ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ออนไลน์ข้ามทวีป ประชุมแนวทางการใช้ Traffy Fondue แก้ไขปัญหาคนกรุงเทพฯ

(10 มิ.ย. 65) เวลา 09.00 น. ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินการเรื่องร้องเรียน โดยระบบทราฟฟี่ฟองดูร์ (Traffy Fondue) โดยมี วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะวิทยากร ร่วมให้ความรู้ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร

2006615.jpg

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญปัญหาโครงสร้างของเมืองในระดับเส้นเลือดฝอยเป็นปัญหาที่ต้องเจอในทุก ๆ วัน เช่น ฟุตบาทไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ขยะไม่มีคนเก็บ เป็นต้น โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ผ่านแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เพื่อให้ประชาชนร่วมรายงานปัญหาที่พบในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถรับทราบข้อร้องเรียนได้ทันที ซึ่งเมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้วสามารถแจ้งผลกลับไปยังประชาชนให้รับทราบได้โดยตรงและรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจการดำเนินการให้กับหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ตามแนวทางดังกล่าว จึงได้จัดการอบรมในวันนี้ขึ้น โดยผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้ปฏิบัติงานในการรับเรื่องร้องเรียนจากทุกสำนัก และทุกสำนักงานเขต รวมจำนวน 160 คน 

2006617.jpg

 “ทราฟฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ พัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัยประจำศูนย์เนคเทค สวทช. และเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ มิ.ย.2561 โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า ไฟส่องสว่าง หรือถนนชำรุด โดยเป็นการแจ้งปัญหาในรูปแบบที่มีข้อมูลเพียงพอให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มีภาพถ่าย และตำแหน่งบนแผนที่ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบก็สามารถให้ข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์การแก้ไขปัญหาสื่อสารกลับมาให้แก่ประชาชนได้ นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยังมีระบบบริหารจัดการและติดตามปัญหา บริการข้อมูลทางสถิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนงบประมาณและกำลังคน ซึ่งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถตั้งกลุ่มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาของตนเองได้อีกด้วย

“เราเป็นเจ้าของพื้นที่ ประชาชนเป็นเจ้านายเรา เราต้องรับทุกเรื่องที่เป็นปัญหาของทุกท่าน ซึ่งเป็นปัญหาของเรามากกว่าซึ่งเรายังจัดการได้ไม่ดี ต้องไปประสานงานให้ถูกต้อง และเร่งดำเนินการให้ได้ เราแก้วันนี้ไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ความตั้งใจเราส่งต่อได้ เราอยากทำให้มันดีขึ้นจริง ๆ” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

สำหรับสถานะการดำเนินการระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.-10 มิ.ย. 65 พบว่า ทุกสำนักงานเขตได้มีการเข้าระบบครบ 100% โดยมีการศึกษาการทำงานของระบบด้วยตนเอง และสอบถามผ่านทางไลน์/โทรศัพท์ จากจำนวนเรื่องร้องเรียนเริ่มต้น 1,300 เรื่อง ปัจจุบัน 17,811 เรื่อง เพิ่มขึ้น 13 เท่า โดยในวันที่ 8 มิ.ย. 65 รับเรื่องสูงสุด 2,300 เรื่อง เบื้องต้นพบว่ามีเสียงชื่นชมจากประชาชนในการดำเนินงานแก้ไข โดยมีการแชร์เรื่องราวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนมาก

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับปัญหาการใช้งาน มี 3 เรื่อง คือ 1. การประสานงานกับหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานที่ กทม. ดูแลโดยตรง ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นและแยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน 2. เรื่องระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งได้เน้นย้ำว่าระยะเวลาดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเร็วขึ้น 3.เรื่องทุจริต บางเรื่องมีการระบุข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องแยกหมวดออกมา และเชื่อมต่อแอปพลิเคชันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เราจะดูแลเส้นเลือดฝอยไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ไหน คนที่รู้ปัญหาดีที่สุดก็คือประชาชน ผมว่าเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดหาเครื่องมือ น้อมรับนำไปแก้ไข รวบรวมข้อมูลปัญหาและความคิดเห็นที่ประชาชนแจ้งเข้ามา ผมว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้ใช้แค่เรื่องนี้ ใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกนโยบาย“ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเพิ่มเติม

โดยระหว่างการอบรม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โทรศัพท์ออนไลน์ผ่านระบบทางไกลมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมประชุมพร้อมกับผู้แทนสำนักงานเขต 50 เขต และผู้เข้ารับการอบรมด้วย โดยกล่าวว่า การนำระบบทราฟฟี่ฟองดูว์มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน นับเป็นการปฏิวัติรูปแบบการให้บริการของระบบราชการ ในอนาคตรูปแบบการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะมีมากขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเป็นระบบจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และเหนื่อยน้อยลงด้วย

2006612.jpg

“เมื่อก่อนประชาชนมีเรื่องร้องเรียนต้องมาหาเรา ติดตามเรื่องก็ยาก แต่พอเทคโนโลยีดีขึ้น ก็จะเปลี่ยนเป็นระบบแพลตฟอร์มซึ่งเชื่อมตรงกลาง ทุกคนมาสามารถเข้ามาดูเรื่องได้ ทราฟฟี่ฟองดูว์ก็เป็นแพลตฟอร์มอย่างหนึ่งที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่เขตสามารถเข้ามาดูได้เลย ไม่ต้องรอผู้ว่าฯ ส่งเรื่องไปปลัดฯ รอปลัดฯ ส่งเรื่องไปรองปลัดฯ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลา ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น” ชัชชาติ กล่าว

สำหรับนโยบายรายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม.ผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ นับเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อ ด้านบริหารจัดการดี ซึ่งระบบในการรายงานปัญหาของ กทม.ที่ใช้งานสะดวก สามารถแจ้งและติดตามการแก้ไขปัญหาได้ และได้รับการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของประชาชนจริง

2006611.jpg

ทั้งนี้ กทม.จะต่อยอดระบบการรายงานปัญหาออนไลน์ทราฟฟี่ฟองดูว์ เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยแจ้งปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่การแจ้งปัญหา การติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ กทม. และการดูสถิติการแจ้งเรื่องร้องเรียนทั่วกรุงเทพฯ โดยขยายผลเปิดรับประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคตข้างหน้าจะมีการเพิ่มหัวข้อต่าง ๆ อาทิ “ส่งต่อ” และ “ร่วมแก้ไข” ซึ่งการขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอก การแสดง “ระยะเวลาดำเนินการ” และเพิ่มประเภทเรื่องร้องเรียน “ทุจริต” ขึ้นมาอีกด้วย หัวใจของความสำเร็จของระบบนี้ คือ ความร่วมมือของประชาชน และความตั้งใจจริงของภาครัฐในการแก้ปัญหา การพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้เพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีของเราทุกคน

2006610.jpg

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภิมุข สิมะ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศนิ จิวจินดา สิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร