ไม่พบผลการค้นหา
ทางการอินเดียออกมาระบุว่า กองทัพของตนได้ปะทะกันกับกองทัพของจีนในพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนระหว่างทั้งสองชาติ นับเป็นความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ผ่านมา หลังจากที่ทั้งคู่พยายามลดระดับความตึงเครียดลง สืบเนื่องจากการปะทะกันอย่างดุเดือดในช่วงปี 2563 จนทำให้มีกองกำลังเสียชีวิตกว่า 24 นาย

อย่างไรก็ดี ในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) กองทัพของอินเดียระบุว่า การปะทะกันกับกองทัพจีนเกิดขึ้นบริเวณเขตตาวังของรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนปลายของอินเดียในพื้นที่ทางตะวันออก เมื่อช่วงปลายวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ธ.ค.) โดยทั้งสองฝั่งมีกองกำลังของตนที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม ทางการจีนไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อการปะทะกันในครั้งนี้ แต่สำนักข่าว Reuters รายงานว่า แหล่งข่าวของกองทัพอินเดียระบุว่า มีกองกำลังของอินเดียอย่างน้อย 6 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 

ทั้งนี้ กองทัพของอินเดียระบุในแถลงการณ์ว่า “ทั้งสองฝ่ายถอนกำลังออกนอกพื้นที่โดยทันที” เมื่อเกิดการปะทะขึ้น ก่อนที่แถลงการณ์จะระบุเสริมว่า ผู้บัญชาการของทั้งสองฝ่ายได้จัดการหารือกันโดยด่วน หลังจากเกิดการปะทะขึ้น “เพื่อรื้อฟื้นสันติภาพและความสงบสุข”

ปัจจุบันนี้ จีนและอินเดียมีพื้นที่พิพาทร่วมกันยาวกว่า 3,440 กิโลเมตรตามแนวชายแดนเชิงพฤตินัย ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “เส้นควบคุมแท้จริง” (LAC) ซึ่งมีการแบ่งเส้นกั้นเขตไม่ดีมากนัก เนื่องจากเส้นเขตแดนดังกล่าวพาดผ่านแม่น้ำ ทะเลสาบ และหิมะ ซึ่งทำให้เส้นพรมแดนเปลี่ยนแปลงไปได้ตามธรรมชาติ โดยทั้งจีนและอินเดียซึ่งมีกองทัพใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ต่างเผชิญหน้ากันในหลายจุดตามแนวพรมแดนดังกล่าว

ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองชาติในบางครั้งก่อตัวจนกลายไปเป็นการรบพุ่งกัน อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายพยายามลดความตึงเครียดของสถานการณ์ลง นับตั้งแต่การสู้รับกันครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 ในหุบเขากาลวาน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดักห์ ที่ห่างไกลออกมาจากทางตะวันตกของอินเดีย โดยในเหตุการรบในครั้งนั้น มีรายงานทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย และทหารจีนเสียชีวิตอีก 4 นาย นับเป็นการเผชิญหน้ากับครั้งร้ายแรงที่สุดของทั้งสองชาติในพื้นที่ดังกล่าวในรอบ 45 ปี

ทั้งสองชาติยังมีการเผชิญหน้ากันอีกครั้งในเดือน ม.ค. 2564 ส่งผลให้กองกำลังทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนระหว่างจีนกับรัฐสิกขิมของอินเดีย ซึ่งคั่นกลางระหว่างภูฏานและเนปาล โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศตกลงที่จะถอนกำลังจากพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนทางตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเริ่มถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ในตอนนี้


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-63953400?fbclid=IwAR3SQUDFZT1qaZleE5hoVkyLFVELjkDcfauUi7nBCFkRKDlWPRBtuJbuyz8