ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ย้ำสังคมไทยหวาดกลัวสังคมนิยม และสัญลักษณ์ ค้อน-เคียว จากการสร้างปีศาจโดยรัฐ ชี้แนวคิดสังคมนิยม รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในสังคมไทย ระบุการนัดหยุดงานทั่วประเทศคือแนวทางการต่อสู้

ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ เสวนาปฏิรูปสถาบันนำไปสู่รับสวัสดิการอย่างไร ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มม็อบเฟส และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยระบุให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องโยงเชื่อมระหว่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการสร้างรัฐสวัสดิการอย่างเต็มรูปแบบ

ษัษฐรัมย์ ระบุว่า เวลาที่มีการพูดถึงรัฐสวัสดิการ หรือแนวคิดสังคมนิยม คนไทยส่วนมากมักไม่เข้าใจ และไม่เห็นด้วย ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเพราะชนชั้นนำ กองทัพ รัฐบาลเผด็จการ และกลุ่มนายทุน ใช้เวลานานหลาย 10 ปี และใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาทในการทำให้แนวคิดสังคมนิยม และรัฐสวัสดิการ กลายเป็นปีศาจของสังคมไทย พร้อมกับสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้เป็นสิ่งปกติไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ 

เขากล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีคนเข้ามากล่าวหาว่าสร้างข่าวปลอม หรือสร้างข้อมูลเท็จ ในเรื่องที่ว่ารัฐสวัสดิการสามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย เพื่อที่จะเป็นการลดทอนคุณค่าของแนวคิดสังคมนิยมที่กำลังก่อตัวขึ้นในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่ขณะเดียวกันในโลกแห่งทุนนิยมเองก็มีการสร้างข้อมูลเท็จอยู่ตลอดเวลา เช่น การบอกให้คนขยันทำงานเพื่อที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี บอกให้ตั้งใจเรียน เรียนให้สูงจะได้มีชีวิตที่ดี ซึ่งลักษณะนี้เป็นข่าวปลอมในโลกของทุนนิยม ที่พยายามบอกให้คนเดินไปตามระบบที่มีการกดขี่ทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม


ค้อน เคียว ไม่น่ากลัว

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า การที่เราถูกทำให้หวาดกลัวสังคมนิยม อาจจะเป็นเพราะกำลังอยู่ในสังคมที่เหลื่อมล้ำมากๆ แต่ในช่วงที่ผ่าน เท่าที่สัมผัสกับคนรุ่นใหม่คำว่าสังคมนิยม ไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลก ค้อน เคียว ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัว และความเสมอภาคไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเฟ้อฝันสำหรับพวกเขา 

“เวลาเราพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ มันไม่ใช่แค่การกดเครื่องคิดเลขว่าจะเอาเงินมาจากไหน พี่ๆ กลุ่มสหภาพแรงงานคงทราบดี เวลาเราเจรจากับนายจ้างมันจะเอาเครื่องคิดเลขมากดใช่ไหม แล้วก็บอกเราว่า ข้อเรียกร้องที่คุณเรียกร้องมูลค่า 100 ล้านบาท ควายที่ไหนจะให้ แต่สิ่งที่สหภาพแรงงานต้องยืนยันคือ มูลค่าที่เราทำให้กับโรงงานแห่งนี้มันเท่าไร”

เขาย้ำว่า การจะทำให้สังคมไทยเดินเข้าใกล้ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจได้นั้น จำเป็นต้องลบล้างความคิดความเชื่อที่ว่า ปัจเจกต้องรับผิดชอบตัวเอง ออกไปแข่งขัน ถ้าชนะก็ชนะ ถ้าแพ้ก็แพ้ไป และต้องเอาวิธีคิดว่าด้วยการสงเคราะห์ออกไป เพราะการมองว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของคนจนเท่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หลายประเทศที่เป็นประเทศรัฐสวัสดิการทั่วโลก ก้าวเข้ามาสู่จุดนี้จากการเป็นประเทศยากจน และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคก็ไม่ได้มาจากการคลานเข่าเข้าไปหานายทุนแล้วของให้พวกเขาเมตตาเวทนา แต่ล้วนแล้วแต่ก็จากการต่อสู้เรียกร้อง 

“งบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย 3.2 ล้านล้านบาท และถ้าเราจะสร้างรัฐสวัสดิการจะใช้เงินปีละประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ใช้งบประมาณเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ คุณตัดงบกลาโหมครึ่งหนึ่ง คนก็สามารถเรียนมหาวิทยาลัยฟรีกันได้ครึ่งประเทศแล้ว คุณตัดงบมหาดไทยครึ่งหนึ่ง คุณก็สามารถเพิ่มหมอ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ได้อีกเท่าตัว ฉะนั้นมันคือวิธีคิดที่สำคัญว่า สิ่งเหล่านี้ประชาชนควรได้ไหม การกดเครื่องคิดเลขคือ วาทกรรมใหญ่ที่นายทุนและชนชั้นนำ มักหยิบยกมาอ้างว่า รัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้


