ไม่พบผลการค้นหา
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง นักลงทุนรอความชัดเจนจัดตั้งรัฐบาล ประธานกรรมการสภาฯ ย้ำบริหารเศรษฐกิจปีนี้ ไม่ง่าย ส่งออกอาจชะลอตัว การจัดตั้งรัฐบาลยิ่งไวยิ่งดี แต่ต้องได้รัฐมนตรีมีคุณภาพ ทำงานได้ทันที

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน หรือ FETCO Investor Confidence Index ใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.72 และเป็นการลดลงจากการสำรวจเดือนก่อนที่พีคสูงสุด หลังจากนักลงทุนทราบผลการเลือกตั้ง แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จ จึงส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน และลดลงในนักลงทุนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนักลงทุนรายบุคคล 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลง เป็นการลดลงชั่วคราว ตามผลการเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน และมีแนวโน้มว่า การจัดตั้งรัฐบาลอาจจะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงไม่เกินครึ่ง และสภาพเช่นนี้น่าจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ

"ผมเชื่อในตลาดทุนยังมองว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะสำเร็จ แม้จะไม่ได้เสียงข้างมาก ส่วนปัจจัยลบเรื่องสงครามการค้าที่ทรัมป์คุยกับจีนใกล้จบ ก็ดูทำให้สถานการณ์การเมืองโลกคลี่คลาย จะติดก็คือเบร็กซิตที่เดตไลน์ยังไม่มี แม้อังกฤษจะขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย. แล้ว แต่เบร็กซิตเป็นความเสี่ยงที่เล็กกว่าสงครามการค้าโลก เพราะเบร็กซิตเป็นปัญหาระหว่างอังกฤษกับยุโรปเท่านั้น แต่สงครามการค้าโลกจะส่งผลกระทบกระบวนการผลิตไปหมด" นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 1/2562 พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.07 ยกเว้นดัชนีตลาดหุ้นมาเลเซีย และกาตาร์ที่ติดลบ ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทย underperformed หรือ เติบโตช้ากว่าที่คาด โดยไตรมาส 1/2562 ดัชนีหุ้นไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.8 ขณะที่ประเด็นเรื่องค่าเงินบาท ไตรมาสแรกแข็งค่าร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และไม่ได้เป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับตลาดหุ้นนัก

สำหรับการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) เงินต่างชาติยังไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยในไตรมาส 1/2562 เงินลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 13,085 ล้านบาท และประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ 


สภาธุรกิจตลาดทุนอัพเดต
  • ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย

"ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลเข้าทุกตลาดทั่วภูมิภาค ยกเว้นประเทศไทย ทั้งที่มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เงินทุนต่างชาติไหลจากที่ผลตอบแทนต่ำไปสู่ที่ผลตอบแทนสูง ซึ่งประเทศไทยมีตรงนี้ ดังนั้นตอนนี้เรื่องเม็ดเงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือจะเข้ามาตอนไหน ซ่ึงนั้นก็น่าจะขึ้นกับทิศทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น"

อย่างไรก็ดี ทิศทางสำหรับตลาดหุ้นไทยในระยะข้างหน้า เรื่องสถานการณ์ทางการเมืองจึงเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนแ���ะฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และหน้าตาของคณะรัฐมนตรีที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ ทำงานได้ทันที 

"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนนี้ นักลงทุนยังรอเรื่องการเมืองให้ชัดเจน ซึ่งกว่าจะมีการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็จะเป็นวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งก็คาดว่า จะเป็นรัฐบาลผสมที่เสียงอาจไม่เกินครึ่ง หรือ เกินครึ่งไม่มาก และไม่รู้จะครบเทอม 4 ปีหรือไม่ ดังนั้น เมื่อได้รัฐบาลแล้ว ก็คาดหวังว่าจะมีรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่มีความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ เป็นคนที่ทำงานได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้งาน อีกทั้งยังต้องทำนโยบายที่สอดประสานกัน ผลักดันประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้ เพราะเศรษฐกิจปีนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย การส่งออกอาจไม่ได้ดีเหมือน 1-2 ปีที่ผ่านมา และการมีรัฐบาลที่ทำงานได้ ย่อมจะทำให้การลงทุนขนาดใหญ่เดินหน้าต่อไปได้ การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว จึงยิ่งดี" นายไพบูลย์ กล่าว

คาดหากตั้งรัฐบาลในเดือน พ.ค. ดัชนีอยู่ในช่วง 1492-1600 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ประเด็นการเมืองสำหรับประเทศไทยตอนนี้คือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ก็มีกฎกติกา กฎหมายต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการเลือกลงทุนต้องดูปัจจัยพื้นฐาน

ประกอบกับล่าสุดมีประกาศใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 5 พ.ค. โดยจะทำให้นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยจากเดิม 300 วัน เป็น 400 วัน ดังนั้น บริษัทต่างๆ ต้องตั้งสำรองค่าชดเชยพนักงานเพิ่มขึ้น และน่าจะมีการบันทึกการตั้งสำรองดังกล่าวในไตรมาส 2/2562 ซึ่งอาจจะมีผลกับรายได้ของบริษัทจดทะเบียนให้ลดลงได้ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการประเมินว่า ในกรณีที่ดีที่สุดหากมีการจัดตั้งรัฐบาลและมีเสียงในสภาใกล้เคียง 300 เสียง จะมีผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ในกรอบ 1705-1812 จุด แต่ถ้าในกรณีเลวร้าย คือจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือน พ.ค. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะอยู่ในกรอบ 1492-1600 จุด

ขณะที่ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงชะลอ และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ทั้งประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ก็มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาแล้วก็มีแนวโน้มชะลอลง ดังนั้นจึงคาดว่า เงินน่าจะไหลไปสู่การลงทุนในสินทรัพย์อื่นนอกตลาดหุ้น โดยถ้าดูตลาดบอนด์ (ตลาดตราสารหนี้) ล่าสุด (22 มี.ค.) พบว่าผลตอบแทนในตราสารหนี้อายุ 10 ปีของสหรัฐต่ำกว่าผลตอบแทนในตราสารหนี้อายุ 10 ปีของไทยแล้ว ซึ่งสถานการณ์นี้จะช่วยสนับสนุนให้เงินไหลเข้าไทยได้ 

ประกอบกับช่วงว่างรายได้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ที่แคบลง ที่น่าจะสนับสนุนให้มีการโยกเงินจากตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น หรืออายุไม่เกิน 1 ปี เข้ามาที่ตลาดหุ้นได้ด้วย 


สภาธุรกิจตลาดทุนอัพเดต
  • เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

"สถานการณ์การลงทุนหุ้นของต่างชาติ ตอนนี้ underweight หรือ ให้น้ำหนักต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก แต่เนื่องจากเรากำลังเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลง รวมถึงส่วนต่างบอนด์ยิลด์ไทยกับสหรัฐแคบลง และบอนด์ยิลด์สหรัฐต่ำกว่าไทยแล้ว และช่องว่างผลตอบแทนตอนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีแล้ว จึงเชื่อว่า มีเงินลงทุนต่างชาติพร้อมจะเข้ามาตลาดหุ้นไทย แต่ที่ยังไม่เข้ามาเพราะเขารอความมั่นใจทางการเมือง ทั้งที่โดยกลไกแล้วเข้ามาได้แล้ว" นายเทิดศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :