นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ติดตามข่าวสารการเมืองในช่วงนี้แล้วเห็นว่า มีหลายประเด็นที่ยังสับสนหาข้อยุติไม่ได้ ตัวเลขที่ กกต. ชี้แจงต่างกรรมต่างวาระก็ไม่สอดคล้องตรงกัน และหลายฝ่ายมีการกล่าวอ้างหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของแต่ละฝ่ายไปในหลายทิศทาง ทั้งที่มีกฎหมายและระเบียบกำกับไว้อยู่แล้ว
นายเรืองไกร กล่าวว่า การขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยน่าจะเป็นข้อยุติได้ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐใน กกต. อาจปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือการกระทำของ กกต. อาจส่อไปในลักษณะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันอาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาได้
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า มีหลายประเด็นที่ควรหาข้อยุติโดยธรรมได้ เช่น เรื่องการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน แต่มีหลายฝ่ายไปอ้างสูตรนั้นสูตรนี้ ทั้งที่เมื่อไปตรวจสอบรายงานผลการพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช. ทั้งตามรายงานของ กรธ. หรือตามรายงานของ กมธ. ของ สนช. ก็ไม่มีการกำหนดสูตรหรือวิธีการคำนวณไว้แต่อย่างใด, เรื่องการไม่นำบัตรจากประเทศนิวซีแลนด์มานับรวม อาจไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง, เรื่องผลการนับคะแนน 100 % ที่ กกต. ประกาศในแต่ละครั้งก็ไม่ตรงกัน เมื่อ ยอดรวมไม่ตรงกันก็เป็นเหตุที่ควรสงสัยต่อไปว่า ยอดของแต่ละหน่วยเลือกตั้งทั้ง 92,320 หน่วยจะตรงกันหรือไม่, เรื่องการแถลงเกี่ยวกับการนับคะแนน 90% โดยยังไม่นำคะแนนล่วงหน้ามานับรวม อาจไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
นายเรืองไกร กล่าวตามมาว่า กรณีที่เกิดขึ้นจึงมีข้อสงสัยทั้งเรื่องการปฏิบัติที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการกระทำที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามมาได้ และจะทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือไม่ กรณีดังกล่าวจึงควรให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อส่งเรื่องให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุนี้จึงจะไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 9 เมษายนนี้ เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์ราชการฯ อาคาร B เพื่อให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป