จากรายงานของกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายถึง 3,934 คน กล่าวโดยประมาณคือ ทุกๆ 1 แสนคน จะมีคนฆ่าตัวตาย 6 คน และผลสำรวจยังคาดว่า มีผู้พยายามจะฆ่าตัวตายถึง 53,000 คน โดยในปัจจุบันภาพของการฆ่าตัวตายมักจะถูกเชื่อมโยงกับการป่วยเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ แต่เหตุผลที่ทำให้คนๆ หนึ่งเลือกจบชีวิตตัวเองนั้นไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียว
ลิซา ไฟร์สโตน (Lisa Firestone) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน กล่าวว่า แนวโน้มฆ่าตัวตายเป็นภาวะพิเศษที่เรียกร้องการรักษาโดยเฉพาะ ในคู่มือการวินิจฉัย และสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติที่ได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางทั่วโลกรวมถึงไทยนั้น มีการปรับปรุงอยู่ตลอด และในฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดเอง ก็เคยมีการพิจารณาที่จะจัดหมวดหมู่การมีแนวโน้มฆ่าตัวตายออกเป็นหมวดหมู่แยกเฉพาะ ไม่ใช่เพียงแค่อาการหรือผลของความผิดปกติทางจิตหรือร่างกายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การระบุโรค หรือที่มาของความผิดปกติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยหยุดการฆ่าตัวตาย เป้าหมายอันดับหนึ่งจึงเป็นการช่วยให้ผู้มีแนวโน้มฆ่าตัวตายมีชีวิตต่อไป เมื่อรักษาชีวิตไว้ได้แล้วจึงมีเวลาเหลือพอที่จะรักษาปัญหาทางจิตด้านอื่นๆ ได้
กรมสุขภาพจิตประเทศไทยได้ให้แนวทางสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายไว้ 10 ประการ ดังนี้
1. แยกตัว ไม่พูดกับใคร
2. มีคนในครอบครัวฆ่าตัวตายมาก่อน
3. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว
4. มีแผนฆ่าตัวตายแน่นอน โดยดูได้จากแจกจ่ายของรักของหวง พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง จัดการงานหรือทรัพย์สินให้เรียบร้อย
5. เวลาพูดมีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง
6. ติดเหล้า หรือยาเสพติด
7. ทรมานจากโรคจนต้องพึ่งยารักษาประจำ และนอนไม่หลับติดกันเป็นเวลานานๆ
8. ชอบพูดเปรยๆ ว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่
9. ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย สูญเสียคนรักกะทันหัน เป็นโรคเรื้อรัง พิการจากอุบัติเหตุ
10. มีอารมณ์ขึ้นๆ ลง ๆ ที่น่าระวังคือ เมื่ออารมฌ์เปลี่ยนแปลงเป็นตรงกันข้าม จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน กลับดูสบายใจอย่างผิดหูผิดตา ช่วงนี้แสดงว่าเขารวบรวมความกล้าและตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะฆ่าตัวตาย
ทางกรมสุขภาพจิตได้ให้คำแนะนำว่า ญาติหรือเพื่อนสนิทควรดูแลผู้มีแนวโน้มลักษณะดังกล่าว อย่างคอยพูดคุย และพาไปออกกำลังกาย หากมีท่าทีแย่ลงให้พาไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ เพื่อบำบัดรักษา
ทางเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายถึง 40-85 เปอร์เซ็นต์ การ ‘ดูแล’ ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายเองจึงอาจต้องคำนึงถึงอาการของโรคซึมเศร้าด้วย
ทอดด์ บี แคชแดน (Todd B. Kashdan) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน ออกความเห็นว่า การเชื่อว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพราะสารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียวส่งผลร้าย เพราะทำให้เชื่อว่าการกินยาเป็นเพียงทางเดียวที่จะทำให้ดีขึ้น มีทัศนคติที่แย่ลงต่อการรักษาว่าอาจไม่หายขาด รวมถึงไปลดความเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถควบคุม และจัดการอารมณ์ด้านลบของตัวเองที่เกิดขึ้นได้
ในทางเดียวกัน หากผู้ดูแลเชื่อเช่นนั้นก็คงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการพาไปหาหมอ เมื่ออาการของโรคซึมเศร้า และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของสารเคมี แต่มีปัจจัยด้านการจัดการปัญหา และอารมณ์ การดูแลทำความเข้าใจกันจึงมีความหมาย
แนวทางการดูแลในเบื้องต้นนั้นเริ่มจากการพูดคุย โดยต้องถือเป็นเรื่องจริงจัง คุยให้รู้สึกว่าเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่คุยได้ ปรึกษาได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกผิดที่จะพูดจนอีกฝ่ายเก็บเอาไว้ และไม่ตั้งแง่ว่าทำไมจึงคิดฆ่าตัวตาย เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายไม่ไว้ใจปิดกั้นตัวเองจากเรา
เมื่อเปิดใจเล่าแล้วจึงฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน หรือถกเถียงกับผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย อย่างการบอกว่าอีกฝ่ายมีชีวิตที่ดีทำไมถึงคิดแบบนี้ หรือท้วงว่าการฆ่าตัวตายจะทำให้ครอบครัวเสียใจ รวมถึงอย่าท้าทายให้อีกฝ่ายลงมือฆ่าตัวตายจริงๆ และหากพบว่ามีท่าทีที่แย่ลงก็ควรติดต่อผู้เชี่ยวชายหรือแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
อ้างอิง :
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :