คยอในวัย 58 ปี มีความใกล้ชิดกับผู้นำสูงสุดของเผด็จการทหาร ที่ยึดอำนาจการปกครองเมียนมาในปี 2564 ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ทั้งนี้ ลิลลี่ยังถูกกล่าวหาว่าเธอเป็นผู้แจ้งข่าวแก่กองทัพเมียนมาด้วย
หลังจากเหตุยิงศีรษะคยอด้วยอาวุธปืน ชาย 2 คนถูกจับกุมตัว และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารเธอ ทั้งนี้ มีการกล่าวหาว่าชายทั้ง 2 ราย เป็นสมาชิกในกลุ่มกองโจรในเมืองที่ต่อต้านกองทัพ อย่างไรก็ดี ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการจับกุมตัวชายทั้งสอง มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า ญาติของเขาทั้ง 2 คนกลับถูกฆ่าตาย โดยในรายงานระบุว่าเป็นความพยายามในการล้างแค้น
การสังหารคยอถือเป็นครั้งล่าสุดในการลอบสังหาร ต่อผู้สนับสนุนเผด็จการทหารที่มีชื่อเสียง โดยช่วง 4 วันก่อนที่คยอจะถูกยิง ทินลวิน ผู้สนับสนุนชาตินิยมและผู้สนับสนุนระบอบทหารชื่อดังในเมียนมา ถูกยิงที่ศีรษะจนเสียชีวิตขณะอยู่ในร้านน้ำชาที่ย่างกุ้ง เมืองหลักของเมียนมา ทั้งนี้ มีรายงานว่าทินลวินกำลังหลบซ่อนตัวหลังเขารอดชีวิตจากเหตุยิงเมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว
คยอตกเป็นเป้าหมายถูกยิงในช่วงเย็นของวันที่ 30 พ.ค. ขณะเธอจอดรถไว้นอกบ้านของเธอที่เมืองย่างคิน นครย่างกุ้ง โดยรายงานในตอนแรกระบุว่าเธอถูกฆ่าตาย หลังจากมีการส่งต่อภาพของเธอนอนคว่ำหน้าอยู่ในรถของเธอ ซึ่งถูกแชร์ไปบนโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤต และอยู่ในอาการโคม่าจนกระทั่งเสียชีวิตในช่วงวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แถลงการณ์ของเผด็จการเมียนมาระบุว่า เหตุลอบยิงในครั้งนี้เป็น "การยิงผู้หญิงผู้บริสุทธิ์อย่างไร้มนุษยธรรม" นอกจากนี้ องค์กรสนับสนุนเผด็จการทหาร 17 แห่ง ออกแถลงการณ์ประณามการสังหารในครั้งนี้ โดย มะบะธา องค์กรชาวพุทธแนวชาตินิยมหัวรุนแรงของเมียนมา เรียกร้องให้มีการรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้นกว่านี้
ชาย 2 รายที่ระบุว่าเป็นสมาชิกของกองกำลังเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านติดอาวุธในย่างกุ้ง ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือยิง ทั้งนี้ ควงซาร์นีไฮ เป็นชายที่ถูกระบุตัวจากภาพกล้องวงจรปิด และ คยอธูรา เป็นอีกผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดี โดยทหารเมียนมาอ้างว่าพวกเขารับสารภาพ นอกจากนี้ กองทัพยังเมียนมากล่าวหาว่า ดีไนน์ลินน์ ผู้นำนักศึกษาคนสำคัญอยู่เบื้องหลังเหตุยิงในครั้งนี้
คยอเกิดในครอบครัวทหาร มีความใกล้ชิดกับทหารระดับสูง และมักถ่ายภาพร่วมกับทหารคนสำคัญในงานพิธีต่างๆ ของทางการ นอกจากนี้ เพลงหนึ่งของเธอได้กลายเป็นเพลงประกอบอย่างไม่เป็นทางการของเทศกาลสงกรานต์ของเมียนมา
ทั้งนี้ คยอตกเป็นเป้าหมายเพราะเธอเป็นผู้แจ้งข่าวต่อทหาร โดยมีการบอกเล่าว่าเธอได้ถ่ายภาพผู้ประท้วงที่ทำการทุบหม้อและกระทะ เพื่อประท้วงกองทัพเมียนมาในละแวกบ้านของเธอ และเธอได้ส่งมอบภาพดังกล่าวให้กับกองทัพ นำไปสู่การจับกุมตัวผู้ประท้วง เธอยังเคยรายงานเกี่ยวกับคนหนุ่มสาวที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังปฏิวัติต่อกองทัพเมียนนมาด้วย
ไม่กี่เดือนหลังการรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 ซึ่งโค่นล้มพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซานซูจี นั้น คยอได้รับเลือกให้ให้สัมภาษณ์กับ CNN และ Southeast Asia Globe ระหว่างการทำข่าวเมียนมา โดยเธอบอกกับนักข่าวว่าเธอถูกกล่าวหาว่าเธอเป็นสายลับ และมีการโปสเตอร์ประณามเธอว่าเป็นคนทรยศ ปรากฏอยู่บนเสาไฟใกล้บ้านของเธอ เธอยังกล่าวอีกว่าบ้านของเธอถูกทำลาย
“ฉันสนับสนุนกองทัพและยอมรับการรัฐประหาร แต่คนส่วนใหญ่ในละแวกบ้านของฉันสนับสนุนพรรค NLD และบอกว่าพวกเขาต้องการฆ่าฉัน” คยอในช่วงที่ยังมีชีวิตกล่าวกับผู้สื่อข่าว “คนเหล่านี้ต้องการทำลายชาติ” ทั้งนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดของเหยื่อระบุว่า ผู้มีชื่อเสียงในเมียนมาบางคนรังเกียจเธอ เพราะคยอเป็นผู้แจ้งข้อมูลแก่กองทัพเมียนมาว่า คนดังคนไหนเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารบ้าง เพื่อให้พวกเขาถูกจับกุมตัว
ในอีกทางหนึ่ง แหล่งข่าวระบุว่าการสังหารคยอได้แพร่กระจายความกลัวไป ในหมู่คนดังชาวเมียนมาที่สนับสนุนกองทัพ บางคนถึงกับประกาศว่าพวกเขาจะไม่สนับสนุนกองทัพอีกต่อไป เพราะพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครอง และมือปืนสามารถมาถึงหน้าประตูบ้านของพวกเขาได้ทุกเมื่อ พวกเขายังได้เตือนกันและกันให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างระมัดระวัง และพยายามเก็บตัวเงียบเอาไว้
ที่มา: