เริ่มด้วยคดีที่สร้างความฮือฮาในแวดวงการเมือง คดีแรก 7 มี.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในฐานะผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) กรณีกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติ ได้เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี สมควรเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ
โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่าด้วยมติด้วยมติเอกฉันท์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ได้เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี สมควรเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองของไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพอันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐและมีพระบรมวงศานุวงศ์ใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์แต่มิได้ทรงปกครองต้องถูกเซาะกร่อนทำลาย บ่อนทำลายให้เสื่อมทราม
"การนำสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์มาฝักใฝ่พรรคการเมืองเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นกลางทางเมือง อยู่เหนือการเมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเสื่อมโทรม และจะก่อให้เกิดการตำหนิติเตียน ความไม่สมัครสมานสามัคคีระหว่างเจ้านายกับราษฎร ซึ่งขัดต่อรากฐานหลักการการปกครองของประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข"
ขณะเดียวกัน ศาลยังเห็นว่า คนไทยทั่วไปเชื่อได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยที่เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติย่อมนำมาสู่ความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยลให้ปรากฏผล มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงสถานะที่จะอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางทางการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดทราม อ่อนแอลงเข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามมาตรา 92 วรรคสอง
สำหรับประเด็น คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 92 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ ศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงเห็นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่กระทำความผิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ จำนวน 13 คน นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
คำวินิจฉัยดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปไม่ถึง 20 วัน เป็นผลให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักษาชาติทั้งหมดที่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง พ้นจากสถานะผู้สมัคร ส.ส.ในทันที
11 ก.ย. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย
ทั้งนี้ศาลยังชี้ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1)
โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น.นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4 ) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98 (15)หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ไม่เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา16(6) และมาตรา 98 (15) เนื่องจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
คำวินิจฉัย 2 คดีดังกล่าวเป็นผล พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แม้ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายในสภาฯ โจมตีประเด็นคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี
23 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 เสียงให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ก่อนจะเข้าไปประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพียง 2 วัน จากกรณีที่ กกต.ร้องขอให้ศาลพิจารณา ว่านายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 101(6)ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่
ส่วนคดีที่คล้ายกับนายธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ให้รับคำร้องกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือในหุ้นกิจการสื่อมวลชนไว้พิจารณา โดยมีมติรับคำร้องทั้งสิ้น 32 คน ทว่าศาลไม่ได้มีมติให้ ส.ส.กลุ่มนี้หยุดปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับนายธนาะร
โดยศาลระบุเหตุผลว่า กรณีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเพียงเอกสารประกอบแบบคำร้องเท่านั้น ซึ่งศาลจะต้องหาข้อยุติต่อไป ดังนั้นจึงไม่เข้าเงื่อนไขให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต่างจากนายธนาธรที่ผ่านการสอบสวนจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนอีก 9 ส.ส.เบื้องต้นตรวจสอบแล้วไม่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อสารมวลชน จึงไม่เข้าข่ายรับคำร้องไว้พิจารณา
ต่อเนื่องในคดีถือหุ้นสื่อ คดีที่นายธนาธร เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นสื่อในบริษัทวี - ลัค มีเดีย จำกัด
ทั้งนี้ศาลวินิจฉัยด้วยมติ 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่านายธนาธรไม่ได้โอนหุ้นดังกล่าวในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันสมัครับเลือกตั้ง และนายธนาธร ในฐานะผู้ถูกร้องยังถือหุ้นสื่อในวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นสมาชิกภาพของนายธนาธร จึงถือว่าสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
เป็นผลให้นายธนาธรสิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ทันที แม้นายธนาธรจะเข้าไปร่วมประชุมสภาฯได้เพียง 1 วันก็ตาม
13 พ..ย. 2562 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทย สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(6) หรือไม่ว่า จากกรณีต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่นลงโทษประหารชีวิต ในคดีจ้างวานฆ่านายสุชาติ โคตรทุม ปลัด อบจ.ขอนแก่น และให้คุมขังนายนวัธ ไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งโทษประหารชีวิตรุงแรงกว่าจำคุก แม้ศาลจะปรับโทษให้เป็นจำคุกแต่ก็ยังถือว่าผู้ถูกร้องนั้นมีโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลอยู่ดี
ดังนั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเป็นสมาชิกภาพส.ส.ของนายนวัธ สิ้นสุดลงตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่คือวันที่ 13 ต.ค. 2562 ส่วนตำแหน่งที่ว่างลงให้นับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยคือวันที่ 13 พ.ย.นี้ พร้อมให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดเลือกตั้งภายใน 45 วันนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลให้มีการจัดเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างลงในจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 ท้ายที่สุด นายสมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยชนะนายธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เป็นผลให้พรรคเพื่อไทยเหลือ ส.ส.จำนวน 136 คน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง รวมมีส.ส.ทั้งหมด 260 เสียง
27 ส.ค. 2562 เป็นอีกคดีเกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฐมนตรี แม้ผู้ถูกร้องจะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้วก็ตาม โดยศาลอ่านคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว นับแต่วันที่ยื่นลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2562 หลังเห็นว่า การที่คู่สมรสมีการซื้อหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเพิ่มอีก 800 หุ้น หลัง นพ.ธีระเกียรติ เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าข่ายเป็นการถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ จึงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 และมาตรา184 (2) และมีผลให้ต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเวลา 2 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160
โดยในส่วนของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่าการถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐก่อนการเข้าดำรงตำแหน่ง ไม่ถือว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
ผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าว นพ.ธีระเกียรติได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดย นพ.ธีระเกียรติ ระบุว่า เคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแม้จะบอกว่าหุ้นมีไม่มาก 1 หุ้นก็มีไม่ได้ และเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน การสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ว.ก็จะมีการเข้าชื่อ ส.ส.และ ส.ว.เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ว.อีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง