ไม่พบผลการค้นหา
“เครือข่ายชาติพันธุ์ คณะก้าวหน้า – ส.ส.พรรคก้าวไกล” ร่วมเวที มช. ถก “สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ” ชี้ กฎหมายกำลังกลายเป็นเครื่องมือ รับใช้ชนชั้นนำและนักธุรกิจ เพื่อแย่งชิงทรัพยากรคนในชุมชน

ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิของชาติพันธุ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดย เล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ทนายความและคณะทำงานเครือค่ายชาติพันธุ์ คณะก้าวหน้า กล่าวถึงปัญหาการรับรองสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐธรรมนูญไทยว่า ชุดความคิดในการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรมป่าไม้กับคนในชุมชนคือ ในอดีตชนชั้นนำใช้กฎหมายเพื่อเน้นการอนุรักษ์ป่าและไม่ต้องการให้คนอยู่กับป่า เพราะต้องการรักษาป่าไว้ให้เป็นพื้นที่สวยงามทางธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเรื่องการแสดงความเป็นอารยะของตัวเอง แสดงให้สังคมโลกเห็นถึงความเป็นนักอนุรักษ์ป่าไม้ ตามแบบแนวคิดของสังคมตะวันตก จากนั้นก็เริ่มขยายฐานความคิดต้องเอาคนออกจากป่า เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มคนชนชั้นกลาง ผ่านการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตอุทยานแห่งชาติ และหลังการรัฐประหารของ คสช. ปี พ.ศ. 2557 การเอาคนในชุมชนออกจากพื้นที่ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ทหารมีความชอบธรรมในสังคม ผ่านทางนโยบายทวงคืนผืนป่า

รัฐไม่เคยสนองข้อเรียกร้อง

เล่าฟั้ง กล่าวอีกว่า งบประมาณที่ได้รับมากที่สุดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า แต่สิ่งที่สะท้อนเรื่องเหล่านี้ก็คือ ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา งบประมาณเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าเพิ่มขึ้น แต่ผืนป่าในประเทศไทยลดลง ทั้งที่หนึ่งในโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าคือ การนำคนออกจากป่า แล้วเมื่อมาพิจารณาตามพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณจะเห็นว่า พื้นที่ไหนที่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังไล่รื้อคนออกจากป่า พื้นที่นั้นก็จะได้รับงบประมาณมากกว่าพื้นที่ ๆ ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกับคนในชุมชน

“กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้กำลังเป็นเครื่องมือจัดสรรผลประโยชน์ในทรัพยากร ในหมู่ชนชั้นนำและนักธุรกิจมากกว่ารักษาผืนป่าให้ประเทศชาติ ฝ่ายรัฐพยายามใช้เครื่องมือผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติหรือ คทช.ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่สนใจว่าคนในชุมชนจะอยู่มาก่อนเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่

"แต่ให้ถือว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นของรัฐทั้งหมด แล้วจะให้คนในชุมชนเช่าและอนุญาตให้ใช้ชั่วคราวเท่านั้น แม้ว่าคนในชุมชนจะอยู่มากี่ร้อยกี่พันปีก็ตาม แน่นอนว่ คนในชุมชนหลายพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วยเหตุ เพราะพวกเขาก็เสนอข้อเรียกร้องเรื่องโฉนดชุมชนอยู่แล้ว กลับได้รับการตอบรับจากภาครัฐค่อนข้างน้อยและยังไม่นำไปสู่อะไรเลย” เล่าฟั้ง กล่าว

ต้องผลักดันสิทธิชุมนุมลงใน รธน.

ด้าน มานพ คีรีภูวดล ส.ส. พรรคก้าวไกล แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ กล่าวว่า สองเรื่องสำคัญที่ต้องทำในระยะยาวคือ จะทำอย่างไรที่จะเขียนเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิท้องถิ่นเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ และผลักดันการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนให้เป็นบทบาทสำคัญ ในการกำหนดนโยบายของตัวเองเพื่อสะท้อนปัญหา และแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์

“ตอนนี้ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ภาครัฐกำลังจะทำให้การแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งหมดไปอยู่ที่ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ผมต้องยกที่ดินของบรรพบุรุษตัวเองไปให้รัฐ แล้วจากนั้นค่อยไปเช่าที่ดินของรัฐ ปัญหานี้จะส่งผลกระทบกับคนอีกนับล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้นต้องผลักดันให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองให้ได้ แล้วนำไปสู่การทำให้เกิดสิทธิชอบด้วยกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์ต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มเดียวกันเพื่อสร้างพลังในข้อเรียกร้อง และเสริมอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลเหตุ เพราะสิทธิของประชาชนไม่เคยถูกหยิบยื่นให้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้องเพื่อให้ได้คืนมา” ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าว

ให้สิทธิคนในชุมนุมเท่าเทียมชนชาติอื่น

ขณะที่ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวถึงกรณีศึกษาจากต่างประเทศเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในที่ดินของชนพื้นเมืองในระบบกฎหมายของประเทศแคนาดาว่า ในปัจจุบันการประท้วงของชนพื้นเมืองกับรัฐบาลกลางของแคนาดาก็ยังมีอยู่

หลายครั้งชนพื้นเมืองปิดเส้นทางรถไฟสายหลักของประเทศเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาลกลาง แล้วในที่สุดนายกรัฐมนตรีของแคนาดาก็มาเจรจากับพวกเขา ทั้งที่ศาลให้อำนาจรัฐบาลใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมและยุติการประท้วงของชนพื้นเมืองได้ ในปี 2557 ศาลฎีกาของประเทศแคนาดามีคำพิพากษาให้ชนเผ่าพื้นเมืองชนะคดี ให้ชนเผ่านี้ได้สิทธิในที่ดินดั้งเดิมของชุมชนกว่า 1,700 ตารางกิโลเมตร 

ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ทำให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ของชุมชน สามารถรับประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลกลางต้องได้รับความยินยอมจากชนพื้นเมือง รวมถึงชนพื้นเมืองมีสิทธิในการปกครองตัวเอง ในฐานะองค์กรสามารถทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลกลางได้อีกด้วย และฐานกฎหมายที่รับรองสิทธิของชนพื้นเมืองแคนาดาได้แก่ สนธิสัญญา รัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกา และแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

“เรื่องเหล่านี้ทั้งหมดมีวิวัฒนาการตามระบอบการเมืองและสังคม ในอดีตศาลฎีกามักมีคำพิพากษาไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลาง ที่รัฐส่วนกลางจะควบคุมกลุ่มชนพื้นเมือง แต่ในปัจจุบันที่กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ศาลฎีกาของประเทศแคนาดามักมีคำพิพากษาให้อำนาจสิทธิแก่ชนพื้นเมืองมากขึ้น ส่วนสำคัญที่สุดคือ การยืนหยัดของชนพื้นเมืองที่ต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกจนถึงปัจจุบัน 

"รวมถึงการที่ชนพื้นเมืองรวมตัวของทั่วประเทศมองกลุ่มตัวเองเทียบเท่าระดับชาติกับรัฐบาลกลาง แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชนแม้แต่ชาวแคนาดาผิวขาว กฎหมายของประเทศแคนาดาเองก็เอื้อต่อการเจรจาต่อรอง และผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมก็มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือ ในการแก้ไขปัญหาไม่ใช่ส่งเสริมความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชนพื้นเมือง” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าว