‘วอยซ์’ นำเสนอการถอดบทเรียนสงครามยาเสพติด ตอนที่ 1 ซึ่งได้กล่าวถึงนโยบาย ‘สงครามยาเสพติด’ ผ่านมิติทางการปฏิบัติ สภาพปัญหา และช่องโหว่ที่ต้องพิจารณาหากจะมีการนำนโยบายนี้กลับมาใช้
ในตอนนี้จะชวนผู้อ่านร่วมถอดบทเรียนในมิติของ ‘มนุษย์’ ซึ่งอยู่ภายใต้บริบทของนโยบายสงครามยาเสพติด ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ รวมถึง ‘อำนาจสีกากี’ ที่เข้าไปตักตวงหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ของนโยบายดังกล่าว
เมื่อ ‘ความรวดเร็ว’ กลายเป็นตัวแปร และตัวเร่งปฏิกริยาที่ทำให้ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดต้องเข้าสู่โหมดจริงจัง เจ้าหน้าที่รัฐก็ ‘กลัวที่จะโดนเด้ง’ ส่วนฟากผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ ‘กลัวที่จะถูกดำเนินคดี’
ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลา 3 เดือน “ยาเสพติดต้องสิ้นซาก” ความเข้มงวดและเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามยาเสพติดอาจเผลอทำให้ใครบางคนตกหล่นบนความบกพร่อง (บางส่วน) ของปฏิบัติการ
“ในเรือนจำบางขวาง 18 ปีเศษ เราบอกตัวเองมาตลอดว่าเราเป็น ผู้บริสุทธิ์ แต่กระบวนการทางศาลบอกว่าเราคือผู้กระทำความผิด”
โชคชัย (สงวนนามสกุล) คือหนึ่งในอดีตคนขับรถแท็กซี่สนามบินดอนเมือง ผู้ซึ่งเคยเป็นนักโทษประหารชีวิตจากคดีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเมื่อปี 2546
เขาเล่าว่า เพราะอาชีพคนขับแท็กซี่ทำให้ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ค้ายาที่เดินทางด้วยเครื่องบินมาจากเชียงใหม่ และทำให้ถูกกล่าวหาว่า รู้เห็นเป็นใจกับเครือข่ายยาเสพติด เนื่องจากไม่สามารถให้ข้อมูลส่วนตัวถึงผู้ค้ายาที่หลบหนีไปได้ ทั้งที่ความเป็นจริงเขาแค่ถูกจ้างให้ขับรถไปส่งเท่านั้น
โชคชัย เล่าถึงกระบวนการสืบสวนที่ผิดพลาดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อมโยงผ่านหมายเลขโทรศัพท์ที่ผู้ค้ายาได้โทรศัพท์ว่าจ้างขับรถและพบว่าผู้ค้ายานั่งรถโดยสายคันนี้ที่เขาเป็นผู้ขับ อีกทั้ง มาตรา 83 ของประมวลกฎหมายอาญาระบุให้ ‘ผู้ร่วมกระทำความผิด’ ได้รับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิด ทำให้คนที่ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนในขบวนการนั้น ไม่ว่ารับผลประโยชน์แค่ไหนหรือไม่ได้อะไรเลย ก็จะต้องรับโทษเท่ากัน
“ถ้าความเป็นจริงเราค้ายาเพสติด ทรัพย์สินที่เรามีมันต้องพิสูจน์ได้ แต่เราไม่มีอะไรเลย ไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรมากมาย แต่ในจุดนั้นมันผลักคนเข้าไปข้างใน (เรือนจำ) เป็นร้อยเป็นพัน” โชคชัย กล่าว
โชคชัย ยังกล่าวถึงสภาพการณ์ของกระบวนการยุติธรรมในขณะที่ประกาศใช้นโยบายสงครามยาเสพติดว่า แทบจะไม่มีคดียาเสพติดถูก ‘ยกฟ้อง’ เลย หรือหากมีการยกฟ้อง ผู้พิพากษาต้องมีกระบวนการชี้แจงต่ออธิบดีศาล และรัฐบาลว่าเหตุใดจึงยกฟ้อง มันจึงทำให้เขาเชื่อว่ากระบวนการของศาลก็ไม่ได้เป็นอิสระนัก และถ้าหากยกฟ้องรัฐบาลก็จะตรวจสอบว่าผู้พิพากษาว่ารับเงินจากเครือข่ายยาเสพติดหรือไม่ ทำไมถึงปล่อยให้คดีหลุดรอดจากการลงโทษ
เขามองว่า ฝั่งผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะในขณะนั้นศาลมักจะให้น้ำหนักที่คำให้การพยานฝั่งโจทก์มากกว่าฝั่งจำเลย โดยเฉพาะคดีของโชคชัยที่ตำรวจใช้เพียงวิธีการเชื่อมโยงข้อมูลเส้นทางการเดินทางของผู้ค้ายาเสพติด และเบอร์โทรศัพท์ที่ผู้ค้ายาติดต่อภายใน 24 ชั่วโมงมาเป็นหลักฐานชั้นต้นในการพิจารณาคดีว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนช่วยเหลือเครือข่ายลักลอบขนยาเสพติด
โชคชัย ยังระบุอีกว่า ในสมัยประกาศใช้นโยบายสงครามยาเสพติด เรือนจำบางขวางเป็นเรือนจำแห่งเดียวที่มีอำนาจควบคุมนักโทษที่ต้องโทษอัตราสูงสุดคือ ‘ประหารชีวิต’ ผู้ต้องหาทั่วทุกสารทิศที่ก่อคดียาเสพติดจนถูกจับกุมและพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้วจะถูกส่งตัวมาที่นี่ จึงทำให้แดนประหารในขณะนั้นแออัดไปด้วยเสียงโซ่ตรวนที่สนิมเขรอะ
“ทันทีที่ศาลบอกว่าผมต้องโทษประหารชีวิต แม่ผมล้มฟุบหน้าบัลลังก์ศาล และมีพยานโจทก์ปากหนึ่งที่เป็นตำรวจมากราบขอโทษแม่ผมหน้าห้องพิจารณา ถามว่า ยายเป็นแม่ของโชคชัยใช่ไหม ผมรู้ว่าโชคชัยไม่ได้ทำ แต่นายสั่งไว้ว่าต้องเป็นแบบนี้”
โชคชัย เล่าอีกว่า แม่ของตนร้องไห้และพยายามคว้าแขวนนายตำรวจเพื่อถามว่า “ทำไมทำแบบนั้นล่ะลูก ชีวิตคนทั้งคน” แต่เขาก็พยายามสะบัดแขนออก และเดินหันหลังทันที ตั้งแต่นั้นมาแม่ก็รู้อยู่เต็มอกว่าลูกไม่ได้ผิด และหวังว่าถ้าประหารชีวิตจริงจะรับศพ แล้วจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตายตามที่ท่าน้ำนนท์ทันที
ขณะที่ความเป็นอยู่ในเรือนจำ โชคชัย เล่าว่า เรือนจำในยุคนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเรือนจำยุคเก่าและยุคปัจจุบัน นักโทษต้องกินข้าวแดง น้ำที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้าก็จะเป็นน้ำที่่สูบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงหน้าฝนก็ต้องทนใช้น้ำสีขุ่นๆ ระบบสาธารณูปโภคยังเป็นแบบยุคเดิม
ซ้ำร้ายนักโทษประหารชีวิตก็อยู่กันอย่างแน่นเหลือจะบรรยาย แม้กระทั่งที่จะหย่อนก้นนั่งยังแทบไม่มี จากปกติที่ห้องหนึ่งนอนกัน 16 คน แต่ในช่วงนั้นกลับถูกยัดเข้ามา 30 คน และทุกคนต้องใส่ตรวน
“เราร้องเรียนทุกองค์กร ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือองคมนตรี หนังสือหนังหาอะไรที่เราจะเขียนไปที่ไหนได้ เราเขียนไปหมด” โชคชัย ระบุ
ด้านภรรยาของโชคชัย เล่าว่า สมัยก่อนเทคโนโลยียังเข้าไปไม่ถึงต่างจังหวัด ไม่สามารถมีรูปถ่ายหลักฐานชีวิตส่วนตัวในเฟซบุ๊กที่ยืนยันได้ว่าโชคชัยไม่เกี่ยวกับยาเสพติด แต่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านที่โชคชัยอาศัยอยู่ต่างอาสามาลงชื่อเพื่อเป็นพยานยืนยันว่า โชคชัยไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เขาเห็นหน้าตายาเสพติดครั้งแรกก็ตอนที่ตำรวจตั้งโต๊ะแถลงข่าวในการจับกุม
“น้าว่ามันคือ ปรากฎการณ์ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องดิ้นรน แต่ไม่มีใครมองเห็นเรา เพราะตอนนั้นนโยบายมันระดับชาติ ใครโดนคดียาเสพติดก็ไม่มีใครอยากจะยุ่ง แต่นี่ชาวบ้านเขาลงชื่อให้กันอย่างเต็มหัวใจเลย” ภรรยา โชคชัย ระบุ
จากกระแสข่าวที่รัฐบาลปัจจุบันนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสงครามกับยาเสพติด โชคชัยให้ความเห็นว่า กระบวนการใช้อารมณ์และความโกรธแค้นนำหน้าจะนำมาซึ่งความผิดพลาดมหาศาล และเหยื่อของอารมณ์ส่วนใหญ่มักเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีทางจะเรียกร้อง
“ก่อนหน้านั้นผมกลัวมาก เพราะในคุกมีแต่คนชั่วเต็มไปหมด เราจะใช้ชีวิตอย่างไร พอเราเข้าไปสัมผัสจริงๆ ก็จินตนาการไม่ออกถึงการคนที่น่าสงสารแบบเรา คนที่ไม่ควรอยู่ตรงนั้นต้องเข้าไปในคุกแบบน่าตกใจ” โชคชัย กล่าว
โชคชัยพ้นโทษหลังจากจำคุกมา 18 ปีเศษ จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่มองว่า โชคชัยเป็นเพียงพนักงานรับจ้างขับรถโดยสาร ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายค้ายาเสพติด
เมื่อชีวิตหลุดจากเรือนจำ เขาเล่าว่า เขาไม่สามารถทำงานในระบบปกติได้ เพราะไปสมัครงานอาชีพไรเดอร์ บริษัทก็ตรวจพบประวัติอาชญากรรมจึงถูกคัดออก ถูกแปะภาพกลายเป็นคนไม่น่าไว้ใจในสังคม พร้อมเสริมว่า จริงๆ คนผ่านตรงจุดนั้นมามีจำนวนเป็นแสนเป็นล้าน แต่พวกเขาต้องหลบซ่อนตัว ไม่กล้าออกมาให้สังคมรับรู้ เพราะกลัวว่าสังคมจะระแวง มันจึงทำให้การเริ่มต้นค่อนข้างลำบาก
ผลกระทบบนฐานความ ‘เข้มงวด’ ของการปฏิบัติการย่อมส่งผลในเชิงบวกและเชิงลบ บนเส้นคู่ขนานของความ ‘โชคดี’ ที่นโยบายนี้ทำให้ผู้ติดยาเสพติดกลับกลายเป็นคนปกติ รวมทั้งจำนวนยาเสพติดที่แพร่ระบาดในสังคมก็ลดลงจริงในเชิงปริมาณ ขณะเดียวกันความ ‘โชคร้าย’ ในเชิงคุณภาพก็อาจเกิดจากความผิดพลาดของระดับปฏิบัติการ
ในห้องแถวย่านจอมทอง ‘อมร’ (นามสมมติ) เล่าว่า ย้อนกลับไปราว 19 ปีที่แล้ว เขาคือหนึ่งในผู้ติดยาเสพติด ด้วยความที่เป็นนักดนตรีประจำร้านอาหารกลางคืน และต้องอดหลับอดนอนจึงทำให้เริ่มมีการใช้ยาบ้าละลายในเครื่องดื่มชูกำลัง นานวันเข้าก็เพิ่มปริมาณยา และเปลี่ยนรูปแบบการเสพจากละลายน้ำ เป็นการสูบควันผ่านแผ่นฟอยล์
“เวลาผมคลั่งยา ใจผมคิดทำอะไรผมก็ทำเลย ไม่มีการคิดหน้าคิดหลัง สมัยก่อนผมเจ้าชู้ ผมก็อยากจะไปมีอะไรกับผู้หญิงแถวนั้น แม้ว่าผมจะมีแฟนอยู่แล้ว”
อมร ขมวดคิ้วจนรอยย่นบนหน้าผากที่บ่งบอกถึงของประสบการณ์ชีวิตกว่า 52 ปีปรากฎ ก่อนค่อยๆ เล่าเรื่องราวชีวิตกับยาเสพติดให้ฟัง และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องย้ายอพาร์ทเมนต์อยู่บ่อยๆ
อมร กล่าวว่า พี่ชายของเขาคือหนึ่งในผู้ค้ารายย่อยที่มักจะขายยาบ้าให้แก่วัยรุ่นในตรอกแถวบ้าน ทำให้เขาสามารถเข้าถึงยาเสพติดได้โดยง่าย ขณะนั้นยาบ้าเม็ดละ 550 บาท แต่จะได้มาในราคาพี่น้องคือ 300 บาท ส่วนเฮโรอีนปกติขายบิ๊กละ 800 บาท ลดเหลือบิ๊กละ 700 บาท แลกกับการต้องไปหาคนอื่นมาเป็นลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกวัยรุ่นจากพระประแดง หรือไม่ก็ท่าเรือคลองเตย
“จำได้ว่าตอนนั้นเขาก็เรียกให้ไปรายงานตัวที่เขตเพื่อถามว่าจะเลิกหรือไม่เลิก แต่ผมไม่กล้าไปเพราะกลัวเขาส่งไปเรือนจำเลยต้องย้ายไปอยู่กับเพื่อนแถวสมุทรสาคร แต่พี่ชายผม มันทั้งเสพทั้งขาย มันเลยไป ไม่ใช่เพราะมันเต็มใจนะ มันโดนรวบพอดี”
เขาย้อนความหลังให้ฟังอีกว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มมีการเรียกตัวให้คนที่เสพยา หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าไปรายงานตัวตามนโยบายของภาครัฐ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการปล่อยตัวออกมาอยู่เป็นระยะ วันก่อนเข้าไป วันนี้ก็ออกมา แล้วคนที่ออกไปก็ไปเป็นสายสืบหาคนเข้าคุกให้ตำรวจ
“มันเหมือนวงจรอุบาทว์” อมร ว่าพลางคีบมวนบุหรี่เข้าปากเป็นระยะ
อมร กล่าวว่า คนที่เคยเข้าคุกแล้วออกมาเพื่อเป็นสายสืบให้ตำรวจ คนในพื้นที่จะเรียกว่า ‘ผลัดยา’ หมายถึง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกจับเข้าคุก ตำรวจก็ได้ผลงาน ได้รางวัลตามที่ส่วนกลางกำหนดไว้ และยื่นข้อเสนอให้แก่คนที่ตัวเองจับเข้ามาว่า “มีเงินหรือเปล่า” ถ้ามีเงินก็ปล่อยตัว แต่ถ้าไม่มีก็เอายาบ้าไป 6 เม็ดไปขายให้ได้ เพื่อที่ตำรวจจะได้ผลงาน
“แล้วพี่ชายคุณเคยผลัดยาหรือเปล่าครับ…”
“ไม่เหลือ…มันก็ต้องทำสิ แล้วก็ไม่เหลือแม้แต่ชีวิตด้วย” เขาตอบ
อมร อธิบายว่า พี่ชายของเขาเคยมาเล่าให้ฟังว่าเคยถูกยื่นข้อเสนอให้ผลัดยา ทำอยู่ 2-3 ครั้ง แรกๆ ก็เหมือนจะดี เปรียบเสมือนผู้ช่วยตำรวจ แต่นานเข้าพอหาลูกค้าใหม่ไม่ได้ตามที่กำหนด ก็ถูกขู่ว่าจะส่งดำเนินคดีเดี๋ยวนั้น เงินก็ไม่ได้ โดนข่มเหงอยู่ทุกวัน แต่ก็ต้องทนเพราะไม่อยากเข้าไปกินข้าวแดงในคุก
“พี่ชายผมมันก็หายเงียบไปเลยเป็นอาทิตย์ แล้วเพื่อนมันมาบอกว่า ‘เฮ้ย พี่ชายมึงตายแล้วนะ ตายในคุก ตำรวจบอกลงแดงตาย’ แต่ตอนนั้นไม่มีเวลามาเศร้าเรื่องพี่ตายหรอก รู้อย่างเดียวกูต้องรอด กูต้องเลิกยาบ้า ไม่งั้นตายแน่ เพราะไม่คิดว่าเขาจะเอาจริง” อมร กล่าว
อมร ระบุอีกว่า หลังผ่านเหตุการณ์อันน่าสลด เขารีบรายงานตัวต่อสำนักงานเขตเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาเพราะกลัวว่าจะมีจุดจบแบบพี่ชาย โดยเข้าค่ายที่วัดในย่านฝั่งธนฯ เป็นเวลา 5 วัน 4 คืน โดยต้องฝึกระเบียบวินัยจากทหาร และได้รับคำสอนจากพระสงฆ์ที่มาเทศน์ให้ฟัง รวมถึงมีการเข้ารับการติดตามอาการ ซึ่งโชคดีที่ครอบครัวของเขามีส่วนช่วยเหลือดังกล่าว
อมร ยังเล่าถึงเวลาเสี้ยนยาหรืออาการเวลาขาดยาว่า มันเป็นความทุกข์ที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต ร่างกายภายนอกเหงื่อจะออก แต่ในกระดูกรู้สึกเย็นเฉียบ หรือบางครั้งถ้าทนไม่ไหวพระก็จะให้ยาสมุนไพรมากินหนึ่งขัน เพื่อให้อ้วกออกมา ถึงแม้จะทรมานเจียนตาย แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าตายจริงๆ
“แน่นอน ตำรวจเป็นหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในสังคม อาจจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเรื่องการจับกุม ปราบปราม สืบสวน หรือเกี่ยวในแง่ที่เจ้าหน้าที่พัวพันด้วย นั่นเพราะใจไม่เข้มแข็งพอ…” ความเห็นของ รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา
“อาชีพตำรวจมันก็มีทั้งงานที่สบาย กับงานที่โคตรจะนรก สบายๆ ก็พวกลูกหลานนาย ส่วนพวกที่ทำงานสายตัวแทบขาด เหงื่อไหลไคลย้อยนั่นแหล่ะเรียกว่านรก แล้วนี่ไม่ต้องพูดถึงตำรวจที่สามจังหวัดชายแดนนะ…อเวจี” พ.ต.ท.กฤษณพงศ์กล่าวถึงระบบอุปถัมภ์ในแวดวงตำรวจ
ขวัญ (นามสมมติ) อดีตนายตำรวจนิรนามเวรสอบสวน สภ.แห่งหนึ่งในเขตปริมณฑล พรั่งพรูเรื่องราวช่วงชีวิตการทำงานกว่า 20 ปี ก่อนจะลาออกเนื่องจากปัญหาโรคซึมเศร้าที่กัดกินสภาพจิตใจของเขาจนไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
“พี่เริ่มเป็นตำรวจตั้งแต่ช่วงพฤษภาทมิฬฯ สมัยที่ยังเป็นกรมตำรวจ แล้วก็มาลาออกช่วงประยุทธ์นี่ล่ะ” ขวัญ กล่าว
ขวัญ กล่วว่า อาชีพตำรวจเสี่ยงที่จะเป็นโรคเครียด เพราะเป็นผู้ใช้กฎหมาย ขาข้างหนึ่งอยู่ในคุกอยู่แล้ว เพราะถ้าเผลอทำอะไรพลาดไป ผลที่กลับมามันจะรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป สามารถเข้าคุกได้เลย และชีวิตในคุกก็ไม่ได้สบาย เพราะในนั้นเต็มไปด้วยคู่อริที่จับเขาเข้าคุกทั้งนั้น ยังไม่รวมถึงเวลาที่โดนผู้บังคับบัญชาต่อว่า
“พี่เคยโดนนายด่าว่า ‘มึงนี่โคตรโง่ เรื่องแค่นี้ทำไมคิดไม่ออก’ เป็นน้องไม่รู้สึกแย่หรอ โดนคนอายุน้อยกว่าที่เป็นนายเรา โยนกระดาษ โยนกุญแจมือใส่หน้า น้องจะรู้สึกยังไง พี่โดนแบบนี้เรื่อยๆ มันก็ไม่ไหว” อดีตนายตำรวจค่อยๆ ระบาย
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ขวัญระบุคือ ตั้งแต่มีการรัฐประหาร 2549 ตำรวจถูกลดบทบาทลงไปมาก อำนาจในการตัดสินใจเชิงระบบของตำรวจมักเป็นลิ่วล้อไปตามทหาร และแจ่มชัดมากที่สุดช่วงรัฐบาล คสช. เป็นต้นมา ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนชุด หรือเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน ซึ่งเขามองว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อตำรวจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีภายใต้ชื่อ ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ และนายกรัฐมนตรีก็มาจากการรัฐประหาร ตำรวจจึงถูกกดทับอยู่กลายๆ
แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ ‘ขวัญ’ เป็นโรคซึมเศร้า
ขวัญ เล่าว่า นอกจากเรื่องความเครียดในการทำงาน โดยเฉพาะงานสายสืบสวนสอบสวน ก็มีเรื่องหนี้สินกองโต เงินเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการกู้เงินซื้อบ้าน เพราะบ้านพักตำรวจสภาพค่อนข้างทรุดโทรมจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ อีกทั้งต้องกู้เงินเพื่อหาซื้ออาวุธปืน และเรื่อง ‘ตั๋วช้าง ตั๋วม้า’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน ทำให้ตำรวจต้องอมเงินตู้แดงไปหากินกับบ่อน ซ่อง และยา ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในคนที่หากินกับวิธีนี้
“ตอนเป็นตำรวจ พี่เงินเดือน 11,000 กว่าบาท ทำงานอย่างกับพนักงานเซเว่น ไหนจะต้องมาหั่นจ่ายเงินกู้ทบต้นทบดอกค่าปืน กระบอกละ 40,000 กว่าบาท ค่าเช่าบ้านเดือนละ 4,000 มันจะไปพอที่ไหน”
ขวัญ เล่าว่า สักช่วงปี 2551 ก็เคยได้รับเงินจำนวน 5,000 จากร้านอาหารกลางคืนแถบตัวเมืองจังหวัดในภาคกลาง และยอมรับว่าปล่อยให้ร้านอาหารนั้นมียาเสพติด รวมถึงค้าประเวณี และห้ามให้สายตรวจไปยุ่ง เวลามีข่าวการทำคดีค้ามนุษย์ ร้านดังกล่าวก็จะได้รับการยกเว้นโดยฝ่ายปกครอง
ขวัญ กล่าวอีกว่า บางครั้งก็มีพวกแก๊งค์แข่งรถที่มีคนใหญ่คนโตยัดใต้โต๊ะมาให้เพื่อที่จะได้จัดการแข่งรถ และมีปาร์ตี้ยาในนั้น ซึ่งก็เคยมีเหตุยิงกันในช่วงปี 2557 แต่ตำรวจก็ไม่ได้สืบสวนต่อ เพราะเป็นพวกกับคนใหญ่คนโต บางคนปัจจุบันนี้ก็เป็นนักการเมืองพรรคใหญ่
“ของแบบนี้มันเป็นระบบ ระบบที่เอื้อให้ผู้มีอำนาจใช้เงิน ส่วนตำรวจก็ต้องใช้ใจ หมายถึงว่าใจจะอยู่หรือไป มันอยู่ตรงนี้” ขวัญ ระบุ
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2551-2564 ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย 443 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย ปัญหาอื่นๆ 121 นาย ปัญหาครอบครัว 98 นาย ปัญหาส่วนตัว 39 นาย ปัญหาหนี้สิน 38 นาย ปัญหาเรื่องงาน 18 นาย
รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ ให้ความเห็นว่า สถิติแนวโน้มตำรวจฆ่าตัวตาย สูงกว่าคนทั่วไป 1.5-2 เท่า และสำเร็จ เพราะอาวุธปืนอยู่กับตัว ซึ่งการดูแลเรื่องสุขภาพจิตตำรวจ เป็นแนวคิดที่ สตช.ต้องการจะทำ แต่ทำไม่ได้ทั่วประเทศ เพราะมีบุคลากรเยอะ ขณะที่นักจิตวิทยาตำรวจมีน้อยมาก ถ้าเปรียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วนี่เป็นนโยบายที่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริงกับวงการตำรวจไทย
อีกทั้งตำรวจชั้นประทวนเป็นหนี้กันเยอะมาก ทั้งในระบบสหกรณ์ และหนี้นอกระบบ เพราะ เงินเดือนไม่เพียงพอ หน่วยงานไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถยนต์สายตรวจ วัสดุอุปกรณ์ อาวุธปืน โดยเฉพาะฝ่ายสืบสวนที่ตำรวจยังต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว บางครั้งไปกัน 5-10 คน ให้แชร์ค่าข้าวกันมันก็แปลก คนเป็นหัวหน้าสายตรวจก็ต้องมีภาวะผู้นำจ่ายให้ลูกน้องบ้าง
ต้องย้อนกลับมามองว่า รัฐมองเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า อย่างตำรวจสิงคโปร์ ใช้บัตรเครดิต มีระบบการจ่ายโอนเงิน ทุกอย่างถูกบันทึกไว้เข้าระบบ แล้วค่อยมาเบิกกับหน่วยงานให้จ่ายตามจริง แต่ตำรวจไทยเรื่องนี้เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน สมัยที่ทำงานกองปราบ เวลาไปจับคนร้ายก็ต้องใช้รถส่วนตัว ผ่านมากี่รัฐบาลก็ยังเป็นรถส่วนตัว ทั้งที่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องจัดหา เพื่อการดูแลทุกข์สุขของประชาชน
เมื่อยาเสพติดถือเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ ของชาติ เราจึงได้เห็นบทบาทของกองทัพที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
หนึ่งในนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) คือ ภารกิจ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ซึ่งยึดโยงกับแผนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2563-2565 ภายใต้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.)
จากข้อมูลของ World Drug Report 2021 ระบุว่า สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ สามเหลี่ยมทองคำ เป็นฐานการผลิตยาเสพติดในกลุ่มแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ที่สำคัญของโลก และยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง งรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ในปี 2558-2562 จำนวนยาเสพติดที่ถูกยึดทั่วโลกกว่า 90% มาจากพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มนพร เจริญศรี อดีตนายก อบจ.นครพนม ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การลักลอบนำเข้ายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเส้นทางลำเลียงที่สำคัญคือ แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยจะลำเลียงยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำ เข้าสู่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ก่อนกระจายมายังพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.นครพนม ซึ่งทอดยาวไปตามลำน้ำโขงกว่า 135 กิโลเมตร
เนื่องจากบางส่วนของแม่น้ำโขงในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างแคบ ประกอบกับมีถนนเลียบริมตลิ่งแม่น้ำโขงทำให้สามารถขนยาเสพติดขึ้นจากเรือ และนำออกสู่พื้นที่โดยง่าย และเส้นทางคมนาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเชื่อมโยงกันหลายเส้นทาง เมื่อถูกเจ้าหน้าที่สกัด ก็สามารถเปลี่ยนไปอีกเส้นทางโดยง่าย
แม้ว่า กองทัพภาคที่ 2 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 จะเป็นแม่ทัพในการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศอ.ปส.ชอน.) เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการในการปฎิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อย่างไรก็ตาม มนพร เชื่อว่า ถึงแม้จะมีกองกำลังตำรวจ และกองกำลังทหาร ลาดตระเวนอยู่ตลอด โดยเฉพาะหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่นำโขง (นรข.) แต่เหตุที่ยังมียาเสพติดเล็ดลอดเข้ามา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐระดับใหญ่รู้เห็นเป็นใจ สังเกตเห็นได้ไม่ยาก นครพนมเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่กลับกลายเป็น จังหวัดเป้าหมายเกรด AAA เมื่อมีการจัดโผโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บังคับบัญชาตำรวจ ทหาร ทำให้ข้าราชการหลายระดับอยากจะมาอยู่
“เจ้าหน้าที่รัฐแค่หลับหูหลับตา เมื่อรู้เบาะแสจากสายข่าว ก็สามารถรับผลประโยชน์จากผู้ค้ายาเสพติด และขบวนการค้ายาเสพติดจะมีการหาแหล่งพักยาเสพติดเป็นจุด เพื่อไม่ให้เป็นเป้าสายตาของสายสืบ แต่สายสืบเหล่านั้นคือ ตำรวจ ทหาร ที่รับส่วยจากกลุ่มค้ายา” มนพร กล่าว
มนพร เล่าอีกว่า ผู้บริหารท้องถิ่น หรือนักการเมืองท้องถิ่น มักจะประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงริมชายฝั่งแม่น้ำโขงของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการขนยาเสพติดต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ทั้ง 2 ฝั่ง ดังนั้นทั้งทางประเทศไทย และ สปป.ลาว จะต้องเคลียร์พื้นที่ถึงจะปล่อยของมาทางเรือได้ โดยการขนส่งจะทำในเวลากลางคืนเพื่อหลบเลี่ยงสายตา และปฏิบัติการ ‘กองทัพมด’ นำยาเสพติดพักไว้ที่เกาะดอนกลางแม่น้ำ ก่อนใช้เรือทิ้งยาเสพติดเพื่อให้ลอยมาฝั่งไทย
นอกจากนี้ ยังมีจุดท่าดูดหินทราย ซึ่งเรือดูดหินทรายฉวยโอกาสลักลอบดูดหินทรายนอกเขตสัมปทาน ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดไม่ให้คนภายนอกเข้าไป และจะมีการขนส่งยาเสพติดผ่านการโยนเข้ามาในเรือ และใช้หินทรายปิดทับยาเสพติดเหล่านั้นไว้ ตรงจุดนั้นกลายเป็นพื้นที่ปิดตาย ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครทราบว่าข้างในนั้นเป็นอย่างไร แต่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้ดีว่าท่าดูดหินทราย คือพื้นที่หนึ่งที่ทำให้ยาเสพติดระบาด เพียงแต่เขาไม่กล้าพูด
“ในค่ายทหารเขาเสพยากันเยอะแยะ แล้วพวกชั้นใหญ่ๆ ก็ชอบมาพูดว่า ค่ายทหารเป็นพื้นที่ปลอดยา ยาอะไร ถ้าบอกว่าเป็นยาคูลท์จะไม่ว่าเลย”
‘บอมบ์’ (นามสมมติ) อดีตทหารเกณฑ์ใบแดง ทบ.1 ผลัด 1 ในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งเข้าประจำกรมทหารแห่งหนึ่งในย่านปริมณฑล เป็นหนึ่งในคนที่เคยทำหน้าที่ ‘เดินยา’ หรือส่งยาด้วยความจำเป็นให้แก่ทหารในค่าย หรือกระทั่งประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับค่ายทหาร
บอมบ์ เล่าว่า หลังจากผ่านช่วงฝึกใน 10 สัปดาห์แรก ก็ได้พักกลับบ้านประมาณ 18 วัน ก่อนจะกลับเข้ามาเข้าประจำกรมกองต่างๆ โดยตัวเองรับหน้าที่เป็นลูกมือเอกสาร หรือพลนำสาร ซึ่งจะช่วยจ่ากองร้อยพิมพ์เอกสารอยู่บนกองบังคับการกองร้อย และเดินเอกสารไปยังกองร้อยต่างๆ แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งการ
ด้วยความที่ บอมบ์ เรียนจบชั้น ปวช.ปีที่ 3 จากโรงเรียนอาชีวะในสายการช่าง จึงพอมีความรู้เรื่องการซ่อมเครื่องยนต์อยู่บ้าง จ่าทหารจึงมักจะเรียกตัวไปใช้ซ่อมรถยนต์ หรือเป็นพลขับรถให้แก่เมียของจ่าที่ในขณะนั้นทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนราษฎร์ ประจำที่ว่าการอำเภอจังหวัด
“จุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ต้องไปเดินยาเป็นเพราะเมียจ่า มันจะมาเอาพี่เป็นชู้ แต่พี่ไม่ทำไง เมียผู้บังคับบัญชาเราไม่อยากมีปัญหา พอพี่ไม่ยอม เขาคงไม่พอใจก็เลยไปฟ้องผัวเขาว่าพี่จะไปข่มขืน เท่านั้นแหล่ะเป็นเรื่อง” บอมบ์ กล่าว
บอมบ์ ระบุอีกว่า จ่าได้เข้ามาเคลียร์ปัญหาอย่างรุนแรง ถึงขั้นเอาสันของดาบปลายปืนที่ติดอยู่กับอาวุธปืนที่เขาจำแม่นขึ้นใจคือ M1 Garand มาฟาดเข้าที่สะบักหลังจนเป็นรอยช้ำเขียว แต่เขาก็ไม่คิดจะสู้เพราะถ้าหากทะเลาะวิวาทกับผู้บังคับบัญชาจะยิ่งมีปัญหาหนัก พร้อมทั้งถูกขู่ว่าจะส่งเรื่องให้เจ้ากรมขึ้นบัญชีธำรงวินัย และส่งเรื่องให้ศาลทหารเอาผิดข้อหาพยายามข่มขืน
ไม่นานจ่าก็ได้ยื่นข้อเสนอให้เขาเป็นคนเดินยาในค่ายทหาร แลกกับการไม่ต้องถูกธำรงวินัยและขึ้นศาลทหาร เนื่องจากจ่าเป็นผู้ค้ารายย่อยจำนวน 15-20 เม็ดอยู่แล้ว ราคาในตอนนั้นเม็ดละ 80 บาท ส่วนใหญ่ลูกค้าที่อยู่ในค่ายก็จะเป็นทหารเกณฑ์ใหม่ๆ และทหารประจำหน่วยกรมกองอื่น หรือพวกคนที่มาขายอาหารในค่าย รวมถึงบางครั้งก็มีนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ที่รู้จักกัน
“กฎเหล็กคือ ต้องส่งให้ถึงที่หมาย และของห้ามเปียก ห้ามแตก ถ้าแตกแค่นิดเดียว มึงโดน” บอมบ์ เล่า
บอมบ์ กล่าวอีกว่า การส่งยาในค่ายทหารมันมีหลายวิธีแตกต่างกันออกไป ถ้าลูกค้าอยู่แผนกอาวุธก็ยัดไปกับปลอกกระสุน หรือไม่ก็ใส่ในลำกล้องปืน แล้วหลังจากนั้นลูกค้าเขาก็จะเอาไปจัดการกัน แต่สถานที่ที่มีการส่งยา เดินยากันบ่อยที่สุดในค่ายคือ ห้องตัดผม ในค่าย เพราะทหารชั้นผู้น้อยมักจะมารวมตัวกันเยอะ บางทีก็แอบเอายามาแบ่งปันกันแล้วไปเสพกันตามพุ่มไม้หลังโรงแปลง พวกจ่า หรือรุ่นพี่ทหารเกณฑ์ก็ไม่ได้สนใจ เพราะพวกนั้นก็คือคนเอายามาขายต่อให้พวกทหารเกณฑ์
บอมบ์ยังเล่าถึงวิธีส่งยารูปแบบต่างๆ และบอกเหตุผลที่ไม่กล้าฟ้องผู้ใหญ่ว่า เป็นเพราะเขาไม่แน่ใจว่าขบวนการเหล่านี้มีเครือข่ายกว้างขวางแค่ไหน
ประสบการณ์ของบอมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายปีแล้ว และหากเราดูข่าวสารตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า กองทัพให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง
'บิ๊กเจี๊ยบ' ลั่นค่ายทหารห้ามมี 'ยาเสพติด' หากพบเจอโทษหนัก - ไทยรัฐ 4 ก.ค.2560
แม่ทัพภาค4 สุ่มตรวจสารเสพติดกำลังพลค่ายทหารสิรินธร จ.ปัตตานี -ข่าวออนไลน์ 7HD 19 ต.ค.2565
"สิ่งที่ผมเน้นย้ำมากที่สุดคือ ในค่ายทหาร เพราะกังวลเหมือนกันว่าเมื่อยาเสพติดเข้ามามาก ก็อาจจะมาใช้เป็นแหล่งพักยาในสถานที่ราชการ และค่ายทหาร โดยวันนี้ผมจะกำชับผู้บังคับหน่วยทุกท่าน หากมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จะต้องลงโทษสถานหนัก" พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาร ผบ.ทบ.ก็เคยกล่าวไว้
“ประเทศไทยมีตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และชนกลุ่มน้อยของประเทศเพื่อบ้านก็ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด เพื่อนำรายได้ไปต่อสู้กับชนกลุ่มอื่น หรือเอารายได้มาดูแลในชนกลุ่มน้อย ดังนั้นโรงงานในการผลิตยาจึงทำอย่างต่อเนื่อง และไม่ง่ายที่ปราบปราม” รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ ระบุ
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา กล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ง่ายที่จะดำเนินการทลายขบวนการได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจึงต้องใจเข้มแข็งพอ มีองค์ความรู้ และมีเทคนิคการสืบสวนจับกุม เพื่อไมให้ตกเป็นเบี้ยล่างทางผลประโยชน์ของยาเสพติด
เขากล่าวด้วยว่า ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เอี่ยวกับธุรกิจสีเทา โดยสิงคโปร์มีระบบการตรวจสอบที่จริงจัง และมีการสืบสวนในทางลับ เช่น บ้านเจ้าหน้าที่คนหนึ่งรับราชการเงินเดือน 40,000-50,000 บาท แต่ทำไมภรรยาใช้กระเป๋าแบรนด์เนม ขับรถยุโรป ก็จะมีคณะกรรมการตรวจสอบทันที
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาบอกอีกว่า รัฐบาลต้องลงทุนกับการสร้างคน โดยเฉพาะการสร้างตัวแบบที่ดีในวงการตำรวจ นอกจากให้ความรู้ ต้องให้ความคิด สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งตัวเขาเองตัดสินใจเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจก็เพราะมองว่านี่คือสิ่งที่จะสร้างคน แม้ขณะนั้นผู้บังคับบัญชาจะถามย้ำ 3 รอบว่าจะมาจริงหรือ และเมื่อถึงจุดที่ได้ไปสอนจริงๆ ก็พบว่า ระบบโครงสร้างในการลงทุนกับคนมีน้อยมาก
ด้าน ทวี สอดส่อง อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะมาแก้ปัญหายาเสพติด ต้องแต่งตั้งคนที่มีความรู้ความสามารถ และคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้วิ่งเต้นเข้าหาผู้ใหญ่ เพราะเขาเอาเวลาไปทำงาน แต่หลังจากที่มีการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 มันขาดระบบการตรวจสอบบุคลากร เพราะรัฐบาลที่เป็นทหาร ต้องเลือกตำรวจเพื่อไปค้ำยันอำนาจเป็นหลัก
“คนจะมาแก้ปัญหาต้องพัฒนาเป็นวิชาชีพ ไม่ใช่อาชีพ เพราะอาชีพหวังผลกำไร แต่ตำรวจที่แก้ไขปัญหายาเสพติดต้องมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ” ทวี กล่าว
“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน…จริงๆ มันคือความคิดที่ดีนะ ทำให้ตำรวจเป็นสุภาพบุรุษ” นักอาชญาวิทยา กล่าวถึงแนวคิดในการปลูกฝังนักเรียนนายร้อยตำรวจ
รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจมีการปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ แต่เวลาจบมาทำงานจริงๆ มันไม่เหมือนกัน เพราะต่างคนต่างเจอสิ่งล่อตาล่อใจ บางคนทำงานแบบนี้ไม่ก้าวหน้า ขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นน้องไม่ได้ทำงานตอบแทนชุมชน แต่ตอบแทนนายแต่ได้รับความก้าวหน้า ถามว่าตำรวจจะเดินแบบไหน รุ่นน้องๆ ก็ต้องดูรุ่นพี่เป็นตัวอย่าง
ถามว่า ทำไมในปัจจุบันตำรวจไทยถึงดูลุแก่อำนาจ ทั้งการกล้าที่จะเข้าไปพัวพันในวงจรยาเสพติด หรือใช้ความรุนแรงกับประชาชน นักอาชญาวิทยา กล่าวว่า ในหน่วยงานความมั่นคง ทหารก็ดี ตำรวจก็ดี จะฝึกมาด้วยระบบ Command หรือระบบสั่งการ ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมีอำนาจตามกฎหมายก็ย่อมใช้อำนาจ ตำรวจก็เช่นกัน แต่ถ้าอำนาจปราศจากการควบคุมก็จะเป็นปัญหา ซึ่งเราต้องบอกนักเรียนนายร้อยตำรวจว่า “อำนาจไม่ใช่ของคุณ แต่เป็นของประชาชนที่รัฐฝากไว้ให้เราดูแลแทน ไม่ใช่ชั่วชีวิต”
ดังนั้น วงการตำรวจควรจะมีการอบรมแนวคิดตรงนี้ทุก 6 เดือนหลังจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ก็ติดข้อกำหนดในเรื่องงบประมาณ ตำรวจตั้งแต่เรียนจบมาทำงานจนเกษียณ ไม่เคยมีการอบรมแนวคิดตรงนี้เลย และสำคัญที่สุดคือ ระบบตรวจสอบต้องเข้มแข็ง ให้ผู้ใช้อำนาจเกิดความเกรงกลัว
“สังคมไทยเป็นสังคมแปลก คนเก่าทำไว้ดีแค่ไหน คนใหม่ก็ไม่ทำต่อ เพราะคนใหม่อยากใช้ชื่อตัวเอง เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด รัฐบาลก็กลัวว่าจะเหมือนทักษิณ” ทวี สอดส่อง กล่าว
ทวี กล่าวว่า มิติของการจัดการปัญหายาเสพติดโดยรัฐบาลปัจจุบัน กระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดมีความอ่อนแอ รัฐมีความพยายามเอากฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมดมารวมไว้เป็น ประมวลกฎหมายยาเสพติด ในปี 2564 แต่ปรากฏว่าจนถึงตอนนี้ กฎหมายระดับรองกว่า 70 ฉบับก็ยังไม่เสร็จ
ทวี อธิบายว่า ในจำนวนกฎหมายทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขต้องเอาไปทำ 43 ฉบับ แต่เพิ่งเสร็จแค่ 6 ฉบับ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำ 9 ฉบับ เสร็จไป 5 ฉบับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ทำ 16 ฉบับ เสร็จไป 15 ฉบับ ส่วนที่อยู่ในการดำเนินงานของศาลยุติธรรมก็เสร็จสิ้นไปแล้ว 2 ฉบับ
“กฎหมายที่เราคิดว่าจะมีประโยชน์ที่สุด แต่รัฐบาลกลับไม่จริงใจที่จะบังคับใช้ ทั้งที่กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร ไม่ต้องเข้าสภา แสดงว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่สภาเอาออกไปให้ รัฐบาลกลับเอาไปใช้โดยไม่มีประสิทธิภาพ” ทวี กล่าว
ทวี ระบุอีกว่า ขณะที่นโยบายสงครามยาเสพติดถูกพูดถึงในสังคมไทยมากว่า 18 ปีแล้ว แต่ผู้เสพเดิมก็ยังคงอยู่ เสริมด้วยผู้เสพใหม่มากขึ้นอีก เพราะยามีราคาถูกลง เมื่อมองทางภาครัฐก็พบว่าไม่จริงจังที่จะดำเนินการทำกฎหมายให้เสร็จ ไปให้ความสำคัญที่ไม่สมดุล เน้นย้ำแค่เรื่องการฟอกเงิน แต่ขาดการให้ความสำคัญในเรื่องการแพร่ระบาดของยาเสพติด ดังนั้น เอาเข้าจริงแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่ ‘ตัวผู้นำ’
อดีตรองเลขาฯ ป.ป.ส. เปิดเผยอีกว่าภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณ 2564-2566 ในแผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ 8 กระทรวง 25 หน่วยงาน 2 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ภายใต้ 3 แนวทาง คือ
หากพิจารณางบประมาณแผนบูณาการฯ ยาเสพติดในช่วงปี 2564-2566 จะพบว่า แนวทางการดำเนินงานที่มีสัดส่วนงบประมาณมากที่สุดคือการสกัดกั้น รองลงมาคือการป้องกัน และการบำบัดรักษาเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุด
ทวี วิเคราะห์ว่า รัฐบาลนี้ไม่ค่อยเน้นการแก้ปัญหาในส่วน Demand หรือผู้เสพ นั่นเป็นเพราะกลุ่มนี้ไม่มีชื่อเสียง การที่ตำรวจทำให้คน 500,000 คนเลิกติดยาเสพติด มันได้ชื่อเสียงไม่เท่ากับการทุ่มงบในเรื่อง Supply หรือผู้ผลิต แล้วให้ตำรวจตั้งโต๊ะแถลงจับยาบ้า
ดังนั้นเมื่อแก้ปัญหาอย่างไม่สมดุล เงินก็จะหมดไปโดยไม่ได้อะไรมากนัก และสำคัญกว่านั้นคือ ผู้ใหญ่ต้องมองว่าใครจะมานั่งแก้ไขปัญหายาเสพติด เชื่อว่า เลขาธิการ ป.ป.ส.เขามีความสามารถอยู่แล้ว แต่สิ่งที่รัฐทำคือเอาเงินไปให้ทหารแก้ไขเรื่องนี้ มันก็เกิดกความวุ่นวายไปหมด เพราะคงหนีไม่พ้นการสกัดกั้นตามชายแดน แต่ไม่มีการประสานงานระหว่างประเทศ
“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลนี้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือการที่รัฐบาลไม่รู้ว่าเขาไม่รู้ นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุด และจะทำให้ปัญหามันบานปลาย” ทวี กล่าวทิ้งท้าย
----
เส้นทางการแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยดูเหมือนยิ่งเดินยิ่งห่างไกลจากความสำเร็จ การโยนความผิดให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแต่เพียงอย่างเดียวเป็นเพียงปลายน้ำ เพราะแท้จริงแล้ว ‘ยาเสพติด’ ไม่ใช่ ‘ลาสบอส’ (last boss) แต่ระบบโครงสร้างของรัฐ วงการตำรวจ วงการทหาร และผู้มีอำนาจต่างหากที่ล้วนมีส่วนสร้างปรากฏการณ์ความบ้าคลั่งจากฤทธิ์ของยาเสพติด