วันที่ 16 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรค แถลงข่าวสืบเนื่องจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีรัฐสภามีมติตีความว่าการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเป็นญัตติ และไม่สามารถเสนอซ้ำได้
โดย รังสิมันต์ กล่าวว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าผู้ร้องเรียนไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง จึงได้ตีตกคำร้อง และไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระของคำร้อง ถือว่าเป็นเรื่องของเทคนิคและกระบวนการ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่า กรณีดังกล่าวสามารถใช้กลไกของรัฐสภาได้ ไม่จำเป็นต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้มีการทบทวนมติที่ผ่านมาว่าดำเนินการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งญัตติดังกล่าวก็มีผู้รับรองถูกต้องแล้ว ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป ที่ต้องรอการสั่งการของประธานรัฐสภา พรรคก้าวไกลก็ยืนยันว่าจะเสนอญัตตินี้ต่อไป
รังสิมันต์ ย้ำว่า การเสนอญัตติดังกล่าวไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง เพราะทุกคนต่างรู้ว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้อีกแล้ว แต่เป็นการเสนอให้รัฐสภาได้ทำสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการ เพราะการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ นั้น เป็นไปตามสถานะในรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่ญัตติทั่วไป
"พรรคก้าวไกลเป็นเป้าของการไม่ให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกซ้ำ เราโดนกับตัวเราเอง แต่เรายืนยันมาตลอดว่านี่เป็นกิจการของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามา เราจึงอยากใช้กลไกของสภาในการทำสิ่งที่ถูกต้อง จึงจะไม่เห็นคุณ พิธา เสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน"
ส่วนเสียงสนับสนุนของญัตติดังกล่าวจะพอหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของหลักการ การเสนอนี้ไม่ใช่เพื่อตัวพรรคก้าวไกลเอง หรือเพื่อให้ พิธา กลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง แต่เป็นการเสนอเพื่อหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าแคนดิเดตนายกจะชื่ออะไร ก็จะได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น
"เว้นแต่ว่ามีบางกลุ่ม ต้องการวางหมากให้เสนอชื่อนายกฯ ได้ครั้งเดียว เพื่อสกัดบางพรรคการเมือง หรือเพื่อปูทางไปสู่นายกฯ คนนอก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เห็นได้ว่าไม่ใช่เจตนาที่ดีแน่นอน"
ขณะที่การประชุมรัฐสภาคราวที่แล้ว ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ญัตติที่ขอให้ทบทวนตกไปโดยใช้อำนาจของประธานรัฐสภา รังสิมันต์ ชี้ว่า ญัตติที่เสนอไปมีผู้รับรองถูกต้อง แต่การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาไม่ได้อ้างข้อบังคับหรือข้อกฎหมายใดๆ แต่ก็เข้าใจในความหวังดีของประธานรัฐสภาว่าควรรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่หากรอไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมาย ก็จะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง
ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ขยายเวลาส่งคำชี้แจงอีก 30 วัน กรณีพิจารณาคำร้องนโยบายเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ กล่าวว่า อยู่ที่กระบวนการ เนื่องจากผู้ร้องยื่นหลักฐานเพิ่มเติม จึงต้องขอขยายเวลา พรรคก้าวไกลมีความมั่นใจว่ามีความบริสุทธิ์ใจ และการเสนอนโยบายก็ทำถูกต้องทุกอย่าง
"ที่เป็นปัญหาเพราะพรรคก้าวไกลดันชนะเลือกตั้งได้ที่ 1 ถ้าเราไม่ได้ที่ 1 ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กระบวนการนิติสงครามคงไม่มาถึงจุดนี้”
รังสิมันต์ ยังยืนยันว่า ไม่มีความกังวลเรื่องการยุบพรรค เพราะกระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ครั้งล่าสุดผู้ที่แก้มาตรา 112 ก็คือคณะรัฐประหาร จึงอยากขอความเป็นธรรมให้พรรคก้าวไกล ที่ดำเนินการตามกระบวนการปกติ