วันที่ 9 ธ.ค. 2564 ที่รัฐสภา ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ,เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ, อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ ขัดแย้งกับมติครม.เมื่อเดือนธันวาคม 2563
เบญจา กล่าวว่าคำมั่นสัญญาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ไว้กับประชาชนชาวจะนะ ผ่านไป 1 ปี รัฐบาลกลับตระบัดสัตย์ ประชาชนชนชาวจะนะจึงได้มาทวงสัญญา โดยชาวบ้านจะนะกว่า 50 ชีวิตได้เดินทางมาจากจังหวัดสงขลา เพื่อเข้ามาชุมนุมอย่างสันติ เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวจะนะในการตรวจสอบนิคมอุตสาหกรรม แต่กลับถูกสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามสากล และมีผู้ถูกจับ 37 คน จากนั้นลูกหลานชาวจะนะจึงมายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ให้ ตรวจสอบการสลายการชุมนุม และตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุสาหกรรมจะนะให้ครบทุกมิติ มีข้อเรียกร้อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. เรื่องกระบวนการการเปลี่ยนสีผังเมืองและการจัดการการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานคณะกรรมการนิคมอุสาหกรรมชุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งขึ้นมา เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 เนื่องจากกลไกลดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ตกลงเอาไว้ และรัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการโดยยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม โดยต้องดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและนักวิชาการต้องได้การยอมรับจากทุกฝ่าย ระหว่างนี้รัฐบาลต้องสั่งระงับโครงการนี้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการตามที่เรียกร้องมา
และสุดท้ายรัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักถิ่นกว่า 37 คน เพราะประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการปกป้องบ้านเกิดจองตนเอง และสิทธิของพวกเขาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
เบญจา กล่าวต่อไปว่า จากกรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา จะต้องชี้แจงให้ชัดเจน จากกรณีที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงข้อตกลงที่เกิดขึ้น เป็นข้อตกลงส่วนตัวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ กับชาวบ้าน ไม่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี แต่ระหว่างการประชุมกรรมาธิการการกระจายอำนาจ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า ข้อตกลง MOU ได้นำเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ด้วย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ และผู้เซ็นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในคำสั่งได้ระบุชัดเจนว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ ทางคณะรัฐมตรีมีมติรับทราบ และมีมติเห็นชอบให้ระงับโครงการก่อน แต่ผลการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 7 ธ.ค. ผ่านมา มีการรับรองรายงานความคืบหน้าการจัดการแผ่นแม่บทการพัฒนาพื้นที่ และมีการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเพื่อรองรับเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าในอนาคต ของจังหวัดสงขลา โดยมติ ครม.นี้ ขัดแย้งกับมติ ครม.ของวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ตนจึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า ขอให้รัฐบาลทำการทบทวนมติครม.ดังกล่าว อย่าตระบัดสัตย์กับประชาชน
“พรรคก้าวไกลไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาและไม่เคยต่อต้านความเจริญ แต่คนอยากเห็นการพัฒนาที่เห็นหัวประชาชน มีการจัดสรร แบ่งปันให้กับประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่แบ่งปันให้กับกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น และขอให้รัฐบาลอย่าฟังเสียงกระซิบของนายทุน แต่ต้องฟังและสนใจเสียงของพี่น้องประชาชน ดิฉันยืนยันว่านิคมอุตสาหกรรมจะนะไม่จำเป็นต้องเกิด เพราะอีกสองนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่มีการลงทุนเต็มพื้นที่เลย หากเปิดอีกนิคมก็จะกลายเป็นพื้นที่รกร้างไร้การลงทุน ส่วนข้ออ้างเรื่องการสร้างอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้ายิ่งฟังไม่ขึ้น ทุกวันนี้ไทยมีโรงไฟฟ้ามากเกินไป มีพลังงานสำรองมากจนประชาชนต้องแบกรับค่าไฟแพงกว่ามาเลเซียแล้ว อยากให้รัฐบาลกล้าทำกล้ารับ ว่าตกลงที่ดันโครงการจะนะแบบไม่ลืมหูลืมตา เป็นการดันเพื่อประโยชน์นายทุนหรือประชาชน” เบญจา กล่าว
ด้าน ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ก่อนมติ ครม. 15 ธค 2563 เป็นมติครม. ที่ นิพนธ บุญญามณี รมช.มหาดไทย รู้ล่วงหน้าว่าจะมีการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตนมองว่าการออกมติ ครม.ซ้ำซ้อนกันหลายครั้ง เป็นการขัดเเย้งกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อประชาชนเเละสื่อมวลชน โดยเรื่องของการกว้านซื้อที่ดิน เป็นการที่ปรากฎในข้อเท็จจริง โดยการพัฒนาโครงการดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นต่อทางเศรษฐกิจเลย เเต่ยังส่งผลกระทบให้กับสิ่งเเวดล้อมเเละคุณภาพชีวิตประชาชน
และตนขอตั้งคำถามว่า ศอ.บต.ทำหน้าที่อะไร ที่จะไปออกหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว และไปโฆษณาว่านิคมจะช่วยเรื่องการจ้างเเรงงาน พัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ ศอ.บต. แน่ใจหรือว่านิคมจะนะจะช่วยแก้ปัญหาชายแดนใต้ เพราะนอกจากการจ้างงานจะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีใครไปลงทุน การผลักดันโครงการอย่างดื้อแพ่ง ไม่ฟังเสียงประชาชน เอาทหารตำรวจไปสลายการชุมนุมในพื้นที่ ไปข่มขู่พี่น้องประชาชน ซ้ำเติมปัญหาชายแดนใต้เข้าไปอีกเลย
ขณะที่อภิชาติ ศิริสุนทร กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ว่า ทางกมธ.ได้ตั้งอนุกมธ.ศึกษาผลจากการเสนอโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจ จะนะ สงขลา โดยได้ทำรายงานศึกษาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เเละทางสภาได้รับทราบ เเละเสนอต่อรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
จากผลการพิจารณา พบว่าโครงการนี้ไม่ได้ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ เเละสรุปไม่ได้ว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์อย่างใดในพื้นที่ ทั้งในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน เเละเศรษฐกิจโดยรวม รวมไปถึงโครงการดังกล่าวไม่ได้เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับพี่น้องประชาชน เเละเรากังวลว่าโครงการจะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายอย่างชัดแจ้ง เพราะมีการกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไรล่วงหน้าโดยเครือญาติของ นิพนธ์ บุญญามณี รมช. มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง