เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. ออกแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่อง การไล่ล่าผู้เห็นต่างที่ลี้ภัยในต่างประเทศ ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ส่งผลให้บุคคลถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีหรือบาดเจ็บล้มตาย หากแต่ยังส่งผลให้บุคคลต้องลี้ภัยไปต่างประเทศจำนวนมากเพราะความที่สังคมและกฎหมายไทยไม่มีที่ทางให้กับความเห็นต่างมากพอ
ขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อยู่ในสภาวะที่จะผดุงความยุติธรรมให้ได้ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก หากแต่ยังต้องคอยหลบหนีการไล่ล่านอกกระบวนการตามกฎหมายซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา อย่างน้อย 8 รายที่สูญหายและเสียชีวิต
โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ติดตามเรื่องการไล่ล่าผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวขัดต่อหลักการและกระบวนการยุติธรรม หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และหลักการคุ้มครองผู้ลี้ภัย จึงมีข้อเรียกร้องไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. รัฐบาลไทยต้องดำเนินการกับผู้ลี้ภัยตามหลักการและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ต้องให้สิทธิแก่ผู้ลี้ภัยในฐานะผู้ต้องหาที่คดียังไม่ถึงที่สุด และต้องเคารพอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยที่หลายประเทศได้ลงนามไว้ โดยไม่ขอความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศใดในลักษณะที่ขัดหรือละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว และต้องไม่ขัดขวางการดำเนินการของรัฐบาลประเทศใดที่เป็นไปตามอนุสัญญาฉบับนี้
2. องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ต้องให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทยอย่างเป็นระบบและจริงจัง ต้องสนับสนุนรัฐบาลประเทศที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทย ต้องหาวิธีการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศที่ไม่มีสำนักงานฯ ตั้งอยู่ และต้องช่วยให้ไม่มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวไทยกลับประเทศตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ปฏิบัติกันมา
3. สังคมไทยต้องเปิดกว้างที่จะยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง ไม่แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือสนับสนุนหรือให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ และร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐที่รับรองความแตกต่างหลากหลายของพลเมืองโดยเฉพาะในส่วนของความคิดทางการเมือง
อย่างไรก็ดีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในโลกทวิตเตอร์มีการติดแฮชแท็ก #SaveFaiyen หลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยได้ส่งกองกำลังเข้าไปไล่ล่าวงไฟเย็น ซึ่งเป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเสียดสีการเมือง ที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แฮชแท็กดังกล่าวติด 1 ใน 10 เทร์นทวิตเตอร์หลายชั่วโมง