ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้ (9 ก.ค.) สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม หรือพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข
มี 2 ประเด็นหลักที่ยังเห็นต่าง จะต้องพิจารณาร่วมกัน
1. จะรวมคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่
2. จะครอบคลุมการชุมนุมช่วงเวลาไหน (ถึงปี 2565 หรือ ถึงวันประกาศใช้กฎหมาย)
ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมครับ
ประเด็นที่ 1
ถึงแม้จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เห็นว่าควรนิรโทษกรรมครอบคลุมคดีการเมืองทุกกลุ่ม (ยกเว้นการทำให้เกิดการเสียชีวิต) รวมทั้ง คดี 112 เพราะเชื่อว่า ในบรรดาผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ส่วนหนึ่งเป็นผู้ถูกยัดข้อหา ส่วนหนึ่งคึกคะนอง ส่วนหนึ่งหลงผิด ส่วนหนึ่งหลี้ภัยไปแล้ว ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยากกลับเนื้อกลับตัว กลับคืนสู่สังคม แต่อาจจะมีจำนวนหนึ่ง ที่ยังมีแนวคิดตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งถ้ามีการนิรโทษกรรม ควรกำหนดเงื่อนไข ต้องไม่กระทำผิดซ้ำ
ซึ่งเรื่องนี้ สังคมไทยจำนวนมากยังคงไม่เห็นด้วย อาจเป็นเพราะเทิดทูนสถาบัน หรืออาจเป็นเพราะ มีความเห็นต่างทางการเมืองกับเยาวชนเหล่านั้น
ประเด็นที่ 2
เห็นว่าควรครอบคลุมจนถึงสิ้นปี 2565 ไม่ควรนิรโทษถึงวันกฎหมายประกาศใช้ (ราวปลายปี 2568) มิฉะนั้นจะเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มที่กำลังวางแผนล้มรัฐบาลล่วงหน้า จะทำให้คนเหล่านั้น ไม่เกรงกลัวกฎหมาย
เชื่อว่าสภาผู้แทนฯจะรับเฉพาะร่าง พ.ร.บ.เพียง 2 ร่าง คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ไม่รวมคดี ม.112 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข) และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว แม้ทั้ง 2 ร่างจะไม่รวมคดี 112 แต่ก็จะมีประชาชนได้รับการปลดล็อกจากการนิรโทษกรรมครั้งนี้สูงถึง 3,254 คน (กลุ่มพันธมิตรฯ ประมาณ 200 คน, คนเสื้อแดง ในช่วงการชุมนุม นปช. ประมาณ 1,150 คน, กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ประมาณ 221 คน และกลุ่มประชาชนคนรุ่นใหม่ ในช่วงการชุมนุมกลุ่มราษฎร 2563-2564 ประมาณ 1,683 คน)