ษัษฐรัมย์ ระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาความคิดสังคมนิยมซึ่งกำลังเบ่งบานในหมู่คนรุ่นใหม่ เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยที่มีมากเกินไป และสังคมนิยมที่คนรุ่นใหม่กำลังพูดถึงไม่ใช่สังคมนิยมที่พ่ายแพ้ ผิดพลาด และกลายเป็นเผด็จการ แต่พวกเขากำลังพูดถึงสังคมนิยมที่ได้รับชัยชนะ และประสบความสำเร็จอย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวียซึ่งสามารถสร้างรัฐสวัสดิการ และความเสมอภาคได้ 


ชนชั้นนำไม่เข้าใจคนจน

ความเชื่อมโยงระหว่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสร้างรัฐสวัสดิการ

ษัษฐรัมย์ เห็นว่า ข้อเสนอแรกสุดในสังคมไทยคือสมุดปกเหลืองของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีความเป็นรัฐสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในเวลานั้น กลับถูกตีตกโดยรัชกาลที่ 7 ซึ่งท่านที่ความเห็นว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ และไม่มีความจำเป็น ประเทศนี้ไม่เคยมีคนอดตาย กระทั่งสุนัขจรจัดเข้าไปในวัดยังขอข้าวพระกินได้ คนที่อดตายคือ คนที่ง้างปากไม่ได้เอง ทั้งหมดคือการตอบโต้อย่างเป็นทางการของรัชกาลที่ 7 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ชนชั้นนำไม่เคยเข้าใจว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อดอยาก ยากแค้น เป็นอย่างไร และกรณีนี้ก็กลายเป็นชนวนในการก่อรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย 

นอกจากนี้ ษัษฐรัมย์ ยังกล่าวถึง จุดเชื่อมโยงที่สำคัญที่ของสถาบันกษัตริย์ กับการต่อต้านสังคมนิยม ซึ่งเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกา กองทัพ กลุ่มนายทุน และสถาบันกษัตริย์ ในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ โดยปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจนมากที่สุดซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ชนชั้นนำ กลุ่มทุน และเครือข่ายศักดินาปฏิเสธความเท่าเทียม และความเสมอภาคกันของมนุษย์คือ การปฏิเสธก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ โดยการตีตก พ.ร.บ.ประกันสังคม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินเข้าสู่การเป็นประเทศสังคมสงเคราะห์ที่กินระยะเวลามาอย่างยาวนาน


เสนอหยุดงานต่อรอง นายทุน-ชนชั้นนำ

เขาย้ำว่า เวลานี้ความคิดสังคมนิยม กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก แต่หากย้อนกลับไปครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในช่วงปี 2516-2519 สังคมนิยมก็เป็นแนวคิดทางการเมืองกระแสหลักในหมู่คนรุ่นใหม่ และกลุ่มแรงงาน แต่ในเวลานั้นไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะชัดไปมากกว่า 6 ตุลาคม 2519 ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสถาบันกษัตริย์ในการปฏิเสธความคิดทางการเมืองที่ด้วยความเสมอภาคกันของมนุษย์ และเหตุการณ์นั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความเสมอภาคกลายเป็นสิ่งผิดปกติสำหรับสังคมไทย 

“วันนี้เราเห็นนักศึกษาลุกขึ้นมาพูดเรื่องความเสมอภาค พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อที่จะผลักดันให้ประเทศเดินหน้าสู่ความฝันสามัญของประชาชนนั่นคือ รัฐสวัสดิการ แต่พวกเขากลับถูกดำเนินคดี

"ผมอยากย้ำว่าพวกเขากล้าหาญมาก พวกเขายืนหยัด ยืนยันในสิ่งที่ผู้มีอำนาจ ผู้มีอภิสิทธิ์ในบ้านเมืองนี้ไม่กล้ายืนยัน และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกเขาเท่านั้น คนขับแท็กซี่ ติดป้ายแล้วว่าไม่รับทหารตำรวจ แม่ค้าขายน้ำเต้าหู้ก็ขึ้นป้ายว่า ไม่ขายให้กับทหารตำรวจ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

ษัษฐรัมย์ ปิดท้ายว่า สิ่งที่คนธรรมดาสามัญสามารถทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือ "การนัดหยุดงานประท้วง" เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศอินเดียกลุ่มแรงงานได้นัดหยุดงานกัน 100 กว่าล้านคน ที่ประเทศชิลีคนงานนัดกันหยุดงานเพียงแค่ 3 วันเท่า ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมันคือการทำให้ชนชั้นนำ และนายทุนได้รับรู้ว่า มูลค่าความมั่งคั่งในประเทศนี้พวกเขาต่างหากที่เป็นผู้สร้าง และเวลานี้คนในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองจะต้องคุยกันให้ชัดว่า จุดหมายปลายทางของการต่อสู้ คือ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อนำไปสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ และใช้การหยุดงานทั้งประเทศเป็นเครื่องมือ