พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมแนวทางการรายงานเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผ่านระบบ Bangkok Smart Monitoring System : BSMS ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยบูรณาการในการรายงานและติดตามข้อมูลผลการดำเนินงานของสถานพยาบาลทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถย่นระยะเวลาและลดขั้นตอนของการดำเนินงาน ทำให้การทำงานมีความต่อเนื่อง เกิดประสิทธิภาพและครอบคลุม
โดยมี นายโกสินทร์ เทศวงษ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักอนามัย กทม. และผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พยาบาลประจำคลินิกยาต้านไวรัส เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์จากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกระทรวงกลาโหม สังกัดมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 150 คน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมนารายณ์ เขตบางรัก
กรุงเทพมหานครได้ลงนามปฏิญญาเพื่อยุติปัญหาเอดส์ Fast-Track Cities 90-90-90 ในวันเอดส์โลก เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อยุติเอดส์ภายในปี 2563 โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ทำการคาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2562 จำนวน 77,558 คน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ จำนวน 1,190 คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี จำนวน 628 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 52.8 และมีผู้เสียชีวิตภายในปี 2562 จำนวน 1,877 คน
ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (NAP Program) ในปี พ.ศ.2561 พบว่า มีผู้ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี และมีชีวิตอยู่ จำนวน 70,747 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ จำนวน 55,123 คน และมีผลการตรวจพบว่ามีปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อยกว่า 1,000 copies/mL จำนวน 41,893 คน
ทั้งนี้ พล.ต.ท.โสภณ กล่าวต่อว่า ผลการประชุมถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่โรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญในการร่วมมือยุติปัญหาเอดส์ ด้วยเอดส์ไม่ใช่เป็นเพียงโรคและความเจ็บป่วย แต่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มพนักงานบริการ และกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยรายงานและติดตามการดำเนินงาน จะเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป