ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแถลง พ่อของหญิงซาอุดีฯ ที่หลบหนีจากครอบครัว กำลังเดินทางมาไทย พร้อมยืนยันว่าจะไม่ส่งตัวเธอไปไหนโดยที่เธอไม่สมัครใจ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแถลงว่า พ่อของราฮาฟ โมฮัมเหม็ด มุตลัก อัลกุนุน หญิงชาวซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปีกำลังเดินทางมาไทย และมีกำหนดการจะเดินทางถึงไทยในคืนนี้ (7 ม.ค.) จากนั้น เจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้น และเธอต้องการกลับไปกับพ่อของเธอหรือไม่

นอกจากนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ยืนยันว่า ราฮาฟจะไม่ถูกส่งตัวไปไหนโดยที่เธอไม่สมัครใจ และจะอธิบายเหตุผลการไม่ส่งตัวราฮาฟกับทางการซาอุดีอาระเบีย เพื่อไม่ให้เกิดกรณีกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ด้านโซฟี แมคเนล ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว ABC รายงานว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้พบกับราฮาฟแล้ว พร้อมระบุว่า ราฮาฟปลอดภัย และเธอจะอยู่ภายใต้การดูแลของ UNHCR ประจำประเทศไทย ขณะที่แถลงการณ์ของ UNHCR ที่เผยแพร่ออกมาภายหลังระบุว่า ไม่อาจเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมได้ เพราะการเจรจาถือเป็นความลับที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่า ไทยมีพันธกิจที่ีจะต้องเคารพในหลักการไม่ผลักดันผู้ที่ต้องการขอลี้ภัยกลับไปยังประเทศต้นทาง

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ราฮาฟถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากไม่มีเอกสารการเดินทาง เป็นเรื่องของไทยและซาอุดีอาระเบีย ไม่เกี่ยวกับประเทศที่สาม ดังนั้น ไทยจะส่งตัวราฮาฟไปให้ประเทศที่สามไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ



ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด ลี้ภัย ซาอุดีอาระเบีย

ทำไมราฮาฟจึงหนีจากครอบครัว?

ราฮาฟ เปิดเผยกับ สำนักข่าววอยซ์ออนไลน์ ว่า เธอและครอบครัวได้เดินทางไปคูเวต และระหว่างนั้น เธอได้หลบหนีจากครอบครัวและซื้อตั๋วเครื่องบินจากคูเวตไปยังออสเตรเลีย ซึ่งต้องมารอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่เมื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา เธอถูกเจ้าหน้าที่ยึดพาสปอร์ต ทำให้เธอไม่สามารถขึ้นเครื่องบินต่อไปที่ออสเตรเลีย แม้เธอจะได้รับวีซ่าจากออสเตรเลียแล้ว เนื่องจากครอบครัวของเธอได้แจ้งความว่าเธอหลบหนีไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบิดาหรือพี่ชาย ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายของซาอุดีฯ

ราฮาฟ เล่าว่า เธอถูกครอบครัวขังอยู่ในห้องนานถึง 6 เดือน เพียงเพราะเธอไปตัดผม โดยครอบครัวเธอมองว่า การตัดผมเป็นการทำผิดหลักศาสนา เพราะผู้หญิงไม่ควรตัดผมเหมือนผู้ชาย อีกทั้งยังถูกพี่ชายทำร้ายร่างกาย ขณะเดียวกัน เธอได้เลิกนับถือศาสนาอิสลามแล้ว แต่ครอบครัวของเธอไม่พอใจอย่างมาก และบังคับให้เธอสวมฮิญาบต่อไป เธอจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากประเทศ

ราฮาฟ อธิบายว่า เธอเกรงว่าอาจถูกสังหาร หากถูกส่งตัวกลับประเทศ เพราะครอบครัวของเธอกดขี่เธอมาตลอด และการหนีออกจากบ้านถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เธอถูกจำคุก


ราฮาฟ-โมฮัมเหม็ด-เอ็ม-อัลคูนัน.jpg

ปฏิกิริยาต่อกรณีกักตัวราฮาฟ และกระแส #SaveRahaf

สำนักกฎหมายเอ็น เอส พี ร่วมด้วยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกำลังรวบรวมเอกสารยื่นต่อศาลอาญา เพื่อให้มีการไต่สวนเพื่อให้ทราบว่ามีการกักขังราฮาฟโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากพบว่าเป็นการกักขังโดยมิชอบขอให้ศาลปล่อยตัวราฮาฟโดยทันที เพื่อให้เธอได้เดินทางไปยังประเทศปลายทางตามประสงค์ต่อไป

ด้านฮิวแมนไรท์วอช องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติแผนที่จะส่งตัวให้ราฮาฟกลับประเทศโดยที่เธอไม่สมัครใจ และควรอนุญาตให้เธอเข้าถึง UNHCR เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย โดยอธิบายว่า ผู้หญิงชาวซาอุดีฯ ที่หนีจากครอบครัวอาจได้รับความรุนแรงสาหัสจากญาติ ถูกจำกัดเสรีภาพ และอันตรายอื่นๆ หากพวกเธอถูกส่งตัวกลับประเทศโดยไม่สมัครใจ

ขณะที่แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า ราฮาฟกำลังเสี่ยงอันตรายอย่างใหญ่หลวง โดยเจ้าหน้าที่ซาอุดีฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอ โดยพลการยังละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง

แอมเนสตี้ย้ำว่า ราฮาฟแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกลัวด้านความปลอดภัยของตนเอง หากเธอต้องเดินทางกลับไปหาครอบครัวอาจทำให้เธอถูกดำเนินคดีอาญาในซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากขัดขืนกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลของญาติที่เป็นผู้ชาย ทางการไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อห้าม ไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใดๆ ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริง ว่าจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติทวีตข้อความคัดค้านการส่งตัวราฮาฟกลับประเทศด้วยเหตุผลทางสิทธิมนุษยชน ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ก็รณรงค์ให้ร่วมกันติด #SaveRahaf เพื่อคัดค้านการส่งตัวราฮาฟกลับประเทศ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประพฤติตัวตามหลักสากล ไม่ใช่ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามแดน


ที่มา : Twitter: @rahaf84427714Human Rights Watch, Amnesty International

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :