ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางมรสุมที่พัดรัฐบาลในสภาวะวิกฤตที่สะท้อน ‘ภาวะผู้นำ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม โดยเฉพาะการรับมือไวรัสโควิด-19 ที่กองเชียร์ของ 'ประยุทธ์' ที่เชียร์มาตั้งแต่ยุค คสช. ต่างออกมาส่ายหน้า อีกทั้งกรณีกระแสโจมตี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่ถูกวิจารณ์หนัก

หลังเพจดังออกมาแฉว่ามีผู้ติดตาม ร.อ.ธรรมนัส ไปเกี่ยวพันกับการกักตุนหน้ากากกว่า 200 ล้านชิ้น จนทำให้เกิดกระแสให้ปรับ ครม. ปลด ร.อ.ธรรมนัส ออก อีกทั้งกระบวนการสืบสวนสอบสวน ถูกสังคมวิจารณ์ถึง ‘ข้อกังขา’ ต่างๆ ด้วย

มาพร้อมกับกระแสข่าวการ ‘รัฐประหาร’ ที่มีอยู่เนืองๆ มาตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อน นับตั้งแต่ยุบพรรคอนาคตใหม่ หลังเกิดปรากฏการณ์แฟลชม็อบของนิสิตนักศึกษาขึ้นมา และเป็นไฟลามทุ่งไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปจนถึงระดับมัธยมด้วย รวมทั้งการออกมาปล่อยกระแสข่าวของบรรดาเซเลปการเมือง ที่กระพือข่าว ‘รัฐประหาร’ หวังสกัดไว้ รวมทั้งฝั่งเชียร์รัฐบาลที่หวัง ‘ล้างไพ่’ ทางการเมืองใหม่ด้วย ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของรัฐบาล ยิ่งตอกย้ำให้เสียงการทำรัฐประหารยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้กระสุนตกไปที่ ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ทันที

โดย พล.อ.อภิรัชต์ เก็บตัวเงียบมาตั้งแต่นำ 5 เสือ ทบ. ทดสอบร่างกาย เมื่อ 21ก.พ.63 จบท้ายด้วยการจูงสุนัขชื่อ ‘Zebra’ หลัง จนถูกวิจารณ์หนักนำ ‘สุนัข’ มาเทียบกับ ‘คน’ โดยเฉพาะ ‘คนชังชาติ’ ตามที่ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ส่งข้อความมายังคนใกล้ชิดและสื่อ ตอนหนึ่งว่า

“ถ้าเจ้าซีบร้า สุนัขทหารตัวนี้ พิมพ์ทวิตเตอร์เป็น เล่นเฟซบุ๊ก ไอจี ได้ คงสนุกแน่ ถ้าเจ้าซีบร้า อ่านหนังสือออก มันคงมองเห็นพวกที่โพสต์ข้อความ ที่สร้างให้เกิดความเกลียดชังกัน ในระหว่างเพื่อนมนุษย์ โพสต์ข้อความ ชังชาติ และเจ้าซีบร้า ก็คงอยากเป็นซีบร้า เหมือนเดิม คงกลัวที่จะกลายเป็นมนุษย์ พวกนั้น”

กว่า 3 สัปดาห์ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ทำงานเงียบๆ ในฐานะ ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 โดยล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ 2มี.ค. 2563 ในการประชุม 7 เสือกลาโหม ผ่านคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล ในการจัดทำโผทหารนายพลกลางปี เม.ย. 2563 อีกทั้งนำประชุมหน่วยขึ้นตรง ทบ. ที่ บก.ทบ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 4มี.ค. 2563 และร่วมพิธีปิดการฝึก Cobra Gold 2020 ที่สนามฝึกบ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ยังไม่ได้ออกงานพบสื่อแต่อย่างใด

อีกทั้งมีรายงานว่า ผบ.เหล่าทัพจะงดให้สัมภาษณ์ช่วงนี้ โดยจะให้การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาและรับมือไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการแก้ปัญหาไฟป่า รวมทั้งการรับมือกับภัยแล้งก่อน

หากย้อนความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีความแนบแน่น ผ่านการกรำศึกทางการเมืองมาด้วยกัน ตั้งแต่สมัยกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงปี 2552-53 พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ.

ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผู้การ ร.11 รอ. ที่ตามมาด้วยปฏิบัติการภาพจำ พล.อ.อภิรัชต์ ในการยึดคืนสถานีดาวเทียมไทยคมจากคนเสื้อแดง ที่สวมเครื่องแบบฟูลออปชัน

อีกวีรกรรมของ พล.อ.อภิรัชต์ สมัยอยู่ ร.11 รอ. เคยตั้งโต๊ะแถลงข่าวโจมตี ‘เสธ.แดง’ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล แกนนำคนเสื้อแดง ที่ออกมาโจมตี ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะเป็น ผบ.ทบ. เมื่อปี 2553 อีกทั้งเคยกระซิบข้างหู ‘จักรภพ เพ็ญแข’ กรณีพาดพิงสถาบัน

ประยุทธ์ อภิรัชต์ ทหาร 110 ปีกองทัพภาคที่ 1_200113_0001.jpg

ซึ่งวีรกรรมเหล่านี้ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ถูกเด้งเข้ากรุสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยถูกไปเป็น ผบ.พล.ร.11 ฉะเชิงเทรา และ ผบ.มทบ.15 เพชรบุรี ทำให้หลุดเส้นทางเหล็กไป จนมาถึงโผโยกย้ายกลางปี เม.ย. 2557

ก่อนรัฐประหาร 1 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ปีสุดท้าย เป็นผู้ผลักดัน พล.อ.อภิรัชต์ กลับสู่เส้นทางเหล็ก ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ที่คุมพื้นที่ กทม. จากนั้นขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. จนขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในยุคที่ดุลอำนาจในกองทัพเปลี่ยนไป หมดยุค ‘บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ’ ที่ถูกสลายขั้วไปหมด ถูกแทนที่ด้วย ‘ทหารคอแดง’ นั่นเอง

ย้อนกลับไป 2เม.ย.2562 ผ่านมาเกือบ 1 ปีที่ พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับ ‘รัฐประหาร’ โดยเป็นช่วงหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ได้ไม่นาน และอยู่ระหว่างที่รอ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

อภิรัชต์

รวมทั้งก่อนการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง ‘สัญญาณ’ ในเวลานั้นก็แน่ชัดแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ รีเทิร์น นั่งนายกฯ อีกครั้ง แม้พรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 แต่ได้เก้าอี้ ส.ส. ลำดับที่ 2 แต่ได้จัดตั้งรัฐบาล ก่อนจะใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลนาน 3 เดือน โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้กล่าวประโยคสำคัญว่า “ปัจจุบันการทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่ายทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์” พร้อมกับชี้ถึง ‘ต้นเหตุ’ ที่จะนำไปสู่การรัฐประหารอีกด้วย

“ต้นเหตุของการเกิดรัฐประหารในทุกยุคทุกสมัย แตกต่างกันซึ่งไม่ได้เกิดจากฝ่ายการเมืองเสมอไป แต่การทำรัฐประหารสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือประเทศไม่มีใครควบคุมได้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ รวมถึงตำรวจมีการใช้อาวุธมีคนออกมาต่อสู้ประชาชนล้มตาย ถามว่าเมื่อถึงตรงนั้น กองทัพจะยืนอยู่ตรงไหน จะให้ยืนดูประชาชนต่อสู้กันจนเกิดสงครามการเมืองหรือไม่ การใช้กองกำลังทหารเข้าควบคุม ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการปฏิวัติรัฐประหาร ทุกอย่างมีขั้นตอนของตัวเอง ซึ่งอาจเกิดความวุ่นวาย ขั้นตอนแรกก็คือตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในฐานะเจ้าพนักงานต้องเข้าไปควบคุมและถ้าหากบานปลาย ก็เป็นตำรวจอีกเช่นกัน จนไปถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน เมื่อประกาศแล้วก็ต้องพิจารณาดูว่า ดีกรีพอหรือไม่ ซึ่งอาจจะจนถึงขั้นประกาศกฎอัยการศึก เท่านี้ก็น่าจะแก้ไขได้แล้ว” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า หลังจากเกิดปรากฏการณ์แฟลชม็อบและขยายวงตามที่เป็นข่าว ในส่วนของทหารก็มีการเตรียมรับมือม็อบที่อาจเกิดขึ้นมา โดยเป็นม็อบที่อาจขยายตัวขึ้นมาจากกรณีแฟลชม็อบ แต่ในกระบวนการทำงานของฝ่ายความมั่นยังคงเน้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก เว้นแต่ในกรณีที่ตำรวจเอาไม่อยู่เท่านั้น จึงทำให้กระแสข่าวรัฐประหารถูกกระพือมากยิ่งขึ้นด้วย

สปอตไลต์ส่องมายัง พล.อ.อภิรัชต์ จึงทำให้ถูกจับตาว่า ‘ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย’ หรือไม่ โดย พล.อ.อภิรัชต์ เป็นบุตรชาย ‘บิ๊กจ๊อด’ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สูงสุด ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ในยุค รสช. ที่ทำรัฐประหาร ‘น้าชาติ’ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ เคยระบุว่า มีคุณพ่อเป็นแบบอย่างในการเป็นทหาร และเห็นวิกฤตต่างๆ ตั้งแต่สมัยคุณพ่อด้วย เรียกได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ นั้น ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’

“ผมเคยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาตั้งแต่สมัยของคุณพ่อจนมาถึงสมัยของตนเอง เมื่อมีคนมาต่อสู้กันบนถนนคนที่เรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตย นักการเมือง ก็หอบลูกเมียไปอยู่ต่างประเทศ ตนเป็นคนพูดตรงไปตรงมา ไม่มีใครอยู่ประเทศไทย เขาไปนั่งดูอยู่ที่ต่างประเทศ และดูว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะสงบแล้วก็กลับมา ส่วนคนที่อยู่ก็ต้องสูญเสีย ทั้งทหารและประชาชน ประชาชนที่เสียชีวิตก็ไม่มี หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรคคนมีเงิน คนมีชื่อเสียง” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562

ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ ก็ไม่เคยปฏิเสธว่าจะทำรัฐประหารหรือไม่ แต่ได้ทิ้งวาทะสำคัญไว้เมื่อ ต.ค. 2561 หลังขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในเดือนแรกว่า “ผมหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการเมืองอย่าเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก” หลังสื่อถามว่าหากเกิดวิกฤตจริงๆ ทหารจะออกมาปฏิวัติหรือไม่

อภิรัชต์

ผ่านมากว่า 3 สัปดาห์ที่ พล.อ.อภิรัชต์ นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว ท่ามกลางการเมืองที่ระอุ นับตั้งแต่ศาล รธน. วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ. 2563 จนนำมาสู่การเกิดแฟลชม็อบขึ้น อีกทั้งการชุมนุมมีข้อความละเอียดอ่อนทางการเมือง ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า มีการนำเรื่อง ‘หมิ่นสถาบัน’ เข้าไปขับเคลื่อน

ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ไม่ได้ออกมาแอ็กชันใดๆ

อีกทั้งรอยร้าวที่เป็น ‘สนิมเนื้อใน’ ภายในรัฐบาล หลัง ส.ส.บางส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ขู่ให้พรรคถอนตัวจากการเป็นรัฐบาล พร้อมเปรียบว่า ‘เลิกพายเรือให้โจรนั่ง’ หลังเกิดกรณีหน้ากากอนามัย กับ ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นมา

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับข่มกลับ “ก็ถอนไปสิ” จนต้องออกมาขอโทษพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ตนปากไวไป และให้เป็นไปตามมติพรรคพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป แต่ก็มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนที่หนุนให้ร่วมรัฐบาล เตรียมออกมาแสดงพลังด้วย เป็นเรื่องก๊กภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่งัดข้อกันอยู่ด้วย เป็นการเมือง ‘สไตล์ ปชป.’ ที่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ‘เรือแป๊ะ’ ลำนี้ จึงต้องจับตา พล.อ.อภิรัชต์ จะมีแอ็กชั่นใดออกมาหรือไม่ ที่แค่เพียงข้อความเดียวก็สะเทือนได้ เพราะออกมาจาก พล.อ.อภิรัชต์ นั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog