ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.สิงห์ศึก ชี้ หากรัฐสภาตีตก 6 ญัตติ เสนอใหม่ได้ มองเหตุแก้ รธน.ยังไม่ชัด ด้าน พล.อ.ปรีชา เผยไม่รู้สึกอะไรหลังถูกอภิปรายพาดพิงถึงครอบครัว

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวถึงการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาต่อเนื่องวันนี้ (24 ก.ย.) หากญัตติไม่ผ่านมีโอกาส ยื่นได้ใหม่โดยจะต้องชี้แจงถึงเหตุผลในการแก้ไขให้ชัดเจน ซึ่งการชี้แจงในที่ประชุมเมื่อวานนี้ (23 ก.ย.) ยังไม่ชัดเจน ส่วนกรณีที่จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาที่หน้าอาคารรัฐสภาถือเป็นสิทธิและหน้าที่ ถ้าไม่นำความเดือดร้อนหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว ส่วนรัฐสภาก็ทำหน้าที่พิจารณาไป 

ทั้งนี้เห็นว่าหากมีการนำมวลชนมากดดันเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการเท่ากับว่าตกอยู่ใต้อิทธิพลอำนาจมืด พล.อ.สิงห์ศึก ย้ำว่าไทยมีวัฒนธรรมจารีตประเพณีมากว่า 800 ปี ที่สำคัญรัฐธรรมนูญเป็นจิตวิญญาณของประเทศไม่สามารถพูดกันโดยไม่มีเหตุและผลได้

ทั้งนี้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าสังคมจะผิดหวังหรือไม่ หากรัฐสภาตีตกทั้ง 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุเพียงไม่รู้ แต่เห็นว่าความเห็นจากการอภิปรายมี 2 ฝ่าย คือ ให้ยกร่าง และอีกฝ่ายคัดค้าน

'ปรีชา' ไม่รู้สึกอะไรหลังถูกอภิปรายพาดพิงถึงครอบครัว

พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิก ส.ว.กล่าวถึง​แนวทางการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ว่า ไม่ได้ยกเลิกใช้รัฐธรรมนูญ แต่พิจารณาตามสถานการ​ณ์ ซึ่งแต่ละคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น​

ส่วนที่ ส.ว.ถูกจับตาเป็นพิเศษ และเป็นปัจจัยสำคัญ นั้น พล.อ.ปรีชา กล่าวว่า ไม่มีอะไร เพราะมีระเบียบข้อบังคับมีกฎหมายครอบคลุมอยู่ ซึ่งก็ทำตามข้อกำหนด

พล.อ.ปรีชา ยังกล่าวถึง​กรณีที่​มีการพาดพิงถึงครอบครัวขณะการอภิปรายของสมาชิกว่าการอภิปรายก็สามารถทำได้ ซึ่งตนเองไม่ได้รู้สึกอะไร

เมื่อถามต่ออีกว่าเสียง 84 ส.ว.เป็นปัจจัย​สำคัญและประชาชนก็คาดหวังจะให้ผ่านญัตติใดญัตติหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางคลี่คลายความขัดแย้งของประเทศ พล.อ.ปรีชา กล่าวว่า ต้องดูว่าความขัดแย้งของประเทศที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร ในปัจจุบันสถานการณ์และสภาพของประเทศเป็นอย่างไร เศรษฐกิจ สังคม ตามแนวทางที่รัฐบาลได้แก้ไขเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ ส.ส.ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด ซึ่งแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล เพราะทุกคนมีจริยธรรม มีคุณธรรม อยู่ในตัวอยู่แล้ว


'สว.ตวง' เสียงแข็ง แก้ รธน.ทั้งฉบับต้องทำประชามติ ชี้ แก้ ม.91-92 ไม่ติดใจ

จากนั้นเวลา 13.00 น. ตวง อันทะไชย ส.ว.อภิปรายว่า เราเข้าใจตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ แต่แก้ไขมาตรา 256 ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ไขให้มีมาตรา 256 /1 ต้องไปถามประชาชนเสียก่อน ส่วนจะแก้ไขมาตรา 91-92 ตนเข้าใจ มองตาแล้วรู้ใจ พวกตนส่วนใหญ่เห็นด้วย ถ้าแก้แบบนี้ประชาชนจะไม่สับสน วิธีการนับคะแนน หลายพรรคชอบ และคิดว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ไม่ได้ขัดแย้ง

"การแก้ไขมาตรา 256 ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าประชาชนสถาปนาให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประหนึ่งเป็นบ้านหลังหนึ่งให้ ส.ว. ส.ส. เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ เราจะรื้อบ้านหลังนี้โดยไม่ถามประชาชนเลยหรือ เราจะโอนแล้วคอยถามหรือ ทำไมเราไม่ทำประชามติถามประชาชนบ้าง ถ้าประชามติแล้วประชาชนบอกว่าทำได้ ก็คอยไปยกร่างว่าด้วยหมวด 15 มาตรา 256/1 ร่างมาเสร็จจะทำแบบไหน ออกแบบอย่างไร ก็ไปถามประชาชนอีกรอบ การที่จะบอกว่ามี ส.ส.ร.ช่วยลดความขัดแย้งนั้น ตั้งแต่ปี 2539 ล้วนแต่มี ส.ส.ร.มาทั้งนั้น ถ้าเป็นแบบที่พูดจริง วันนี้ก็คงไม่เป็นเช่นนี้ จึงเรียนว่าพวกผมทำการบ้านมาแล้วเข้าใจและรู้ แต่ประเด็นคือท่านจะให้ทำประชามติตอนไหน ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าแก้เป็นรายมาตรา พวกผมไม่ติดใจ" ตวง กล่าว

ตวง กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ส.ส.ร.ไม่ใช่ตัวแก้ปัญหาการกระทบกระทั่งกัน ถ้า ส.ส.ร.กลไกเดียวแก้ปัญหาได้ ประเทศไม่เป็นเช่นนี้ ความขัดแย้งคราวนี้กระจายไปสู่ครอบครัว สถาบันการศึกษา เป็นที่ปรากฏชัดอย่างที่เห็น ลามถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถามว่าถ้า ส.ส.ร.เกิดขึ้นโดยไม่ถามประชาชนก่อน มีผู้คนใช้เวที ส.ส.ร.จาบจ้วงสถาบันทั่วประเทศจะทำอย่างไร การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องฟังและเคารพคนอื่น แต่ประชาธิปไตยที่ไม่ฟังคนอื่น คุกคาม ข่มขู่ เห็นต่างเป็นศัตรูไปหมด ถือว่าไม่ใช่วิธีนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแบบสันติ ขอกังวลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ส.ว.ทำการบ้านมาแล้ว

ตวง กล่าวด้วยว่า ถ้าจะแก้มาตรา 256 ให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ถามว่าเห็นควรให้มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ถ้าให้ก็จัดตั้ง ส.ส.ร.ดำเนินการยกร่าง แล้วกลับไปถามว่าร่างแบบนี้เห็นอย่างไร ส่วนถ้าจะแก้ไขเป็นรายมาตรา 272 มาตรานี้มาจากคำถามพ่วงประชามติเช่นกัน คน 16 ล้านเสียงให้อำนาจ ส.ว.ถ้าจะแก้ไขมาตรานี้ก็ต้องทำประชามติถามประชาชน หากไม่ทำประชามติก่อนก็จะมีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเหมือนในอดีต พวกตนตระหนักดีว่าบ้านเมืองต้องนำสู่การแก้ไขปัญหา บ้านเมืองต้องมีทางออกแต่ทางออกต้องยึดโยงกับประชาชน ต้องทำถามประชาชนว่าให้ทำหรือไม่


‘สมเจตน์’ ค้านยกร่าง รธน.ใหม่ หวั่นเกิดเผด็จการรัฐสภาซ้ำรอยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์’ 

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปร่างฉบับใหม่เป็นประวัติศาสตร์ที่วนเวียนซ้ำซากไม่รู้จบสิ้น เหตุการณ์ครั้งนี้เคยเกิดในสมัยปี 2555 สมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเรื่องทำนองเดียวกับปัจจุบัน ที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ โดยการแก้ไขครั้งนี้ผู้เสนอญัตติให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลต่อโครงสร้างสถาบันในสังคมและส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง จึงต้องแก้ไขเพื่อระงับความขัดแย้ง ตนเห็นว่า ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นยุคที่รัฐบาลกุมเสียงข้างมากได้ 

และแก้ไขที่มาของ ส.ว.และให้ ส.ว.เสนอแก้ไขปัญหาการยุบพรรคให้ ส.ส.เหมือนผลัดกันเกาหลัง เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก มีการรีบเร่งแก้ไขที่มาของ ส.ว.จนเกิดเหตุการวุ่นวาย ถูกประณามว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา และเมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ภาพเหตุการณ์นั้นก็ยังติดตา ตอนนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย และการไปตัดเงื่อนไขสำคัญที่ต้องได้รับความเห็นชอบกับ ส.ว. 1 ใน 3 และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 20% มันก็จะทำให้สภากลับไปเป็นสภาทาส ที่มีเผด็จการรัฐสภาเหมือนเดิม เสียงข้างมากไม่ฟังเสียงข้างน้อย หลายคนไปตำหนิมีชัย ฤชุพันธ์ แต่ตนเห็นว่าต้องขอบคุณที่จะสร้างภาพพจน์ที่ดีของรัฐสภา ว่าแม้เสียงข้างน้อย 20% ก็สามารถยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ได้

สมเจตน์ 0814F50CEE400FE.14082511.jpg
  • พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา

นักการเมืองหลายคนอ้างว่าการแก้ไขโดยการเพิ่มหมวดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนปี 2540 ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ตนเห็นว่าแนวทางที่เคยทำมาแล้วในอดีต หากจะเอามาเป็นต้นแบบปฏิบัติจะต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมือนกัน ปี 2539 สังคมมีความสามัคคี แม้จะเห็นต่างแต่ไม่แตกแยก และไม่มีคนกลุ่มใดที่มีพฤติกรรมเลวร้ายทำลายความคงอยู่ของสถาบัน ตอนนี้ประชาชนต้องการประชาธิปไตย จึงได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และมีระบบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง แต่เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่ดี แต่รัฐบาลที่ไม่ดีชุดหนึ่งสร้าง 4 ปัญหา ‘แตกแยก แทรกแซง โกงกิน หมิ่นเจ้า’ หลายคนประดิษฐ์วาทกรรมว่า ส.ว.สืบทอดอำนาจ พูดเหมือนตนเองเป็นเจ้าของประเทศเพียงผู้เดียว และสิ่งที่ตนเห็นมาคือรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับประชาชนสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ผลพวงรัฐธรรมนูญ 2540 จากการบริหารของรัฐบาลชุดหนึ่ง และเหตุการณ์ตั้งแต่ 2547 จนถึงปัจจุบัน บ้านเมืองแตกแยก เผาบ้านเผาเมือง และทหารตำรวจเสียชีวิต มีกองกำลังติดอาวุธ ชายชุดดำ และถ้าเอาสถานการณ์ปี 2539 เอามาเทียบกับปี 2547 ถึงปัจจุบัน แตกต่างกันสิ้นเชิง ดังนั้นการจะเอาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นแนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างไร

คารม พลพรกลาง ส.ส. บัญชรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงผู้อภิปรายว่าเสียดสี เรื่องเผาบ้านเมืองหรือชายชุดดำ หลายคดียกฟ้อง เป็น ส.ว.อย่ามาเติมเชื้อไฟในสถานการณ์แบบนี้ที่ต้องหาทางออก ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ตอนเราอภิปรายแรงกว่านี้ นี่เป็นการอภิปรายเพื่อให้รู้ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นยังไง ด้านนิยม เวชกามา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า รัฐบาลที่มาจากการยึดโยงกับประชาชน เป็นการเสียดสีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โกงกินหมิ่นเจ้า ใส่ร้ายป้ายสี ชวนกล่าวว่าไม่มีการเจาะจงรัฐบาล เป็นการเล่าให้ฟัง แต่เตือน พล.อ.สมเจตน์ ให้ระมัดระวัง

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตน ส.ว.และ ส.ส.บางส่วนยื่นหนังสือไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลก็รับคำร้องและมีคำวินิจฉัยว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องลงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สุดท้ายรัฐสภาไม่มีการลงมติในวาระ 3 เทียบอดีตกับปัจจุบันก็เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 

ดังนั้นรัฐสภาเป็นองค์กรสำคัญของรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และการยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 256 หรือไม่เพราะกำหนดให้เป็นการแก้ ไม่ใช่ยกร่างฉบับใหม่ และหากจะยกร่างฉบับใหม่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ หลังเห็นชอบวาระ 3 ไปแล้ว ตนขอสรุปว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้กลับไปเป็นสภาทาส, การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ, สถานการณ์ความแตกแยกในปัจจุบัน หลายคนมีทัศคนติเลวร้ายบั่นทอนสถาบัน ไม่เอื้อต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะจะเพิ่มความแตกแยก, แก้ไขเพื่อประโยชน์ของใคร ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นหรือไม่ ประชาชนจะอบยู่ดีกินดีไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นักการเมืองจะปฏิบัติตามนิติธรรม นิติรัฐ, และตนมีความเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างดี ตนไม่เห็นชอบญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีผลยกเลิกฉบับ 2560 และทุกมาตราเนื่องจากสถาการณ์ปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: