นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ที่หวังใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในแผนกู้ 1 ล้านล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ปัจจุบันยังไม่มีโครงการที่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์นั่งเป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมหารือมาตรการเยียวยาเกษตรกรวันนี้นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอของบประมาณทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 3 โครงการสำคัญ สนับสนุนการพัฒนาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมาย และ การบริหารโครงการต่างๆ
นายอภิรมย์ชี้ว่า จากการสำรวจของ ธ.ก.ส.ผ่านผู้ที่มาลงทะเบียนขอสินเชื่อฉุกเฉินราว 1,875,000 ราย พบว่า กว่า 850,000 คน เป็นผู้ที่มีทักษะและความชำนาญในเรื่องของอาหารเป็นหลัก โดยในการสำรวจนี้ ประชาชนกว่า 800,000 คน ต้องการเปลี่ยนมาประกอบอาชีพในฝั่งเกษตรกรรม ซึ่งหมายความว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องการเบนเข็มเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมแม้จะไม่ได้มีพื้นฐานความรู้มาก่อน
เพื่อช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ ธ.ก.ส.จึงตั้งโครงการแรกที่มีชื่อว่า 'โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน' (ตั้งหลัก) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเข้าไปจัดการเรียนรู้ผ่านระบบ E-Learning โดยจะครอบคลุมประชากรราว 300,000 ราย และคิดเป็นการของบประมาณ 90 ล้านบาท นอกจากนี้ก็จะมีการพัฒนาฐานการเรียนรู้อีก 1,200 แห่งทั่วประเทศ ด้วยวงเงิน 180 ล้านบาท และงบการศึกษาดูงานอีก 450 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 720 ล้านบาท
ขณะที่โครงการที่สอง (ตั้งฐาน) ธ.ก.ส.จะเน้นไปที่การสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อย อาทิ เครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ไม่เกิน 1 ล้านบาท/ราย ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท และยังมีการสนับสนุนการเปลี่ยนการผลิต หรือเน้นไปที่การจ้างผลิตเพื่อสร้างงานในกับแรงงานในท้องถิ่นอีกแห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาท ในวงเงิน 16,000 ล้านบาท เช่นเดียวกัน
ส่วนโครงการสุดท้าย (ตั้งมั่น) จะเน้นไปที่การสนับสนุนสถาบันเกษตรจำนวน 7,255 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งจะลงไปในฝั่งปัจจัยการผลิตเช่นเดียวกัน แต่จะมีงบเยอะขึ้นตามขนาดของสถาบัน หรือคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท/แห่ง รวมเป็นเงิน 21,765 ล้านบาท ขณะที่เงินส่วนที่เหลือจากการขอจัดสรรครั้งนี้จะถูกใช้ในการพัฒนาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายราว 482 ล้านบาท และ การบริหารโครงการต่างๆ อีก 32.6 ล้านบาท
นอกจากนี้ ฝั่ง ธ.ก.ส.ยังเตรียมวงเงินสินเชื่อสนับสนุนอีก 480,000 ล้านบาท ผ่าน 6 มาตรการสินเชื่อ ได้แก่ 1.สินเชื่อฉุกเฉิน จำนวน 20,000 ล้านบาท 2.สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ จำนวน 10,000 ล้านบาท 3.สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย จำนวน 50,000 ล้านบาท 4.สินเชื่อผู้ประกอบการเกษตร จำนวน 40,000 ล้านบาท 5.สินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด จำนวน 60,000 ล้านบาท และ 6.สินเชื่อระยะสั้นสำหรับฤดูกาลใหม่ จำนวน 300,000 ล้านบาท โดยโครงการที่ 5 และ 6 ต้องรอเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการ ธ.ก.ส.และคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการ
ทั้งนี้โครงการที่ ธ.ก.ส.นำเสนอในครั้งนี้ยังต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนที่จะส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;