6 ก.ค. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงแนวทางการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. ว่า หากมองจากการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ซึ่งในส่วนของตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 มีการเสนอชื่อแข่งจากพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงทำให้เห็นว่า ในการโหวตนายกฯ ทางพรรคก็อาจส่งชื่อมาแข่ง แต่ประเด็นคือ ในการเลือกนายกฯ ไม่เหมือนกับการเลือกประธานสภาฯ เพราะตามบทเฉพาะกาลมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้ามาร่วมด้วย
ปริญญา กล่าวว่า การที่มีนักการเมืองพรรคหนึ่ง รวมเสียงได้เกินครึ่ง พรรคอันดับหนึ่งพรรคนั้นเขาได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว แต่การรวมเสียงได้ถึง 312 เสียง ออกจะมากเกินไปสักหน่อยด้วยซ้ำ เพราะฝ่ายค้าน เหลือแค่ 118 เสียง คือมันเข้มแข็งจนเกินพอในการเป็นรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เข้มแข็งมากเกินไป เพราะมีถึง 8 พรรค ทำให้ต้องมีการถ่วงการดุลกันในพรรคร่วมรัฐบาลกันเองด้วย ไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่งที่ทำทุกอย่างได้ กติกาตอนนี้ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ตัวเลขขณะนี้คือ 375 เพราะมี ส.ส. หายไป 2 คน พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเหลือ 310 เสียง ซึ่งแปลว่าจะขาดอีก 65 เสียง หากถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้ 65 เสียงจาก ส.ว. ถ้าหากว่าปล่อยให้โหวตตามปกติไม่มีใครมาควบคุม หรือสั่งห้ามก็อาจจะเป็นไปได้ และ ส.ว. จะต้องเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยหากไม่ฟังเสียงของประชาชนก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของปวงชนได้
ส่วนกรณีเรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าว ตรวจสอบคุณสมบัติของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 นั้น ปริญญา ระบุว่า ในเมื่อเรื่องของหุ้นสื่อไอทีวียังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และทาง กกต. ไม่เคยเปิดเผยหลักฐานหรือข้อมูลที่ชัดเจน จึงมองว่า กกต. ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งนายกฯ ไม่ใช่ทิ้งเอาไว้แบบนี้ เหมือนต้องการต้องมลทินเอาไว้ ให้ส.ว. ข้ออ้างในการไม่โหวตให้พิธา
“อีก 65 เสียงไม่ใช่สิ่งที่มาจากแค่ ส.ว.แต่ต้องมาจาก ส.ส. ด้วยซึ่งมองว่า ส.ส. ที่จะโหวตเลือกพิธานั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของพิธา หรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องของหลักการในการยอมรับเสียงข้างมาก และมีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับฉันทามติจากพี่น้องประชาชน” ปริญญา กล่าว
ปริญญา กล่าวอีกว่า พิธาควรได้รับโอกาสในการโหวตเลือกครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สองหากคะแนนเสียงไม่ถึง ซึ่งอาจได้คะแนนเสียงเพิ่มเติมจากพรรคที่มาจากรัฐบาลเดิม เช่น พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะยกมือให้เพราะได้รับตำแหน่ง แต่ก็ไม่ใช่การโหวตให้พิธาที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่คือหลักการของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่โหวตให้กับพรรคอันดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นพรรคใด และยังเชื่อว่าอย่างน้อยจะมีการปล่อยฟรีโหวต ทำให้ตัวเลขไปถึง 375 เสียง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ และที่เป็นไปได้อีกคือการเสนอชื่อแข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่อาจมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งโอกาสจะได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นไม่มี เพราะว่าพรรคอื่นที่เหลืออยู่ไม่ยอมรับเรื่องรัฐบาลเสียงข้างน้อย และ ส.ว. ก็ไม่เอา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในกรณีที่ พิธา ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลต่อหรือไม่ และจะมีโอกาสในการรวบรวมเสียงใหม่เพื่อให้เสียงเกิน 376 หรือไม่ ปริญญา ระบุว่า มีแน่นอน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ หากพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งฐบาลได้ พรรคอันดับสองสามารถทำได้ ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้จึงสามารถทำได้ และอาจมีการโหวตพิธามากกว่าสองครั้งก็ได้