ส่งงานที่ตรวจทานแล้วสัปดาห์ละชิ้น กลุ่มที่สองจะมีเส้นตายเดียวให้ส่งงานทั้งสามชิ้นพร้อมกันทีเดียว และกลุ่มที่สามให้เลือกกำหนดวันส่งด้วยตัวเอง โดยผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับค่าจ้าง 10 เซนต์ ต่อข้อบกพร่องหนึ่งจุดที่พบในงานเขียน แต่จะถูกหักค่าจ้างไปทุกวันที่ส่งงานสาย วันละหนึ่งดอลลาร์ (100 เซนต์ เท่ากับ 1 ดอลลาร์)
ผลปรากฏว่า ทั้งที่มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการหักค่าแรง แต่กลุ่มที่กำหนดเดดไลน์ให้ตัวเองกลับทำผลงานได้แย่กว่ากลุ่มแรกที่ถูกกำหนดให้ส่งงานเป็นรายสัปดาห์ ทั้งในแง่ของการตรวจแก้จุดที่ผิด การส่งงานตรงเวลา และจำนวนค่าจ้างที่ได้รับ แม้ว่าโดยรวมจะทำผลงานได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง ซึ่งถูกกำหนดให้ส่งงานทั้งหมดพร้อมกันก็ตาม
ผู้วิจัยทั้งสองสรุปไว้ว่า แม้การกำหนดเส้นตายด้วยตัวเองจะฟังดูเป็นแผนที่สมเหตุสมผลในการรับมือกับการผัดวันประกันพรุ่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพเท่ากับเส้นตายบางแบบที่ถูกกำหนดโดยคนอื่น หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ
ทิโมธี ไพชิล (Timothy Pychyl) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) อธิบายว่า คนขี้เลื่อนมักต้องการเส้นตาย เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองทำงาน แต่เมื่อเราเป็นผู้กำหนดเส้นตายด้วยตัวเอง เรามีอำนาจจะเลื่อนมันออกไปเรื่อยๆ จึงนับว่าเป็นแรงจูงใจที่ไม่เป็นรูปธรรมพอ
นี่จึงเป็นเส้นแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างคนที่มีปัญหาด้านการบริหารเวลากับคนที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง เพราะหากแค่บริหารเวลาไม่ดี เส้นตายที่กำหนดขึ้นมาเองล่วงหน้านั้นก็ควรจะช่วยแก้ปัญหาได้แล้วแท้ๆ ศาสตราจารย์ไพชิล และทีมวิจัยจึงเชื่อว่า ความล้มเหลวในการจัดการอารมณ์เป็นบ่อเกิดของการผัดวันประกันพรุ่ง
คนกลุ่มนี้มักจะเลื่อนเวลาที่ต้องทำงานออกไป เพราะรู้สึกว่า ยังไม่อยากทำ แล้วทึกทักเอาว่า เดี๋ยวสักพักก็คงจะมีอารมณ์ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงก็ยังคงรู้สึกไม่อยากทำเหมือนเดิม สิ่งที่ต่างไปคือเวลาที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ
สำหรับทางออกของปัญหานั้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ต้องมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่มีเทคนิคอะไรจะช่วยได้หากเราไม่มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ศาสตราจารย์ไพชิลแนะนำว่า ให้เปลี่ยนเป้าหมายกว้างๆ คลุมเครือให้ชัดเจนจับต้องได้ เช่น แทนที่จะบอกว่า "จะทำงานนั้นให้เสร็จเสาร์อาทิตย์นี้" ให้บอกว่า "เดี๋ยวเช้าวันเสาร์กินข้าวเสร็จจะเริ่มทำส่วนแรกของงานนั้นเลย"
นอกจากนี้ เนื่องจากปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งเป็นปัญหาเรื่องการจัดการอารมณ์มากกว่าการจัดการเวลา เราจึงต้องคอยตระหนักว่า การผัดวันประกันพรุ่งนั้นประกอบจากอารมณ์ความรู้สึกอะไรบ้าง อย่ายอมให้ความรู้สึกโล่งใจจากการเลี่ยงภาระมาครอบงำ รวมถึงยอมรับว่าเราไม่จำเป็นต้องอยากจะทำงานตรงหน้าก่อนค่อยลงมือ ความคืบหน้า หรือความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ จะจุดประกายให้เรามีแรงทำงานนั้นต่อไปเอง แต่ที่สำคัญคือต้องเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง และเลือกที่จะเริ่มลงมือทำเสียก่อน
อ้างอิง: