1 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) วาระพิจารณาญัตติด่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมบังคับใช้อำนาจอย่างล้นเกิน สืบเนื่องจากการอดอาหารประท้วงของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงศ์ 2 เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง โดยมี ส.ส.ฝ่ายค้าน ลุกอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง
ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ทั้งแบม ตะวัน และสิทธิโชค ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ามีความผิด แต่กลับไม่ได้รับสิทธิประกันตัว หากปล่อยสถานการณ์ต่อไป อาจเกิดความสูญเสีย จนกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นกระบวนการฆาตกรรมไปได้
ตนมีประสบการณ์ถูกจองจำโดยไม่มีความผิดในยุค คสช. จากคดีประชามติรัฐธรรมนูญ ถูกจองจำเกือบเดือนแม้ไม่มีความผิดใด ที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่มีผู้มีอำนาจคนใดมารับผิดชอบตนที่ทั้งเสียสภาพจิตใจ สภาพร่างกาย แต่อย่างใด ต่อให้จิตใจเข้มแข็งเพียงใด ก็มีภาวะจิตเสื่อมได้
“จิตใจของฉันยังไม่เข้มแข็งเท่าน้องตะวัน-แบม ที่ออกมาใช้สันติเรียกร้องโดยใช้ชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน เพื่อเรียกร้องแค่ให้กระบวนการยุติธรรมมีความยุติธรรมเท่านั้น”
ด้าน มนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ระบุว่าจากกรณีของตะวัน-แบม ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างมาจาก คสช. นิ่คือการคิดกระดุมเม็ดแรกผิด จนทำให้ประชาชนออกมาประท้วง
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตรา ตั้งแต่ 19 พ.ย. 2563 ถึง 14 พ.ย. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 217 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในกำมือ ใช้กำจัดผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมือง โดยดำเนินคดีไปแล้ว 1,445 คน
“กรณีแบม-ตะวัน กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดิฉันมีลูกสาววัยใกล้เคียงกันกับน้องทั้ง 2 เขาจะมีชีวิตของวัยหนุ่มสาวที่มีความฝัน เป็นความหวังของพ่อแม่ ฝากประธานสภาฯ ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งหาแนวทางในการที่ท่านมีอำนาจอยู่เพียงไม่กี่วัน ให้น้องได้มาสู่โลกแห่งเสรีภาพ แห่งความยุติธรรมของสังคมไทยต่อไป” มนพร กล่าว
รวมถึง ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่อยากให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองขนาดนี้ใช้กฎหมายเล่นงาน หรือใช้กฎหมายอย่างไม่ยุติธรรมอย่างที่เกิดขึ้นกับตะวันและแบม พวกเขามีสิทธิที่จะทำได้ หากประเทศนี้ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
เมื่อ 26 ม.ค. พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันว่ากระทรวงยุติธรรมควรเปิดให้มีการรับฟังความเห็นต่อกรณีต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตศรัทธาไปมากกว่านี้ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมจะเป็นปราการแต่สุดท้ายเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางสังคม
ขณะที่เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) ได้มีตัวแทนภาคประชาชนมายื่นข้อเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทย ในนามของพรรค พวกเราต้องขอขอบคุณพวกเขาเพราะว่าเราถือว่าเสียงของเขามีค่า มีความหมาย เราเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นความหวังของพวกเขาได้ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เป็นรัฐบาลในขณะนี้ และยังไม่มีอำนาจในมือก็ตาม
"แต่สิ่งที่เราหวังได้ในขณะนี้ คือสภาฯ จะยังสามารถพอเป็นประโยชน์ เป็นพื้นที่ให้พวกเราเป็นปากเสียงของผู้มีความคิดเห็นทางการเมือง ส่งเสียงไปถึงรัฐบาล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด"