ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก ศบค. แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ประจำวัน 13 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ยืนยันยังไม่มีประกาศปลดล็อกเคอร์ฟิว เผยระหว่าง 23-24 เม.ย. มีคนไทยจากต่างประเทศ 401 คน พร้อมนำเข้าสถานที่กักตัว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศประจำวันที่ 23 เม.ย.2563 ว่าพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 13 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,839 คน จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 2,430 คน กลับบ้านเพิ่มขึ้นอีก 78 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 50 คน โดยปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ใน รพ.อีก 359 คน

ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงไทยวัย 78 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เข้ารักษาตัวที่ รพ.ในกทม.เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ ต่อมาวันที่ 24 มี.ค.พบว่ามีไข้และปอดบวม จึงส่งตรวจหาเชื้อพบว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.จากนั้น อาการแย่ลงจนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 21 เม.ย.จากการติดเชื้อในกระแสเลือด และระบบหายใจล้มเหลว

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น 13 รายวันนี้ กลุ่มแรก 10 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวัง มาจากผู้ที่มีประวัติสัมผัสยืนยันกับผู้ป่วยรายเดิม หรือเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า, เป็นผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว ผู้มีอาชีพเสี่ยง และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

ส่วนอีกกลุ่ม 3 คน มาจากการค้นหาเชิงรุก (Active case finding) ที่ จ.ภูเก็ต

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่าผู้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยในระหว่างวันที่ 23-24 เม.ย. มีจำนวน 401 คน ประกอบด้วย วันที่ 23 เม.ย. มีคนไทยที่เป็นนักท่องเที่ยวตกค้าง, นักเรียนและนักศึกษาเดินทางกลับจากประเทศตุรกี 55 คน และเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย 144 คน ส่วนวันที่ 24 เม.ย. จะมีคนไทยตกค้างเดินทางกลับจากญี่ปุ่น 31 คน และเป็นพระภิกษุ-แม่ชี-ผู้ปฏิบัติธรรมจะเดินทางกลับจากอินเดียอีก 171 คน ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อถึงประเทศไทยจะต้องเข้าสู่สถานที่กักกันตัวของรัฐ (State Quarantine)

ปิดด่านสะเดา 7 วัน หลังพบ จนท.ตรวจคนเข้าเมืองติดเชื้อ กักตัวคนใกล้ชิด 143 คน

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสะเดา จ.สงขลาว่า มีรายงานพบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสะเดาติดเชื้อดังกล่าว ส่งผลให้ต้องมีการกักตัวและสังเกตอาการกับผู้ที่ทำงานใกล้ชิดที่มีทั้งความเสี่ยงต่ำ และความเสี่ยงสูงรวมทั้งหมด 143 คน ทำให้กระทบต่อการปฏิบัติงานของด่านสะเดาในการดูแลผู้เดินทางระหว่างด่านดังกล่าวกับประเทศมาเลเซีย ล่าสุดต้องปิดด่านสะเดา 7 วันเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ จึงขอให้ในระหว่างนี้ประชาชนไปใช้บริการที่ด่านปาดังเบซาร์แทนชั่วคราวไปก่อน

"จากที่มีเจ้าหน้าที่ ตม.ติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องมีการกักตัวผู้ที่ใกล้ชิดรวม 143 คน ตอนนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค โดยศูนย์ควบคุมโรคจะร่วมกับทางจังหวัดไปหาต้นตอ และหาทางป้องกันควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายโรค...ตอนนี้ต้องปิดด่านสะเดาไปก่อน 7 วัน เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อเปิดให้บริการแล้ว จะมีกระบวนการที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

พร้อมระบุว่า มีรายงานว่ายังมีผู้ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะกลับเข้ามายังประเทศไทยผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซียอีกหลายพันคน ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือว่าหากท่านใดที่ยังไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีเหตุเร่งด่วนให้กลับเข้ามาในไทย ก็ขอให้อยู่ที่ประเทศมาเลเซียไปก่อน หากไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการดำรงชีพให้ติดต่อไปยังสถานกงสุลไทยประจำประเทศมาเลเซีย เพื่อจะได้นำถุงยังชีพหรือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตไปมอบให้ เนื่องจากศักยภาพของ State Quarantine ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรองรับได้เพียง 350 คน/วันเท่านั้น


ห่วงเชื้อระบาดระลอกสอง หลังพบบางส่วนกลับใช้ชีวิตปกติ

สำหรับแนวทางการรับมือของ ศบค. หากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองในประเทศ หลังจากที่ประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกตินั้น นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงในส่วนนี้ เพราะหลายคนอาจเห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในระยะหลังลดลง จึงผ่อนคลายการใช้ชีวิตมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แนะนำว่าให้พึงระลึกเสมอว่าการเดินทางออกไปข้างนอกควรทำเฉพาะมีเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพราะการออกนอกบ้านเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะนำเชื้อกลับมาแพร่สู่คนในบ้านเดียวกันได้ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็น ขอให้เดินทางออกจากบ้านให้น้อยที่สุด

ส่วนแนวทางปฏิบัติเมื่อมีการเดินทางไป-มาระหว่างจังหวัด จะยังต้องมีการกักตัว 14 วันอีกหรือไม่นั้น โฆษก ศบค.ระบุว่า ขอให้ประชาชนศึกษาข้อปฏิบัติจากแต่ละจังหวัด เนื่องจาก ศบค. ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจออกกฎเกณฑ์ในแต่พื้นที่เอง ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

สำหรับกระแสข่าวเรื่องการปลดล็อกการบังคับใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่ 32 จังหวัดในช่วงต้นเดือน พ.ค. นั้น นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการออกมา เพราะหากจะมีการผ่อนคลายการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจริง นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ก็จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :