นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ส่งผลทำให้รถบนถนนน้อยลง ทำให้คนขับรถใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าแม้สถิติอุบัติเหตุลดลง แต่ความรุนแรงกลับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลจาก บ.กลางคุ้มครองประกันภัยจากรถ ยังพบด้วยว่า การใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด แนวโน้มไม่ลดลงตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประสบเหตุมีโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้น มาตรการเฝ้าระวังอุบัติเหตุยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะเมื่อเกิดเหตุผู้บาดเจ็บต้องเข้าห้องฉุกเฉิน นอกจากเพิ่มภาระให้ทีมแพทย์และบุคลากรแล้ว ขณะเดียวกันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับเคสที่เกิดขึ้นใน จ.ชลบุรี อันมีสาเหตุมาจากคนไข้ไม่ให้ข้อมูล
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด โรคโควิด-19 ในขณะนี้ ประกอบกับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ น่าจะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนในปีนี้ลดลงประมาณ 10% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก โดยหากเทียบกับในภาวะปกตินั้น จากการทำงานในศตวรรษด้านความปลอดภัยทางถนน ระหว่างปี 2554-2563 การจะลดสัดส่วนคนตายลงได้ขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สำเร็จได้ภายในปีเดียว อย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไป
ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการโครงการแผนงานความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลไทย ด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าวถึงผลพวงจากมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ซึ่งทำให้ตัวเลขบาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ 2563 ลดมากกว่าครึ่ง ระบุว่า ที่จริงช่วงวันสงกรานต์ 13-15 เมษายน ของทุกปี เป็นเวลาแห่งความกังวล ของคนทำงานด้านความปลอดภัยทางถนน ต้องลุ้นระทึกถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตบนถนน ทั้งช่วงก่อนหน้าและหลังสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันเดินทางไปกลับภูมิลำเนา รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละครอบครัว ยกเว้นปีนี้ที่คนทั้งโลกและคนไทยเอง ต้องทุลักทุเลอยู่กับการป้องกันตัวเอง จากโรคระบาดของโควิด-19 ด้วยเหตุนี้เองทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้านเพื่อชาติ และปรับรูปแบบการใช้ชีวิตผ่านระบบออนไลน์
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการหาข้อมูลเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่าง “โควิด-19” กับ “ความปลอดภัยทางถนน” ปรากฏบทความ Dr. Soames Job ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนของธนาคารโลก เขียนถึงความน่ากลัวจากการเสียชีวิตเพราะโควิด-19 เทียบกับการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากการโดนรถชน ไว้อย่างน่าสนใจ สามารถสรุปเป็นบทเรียนและนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อบริหารจัดการและลดอุบัติเหตุทางถนนในบ้านเรา เขาบอกว่า มาตรการ “กักตัว” ช่วยให้อุบัติเหตุลดลง แต่ความปลอดภัยทางถนนยังถูกมองข้าม ยกตัวอย่างกรณีมีคำสั่งห้ามผู้คนออกจากเคหสถาน ผลพลอยได้ทำให้รถบนถนนน้อยลง จำนวนอุบัติเหตุ บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตลดลงตามไปด้วย
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นปัจจัยแทรกเข้ามา ในวงความปลอดภัยทางถนนอย่างชัดเจน แต่เรื่องความปลอดภัยทางถนนก็ยังถูกมองข้าม เพราะคนในแวดวงระบบขนส่งเอง ยังมองเป็นเรื่องแคบๆ กลับไปสนใจประเด็นลดการปล่อยมลพิษ หรือค่า PM 2.5 ทั้งที่ควรใช้โอกาสนี้ ปรับปรุงเส้นทางและระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย มีความเป็นไปได้ที่หลังการแพร่ระบาดหมดไป คนอาจเรียนและทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลทำให้รูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไป การใช้ขนส่งสาธารณะอาจลดลง หากไม่มีนโยบายเข้ามาแทรกแซง เพราะคนจะหันไปใช้รถส่วนตัวกันมากขึ้น เนื่องจากถนนโล่งรถไม่ติด ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมความเร็ว และอาจต้องออกแบบถนนให้เล็กลง ให้พอเหมาะกับยวดยาน เพื่อบังคับให้ขับขี่ด้วยความปลอดภัย
“การตอบสนองต่อโควิด-19 เราสามารถเรียนรู้แล้วประยุกต์ใช้กับความปลอดภัยทางถนนได้ ภายใต้การบริหารจัดการประกาศล็อกดาวน์ที่เกิดมากขึ้น ช่วยลดการหลบหลีกการตรวจวัดผู้ติดเชื้อ และขยายวงไปสู่ระงับการรวมตัวคนในสังคม ผ่านการประกาศต่อสาธารณะอย่างทั่วถึงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สิ่งเหล่านี้สามารถเอาไปปรับใช้กับการรณรงค์ลดการชนบนถนนได้ ผลงานวิจัยด้านการสื่อสารและบังคับใช้กฎหมายชี้ชัดว่า การทำแบบนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่พฤติกรรม เพราะได้แรงกดดันทางสังคมมาช่วยด้วย เท่ากับมาส่งเสริมบรรทัดฐานทางสังคม หากเราบอกว่าคนที่ฝ่าฝืนการล็อกดาวน์ คือผู้ที่ทำให้เกิดเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ก็ไม่ต่างกับคนขับรถเร็วที่เพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดอุบัติเหตุเหตุให้กับผู้ร่วมถนน” นพ.วิวัฒน์ กล่าว
นพ.วิวัฒน์ ย้ำว่า การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย จำเป็นต้องยกให้เป็นมิติสำคัญทางการเมือง เช่นเดียวกับการสื่อสารและบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมาประเด็นความปลอดภัยทางถนน เป็นเรื่องที่ภาคการเมืองไม่ค่อยให้ความสำคัญ การหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน เป็นประเด็นชายขอบที่ไม่มีใครสนใจ เราจึงจำเป็นต้องรวมกันผลักดันผู้บริหารประเทศ และนักการเมืองให้รับผิดชอบความตายของเหยื่อบนถนน แทนที่จะมากล่าวโทษปัจเจกบุคคล
นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ค่าใช้จ่ายต่อโรคระบาดและมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการปิดเมืองที่สูงมาก ทำให้เกิดเป็นกระแสการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญและแรงหนุนของโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้ต่างกันเลยกับค่าใช้จ่ายมูลค่าการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จากการเพิ่มความเร็วในการขับขี่