วันที่ 8 เม.ย. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางถึงสหกรณ์กองทุนสวนยาง ฉลอง น้ำขาวพัฒนา จำกัด ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเมื่อเดินทางถึงนายกฯ ได้เข้ามาดูโรงรมยาง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนกระบวนการรับน้ำยาง ซึ่งรับมาจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ เพื่อแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน
ด้านประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางฉลอง น้ำขาวพัฒนาจำกัด รายงานกระบวนการรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรของสหกรณ์มาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน โดยนายกฯ ได้ดูกระบวนการเทน้ำยา ที่รับซื้อจากเกษตรกรสวนยาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต ก่อนที่จะออกมาเป็นยางแผ่นรมควัน พร้อมกันนี้นายกฯ ยังได้หยิบยางพารารมควันขึ้นมาโชว์ด้วย
จากนั้นนายกฯ ได้สอบถามประธานสหกรณ์กองทุนฯสอบถามว่าราคายางว่ากิโลกรัมละเท่าไหร่ โดยประธานสหกรณ์กองทุนฯ ตอบว่ากิโลกรัมละ 85 บาทต่อกิโลกรัม และราคายางไม่สมควรจะน้อยกว่านี้ ถ้าน้อยกว่านี้จะหันไปปลูกทุเรียน ปลูกปาล์มแทน ราคายางเท่านี้อยู่ได้พี่น้องพอใจ เมื่อก่อน 3 กิโลกรัม 100 บาท
นอกจากนี้นายกฯ ยังสอบถามว่าต้นทุนการผลิตเท่าไหร่ โดยประธานสหกรณ์กองทุนฯ ตอบว่าต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 7 บาท ด้านายกฯ กล่าวว่า ราคายาง 85 -90 บาทต่อกิโลกรัม
จากนั้นนายกฯ หารือประเด็นยางพาราและผลผลิตทางการเกษตร และพบปะกับเกษตรกรชาวสวนยาง โดย บรรจงกิจ บุญโชติ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรระดับจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวขอบคุณ นายกรัฐมนตรี รมว.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันผลักดันราคายางพาราให้สูงมากกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรหมดหนี้หมดสินก็เพราะรัฐบาลนี้ที่ทำมาถูกทาง ก็ขอให้สู้ต่อไป อย่าไปฟังประเภทรถมอเตอร์ไซต์เก่าๆ ที่ขี่ไม่ได้แล้ว สตาร์ทมาก็รู้ว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ แต่ขี่ไม่ได้แล้ว ขอรัฐบาลจงเดินหน้าต่อ ซึ่งในจังหวะนี้ทำให้ นายกฯและคณะถึงกับยิ้มและหัวเราะ ก่อนที่นายกฯจะรับฟังข้อเสนอจากตัวแทนเกษตรกร ที่ขอให้ต่อสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน ที่หมดอายุไปตั้งแต่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา และขอให้แก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน
โดย นายกฯกล่าว วันนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มาดูขั้นตอนการผลิตยาง ก็ดีใจที่ได้มาเพราะตั้งใจจะมาอยู่แล้ว แต่ว่าจังหวะไม่ค่อย แต่วันนี้เมื่อราคายางดีแล้วก็มาฟังความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรให้ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลเรามีความตั้งใจจริงที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องชาวใต้ทุกคน ไม่ใช่แค่ในมิติของการท่องเที่ยวอย่างเดียว เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำมันปาล์ม หรือเรื่องของยางพารา เราเป็นประเทศมหาอำนาจของยางพารา คุมการผลิต 30% ของยางพาราทั่วโลกฉะนั้นเรื่องของยางเถื่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ไปสั่งการหรือห้ามนำอย่างยางเถื่อน แต่มีอีกหลายมิติที่รัฐบาลจะต้องช่วยกันทำ ไม่ใช่แค่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเดียว หรือกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร เป็นผู้ควบคุมการนำเข้าหรือเป็นฝ่ายความมั่นคง ที่มีทหารมีส่วนช่วยในการสกัดยางเถื่อนที่จะเข้ามา ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็รถบรรทุกประมาณ 150 คันจะเข้ามาทางด่านสังขะบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พอเข้ามาไม่ได้ก็ไปที่อ.แม่สอด จังหวัด และก็หมุนไปเรื่อยๆหากเราสามารถส่งสัญญาณไปยังทั่วโลกว่าไม่มียางเถื่อนเข้ามา ก็จะเป็นการให้ความมั่นใจว่าจะมีซัพพลายในตลาดน้อยลง และแน่นอนว่าราคายางจะขึ้น แต่คนที่ยังทำผิดก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นเราก็ต้องทำงานกันอย่างเข้มงวดก็จะพยายามทำให้ราคายางดีขึ้นต่อไป