โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สังกัดพรรครีพับลิกัน เข้าร่วมการประชุมของสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ในเมืองอินเดียแนโปลิสของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 พร้อมลงนามในคำสั่งถอดถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ หรือ ATT ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการป้องกันและควบคุมการค้าอาวุธผิดกฎหมาย และสมาคมเอ็นอาร์เอเป็นกลุ่มที่ต่อต้านสนธิสัญญา ATT มาตลอด โดยระบุว่าเป็นข้อตกลงที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ผลิตปืนไรเฟิลในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา สังกัดพรรคเดโมแครต เป็นผู้ลงนามรับรองสนธิสัญญา ATT ในนามรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อปี 2013 และประกาศให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงได้ประกาศต่อที่ประชุมเอ็นอาร์เอเมื่อวานนี้ว่า โอบามาเป็นประธานาธิบดีที่ 'แทงตัดขั้วใจ' ประชาชน ยอมให้สหรัฐฯ เสียเปรียบประเทศอื่นๆ ในโลก และเขากล่าวย้ำว่าตนเองและสมาชิกของเอ็นอาร์เอซึ่ง 'สนับสนุนการถือครองปืน' คือ 'ผู้รักชาติ' ที่ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับแก้ไขครั้งที่ 2 (second amendment) เพราะมีการระบุถึงสิทธิในการครองครองอาวุธของพลเรือนอเมริกัน
ทรัมป์ยังย้ำด้วยว่า เขาจะ 'ล้มล้าง' พันธกิจที่ผูกพันกับรัฐบาลสหรัฐฯ จากการลงนามในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาเคยทำเอาไว้ทั้งหมด พร้อมขอให้ประชาชนอเมริกันสนับสนุนเขาอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า
ระหว่างการปราศรัยต่อที่ประชุมเอ็นอาร์เอ ทรัมป์กล่าวติดตลกว่า พรรคเดโมแครตและผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเป็นพวก 'สุดโต่ง' ที่หลงเชื่อแต่ 'ข่าวปลอม' ทั้งยังพยายามจะก่อรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ เขาจึงไม่ต้องการปืนเพื่อป้องกันการรัฐประหาร อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ มีการกำกับดูแลการค้าอาวุธที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญา ATT
ขณะที่เว็บไซต์เอ็นพีอาร์และนิวส์วีกรายงานว่า ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการตามเงื่อนไขของสนธิสัญญา ATT ซึ่งตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องกำกับดูแลและควบคุมการค้าอาวุธระหว่างประเทศไม่ให้ถูกนำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มผู้นำโลกด้านการค้าอาวุธ การกำกับดูแลกระบวนการค้าอาวุธจะช่วยระงับยับยั้งเหตุรุนแรงได้ แต่ทรัมป์วิจารณ์ว่า ประเทศอื่นๆ ที่เป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ เช่น รัสเซีย จีน ก็ไม่ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ
อย่างไรก็ตาม เรเชล สตอห์ล ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพสติมสัน ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ เตือนว่า การถอดถอนสหรัฐฯ จากการเป็นภาคีสนธิสัญญา ATT อาจนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงและการใช้อาวุธต่อสู้อย่างไร้การควบคุมมากขึ้นในพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งจะยิ่งส่งผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของอีกหลายประเทศ เพราะอาวุธที่ถูกขายให้กับผู้ซื้อที่คิดว่าปลอดภัย อาจถูกลำเลียงหรือส่งไปขายต่อให้กับกลุ่มติดอาวุธที่ใช้ความรุนแรงได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: