จากการนับคะแนนเสียงการลงประชามติส่วนใหญ่ของออสเตรเลียเมื่อวันเสาร์ มีความปรากฏชัดเจนว่าคะแนนเสียง "เห็นด้วย" ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อการเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียมีเป้าหมายในการตั้งคณะที่ปรึกษาประเด็นชนพื้นเมือง ที่เรียกว่า "สิทธิเสียงของชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา"
ประชาชนออสเตรเลียที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสิทธิเสียงชนพื้นเมือง คิดเป็นคะแนนเสียงประชามติ 60% ต่อผู้เห็นด้วยเพียงแค่ 40% ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียต้องอาศัยเสียงเห็นด้วยจากรัฐทั้งหมดของออสเตรเลียยกเว้นรัฐใดรัฐหนึ่งจาก 6 รัฐ แต่รัฐทั้งหมดกลับปฏิเสธข้อเสนอการปฏิรูปดังกล่าว ด้วยจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยสูงสุดอยู่ในรัฐวิกตอเรียที่ 46% และรัฐควีนส์แลนด์ที่มีคะแนนต่ำสุดเพียง 32%
อย่างไรก็ดี แอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ออกมาปกป้องการตัดสินใจของเขา ที่จะผลักดันให้ออสเตรเลียมีการทำประชามติ และกล่าวว่า "เราต้องแสวงหาหนทางใหม่ไปข้างหน้า ด้วยการมองโลกในแง่ดีแบบเดียวกัน" แอลบานีสยังกล่าวอีกว่า “คืนนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเส้นทาง และไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความพยายามของเราในการนำผู้คนมารวมไว้ด้วยกัน”
พลเมืองที่เป็นชนพื้นเมืองในออสเตรเลียคิดเป็นประมาณ 3.8% ของประชากรทั้งหมด 26 ล้านคนของประเทศ ทั้งนี้ ชนพื้นเมืองออสเตรเลียอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาประมาณ 65,000 ปี แต่พวกเขากลับไม่ได้รับการกล่าวและคำนึงถึงในรัฐธรรมนูญของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ที่ว่าชนพื้นเมืองออสเตรเลีย เป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจมากที่สุดในประเทศ
กลุ่มผู้สนับสนุนพยายามยื่นข้อเสนอให้ออสเตรเลียแก้ไขรัฐธรรมนูญอายุ 122 ปีของประเทศ โดยพวกเขาเชื่อว่าการเพิ่มสิทธิเสียงของชนพื้นเมืองเข้าไปในกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะช่วยให้ออสเตรเลียเกิดความปรองดองกันได้ในหมู่ประชาชนที่หลากหลาย แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสิทธิเสียงของชนพื้นเมือง จะก่อให้เกิดความแตกแยกและไม่มีประสิทธิผล
จากการลงประชามติ 44 ครั้งในออสเตรเลีย นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นในปี 2444 มีเพียงประชามติ 8 ครั้งเท่านั้นที่ได้รับการเห็นชอบจนสำเร็จ อย่างไรก็ดี การลงประชามติในครั้งนี้เป็นการลงประชามติครั้งแรกในออสเตรเลีย นับตั้งแต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งปฏิเสธข้อเสนอ ที่จะเปลี่ยนให้ออสเตรเลียกลายมาเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี 2542
การลงคะแนนเสียงเมื่อวันเสาร์ยังอาจมีนัย ที่ชี้ให้เห็นถึงการปล่อยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในออสเตรเลีย เนื่องจากในช่วงของการรณรงค์ครั้งใหญ่นั้น ออสเตรเลียพบกับการแพร่กระจายข้อมูลเท็จผ่านโซเชียลมีเดียก่อนการลงคะแนนเสียงประชามติ อันก่อให้เกิดความกังวลว่าเสียงของชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นเพียงแค่องค์กรเพื่อการปรึกษาหารืออย่างเดียว จะกลายเป็นสภาที่สามของรัฐสภาออสเตรเลีย และจะทำให้ชาวอะบอริจินได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางมากขึ้น
แอลบานีสยังได้กล่าวถึงกรณีการปล่อยข้อมูลเท็จ และวิพากษ์วิจารณ์สื่อต่างๆ ที่เขากล่าวว่า ได้นำการอภิปรายต่อประเด็นลงประชามติออกไปจากประเด็นหลัก “เราได้พูดคุยกัน รวมถึงสื่อสำนักต่างๆ ที่อยู่ในห้องแถลงข่าวนี้ เกี่ยวกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้อง กับสิ่งที่ปรากฏบนบัตรลงคะแนนคืนนี้” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แสดงความผิดหวังหลังจากประชามติในครั้งนี้ ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบ
ที่มา: