ไบเดนจะยกเลิกหนี้จำนวนกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7.2 แสนบาท) ให้แก่นักเรียนในกองทุนเงินช่วยเหลือเพลล์แกรนต์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนรายได้ “ผู้คนจะได้คลานออกมาจากใต้กองภูเขาหนี้สักที” ไบเดนระบุ
จากการประมาณการพบว่า มีชาวสหรัฐฯ จำนวนกว่า 43 ล้านคน ที่ติดหนี้การศึกษาของรัฐบาลกลาง ซึ่งคิดเป็นเงินมูลค่ารวมกันกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 57 ล้านล้านบาท) โดย 1 ใน 5 ของผู้ติดหนี้การศึกษาของรัฐบาลกลางกู้ยืมเงินไปในอัตราที่ต่ำกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การพักหนี้การศึกษาชั่วคราวที่เคยประกาศใช้เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา จะถูกขยายเวลาออกไปอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้ายถึงช่วงวันที่ 31 ธ.ค.ปีนี้เช่นกัน โดยไบเดนที่แถลงจากทำเนียบขาวระบุว่า การยกเลิกหนี้และขยายเวลาพักหนี้จะช่วยให้ชนชั้นกลางในสหรัฐฯ มี “พื้นที่หายใจ” ได้เพิ่มมากขึ้น
“ภาระนั้นหนักหนา จนแม้กระทั่งว่าถึงคุณเรียนจบมาแล้ว คุณก็อาจจะยังไม่เข้าถึงการใช้ชีวิตอย่างชนชั้นกลาง ที่ปริญญาจากวิทยาลัยมีมอบให้แก่คุณ” ไบเดนกล่าว ก่อนย้ำถึงอดีตของเขาในวัยเด็ก จากการที่ผู้เป็นพ่อของตนซึ่งเคยทำงานเป็นเซลส์แมนขายรถ ต้องคอยกัดฟันหาเงินมาส่งเขาเรียนหนังสือ
ไบเดนชี้อีกว่า 1 ใน 3 ของผู้กู้ยืมเงินกลายมาเป็นผู้ติดหนี้การศึกษา แต่กลับไม่ได้ใบปริญญาไปด้วย ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะชี้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็น “สิ่งเลวร้ายที่สุดของโลกทั้งสองใบ” ทั้งนี้ การยกเลิกหนี้การศึกษาจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกิดขึ้นภายหลังจากการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในทางการเมืองสหรัฐฯ
ยังมีการกดดันจากสมาชิกพรรคเดโมแครตหัวก้าวหน้า เช่น ชัค ชูเมอร์ หัวหน้าเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ จากมลรัฐนิวยอร์ก และ เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ให้ไบเดนใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดี ในการยกเลิกหนี้การศึกษาทั้งหมด อย่างไรก็ดี สองวุฒิสมาชิกเคยเสนอการยกเลิกหนี้ในอัตราสูงสุดเดิมถึง 50,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.8 ล้านบาท)
จากการประมาณการของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียพบว่า การยกเลิกหนี้ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวของไบเดน จะทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ สูญเสียรายได้ไปประมาณ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ การยกเลิกหนี้การศึกษาของไบเดนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้เห็นค้าน ก่อนที่ไบเดนจะออกมาตอบโต้ข้อวิจารณ์ว่าการยกเลิกหนี้ในครั้งนี้เป็น “ความรับผิดชอบในทางเศรษฐกิจ”
“ผมจะไม่มีวันขอโทษที่ได้ช่วยคนอเมริกันผู้ทำงานและคนชั้นกลาง” ไบเดนระบุก่อนกล่าวเสริมว่า “ไม่มีบุคคลที่มีรายได้สูง หรือครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะได้รับประโยชน์จากการมาตรการนี้” อย่างไรก็ดี พรรครีพับลิกัน และสมาชิกจากพรรคเดโมแครตสายกลางวิจารณ์ว่า การยกเลิกหนี้การศึกษาจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม เนื่องจากประชาชนจะมีเงินในกระเป่าให้ใช้มากขึ้นกว่าที่มีมากอยู่แล้ว ในขณะที่บางฝ่ายมองว่ามาตรการนี้ไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่เคยจ่ายหนี้ไปก่อนหน้านี้
หัวหน้าฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อย่าง เควิน แมกคาธี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกมาวิจารณ์แผนของไบเดนดังกล่าวบนทวิตเตอร์ว่า “ใครจะเป็นคนจ่ายเงินให้กับการหลอกลวงโอนเงินค่าหนี้ของไบเดนหรอ คนอเมริกันที่ทำงานหนักผู้ที่ได้ชำระหนี้ของพวกเขา หรือผู้ที่ไม่เคยกู้ยืมเงินไปตั้งแต่แรกไง” แมกคาธีทวีต
อย่างไรก็ดี สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนออกมาแย้งว่า การยกเลิกหนี้การศึกษาของไบเดนจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจบนฐานทางเชื้อชาติ โดยจากการศึกษาของสถาบันบรูคกิ้งส์พบว่า นักเรียนผิวดำมีแนโน้มที่จะกู้เงินการศึกษามากกว่านักเรียนสหรัฐฯ ชนชาติอื่นๆ โดยในช่วง 4 ปีหลังจากจบปริญญาตรี ผู้กู้ยืมผิวดำมักเป็นหนี้มากกว่าผู้กู้ยืมผิวขาวโดยเฉลี่ยกว่าเกือบ 25,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9 แสนบาท)
ที่มา: