วันที่ 21 เม.ย.2563 ที่ รพ.ขอนแก่น นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น รับมอบอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากเฟซชีลด์ และพิชช่า จำนวน 50 ถาด จาก บ.พิซซ่า คอมปะนี จำกัด สาขาขอนแก่น สำหรับการส่งมอบให้กับทีมแพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่กันอย่างหนักและต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานกันตลอดทั้ง 24 ชม.
โดย นพ.ชาญชัย เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.ขอนแก่น ยังคงยืนยันตัวเลขอยู่ที่ 6 ราย ซึ่งรักษาหายอย่างเด็ดขาดแล้ว 4 ราย คงเหลือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.เพียง 2 รายเป็นสามี-ภรรยากัน โดยภรรยา อายุ 63 ปีนั้นอาการดีขึ้นมาก ทีมแพทย์รักษาอาการป่วย จนอาการดีขึ้นแล้วถึงร้อยละ 70 โดยเฉพาะอาการทางปอด แต่ทีมแพทย์ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยอยู่ เพื่อดูอาการต่อว่าจะมีอาการแทรกซ้อนหรืออาการอื่นๆ รวมด้วยหรือไม่ หากดีขึ้นจะมีการพิจารณาถอดช่วยเครื่องหายใจอีกครั้งในเร็วๆ นี้
นพ.ชาญชัย กล่าวต่อว่าตอนแรกผู้ป่วยมีอาการปอดอัดเสบครึ่งปอด แต่ให้การรักษาจนอาการดีขึ้นเรื่อยๆ มากถึงร้อยละ 80 แล้วน่าจะกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งอาการของคนไข้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีสติรับรู้ แต่ยังพูดไม่ได้ เจ้าตัวรู้เรื่องทั้งหมดและทำตามที่เราบอกได้ และเราเริ่มผ่อนเครื่องช่วยหายใจแล้ว ซึ่งหากคนไข้สู้ได้ ก็พิจารณาถอดเครื่องช่วยหายใจเร็วๆนี้ สำหรับเคสที่ 6 คือ สามีผู้ป่วยรายที่ 5 นั้นตั้งแต่แรกไม่มีอาการอะไร และมีการดำรงชีวิตได้ตามปกติ แต่ด้วยการรักษาทางการแพทย์ คนไข้ต้องอยู่ที่โรงพยาบาล 14 วัน หากหายแล้วก็จะส่งตัวกลับบ้าน สำหรับคนลูกยังอยู่กับทีมแพทย์ เพราะไม่มีเชื้อแล้วแต่มีภูมิต้านทานโรคที่ชัดเจน อีกทั้งเรามียารักษาโดยเฉพาะกับการรักษาโรคเบาหวานที่ไม่ให้กำเริบ และเราเน้นในเรื่องการช่วยการหายใจทำให้อาการของคนไข้รายที่ 5 ดีขึ้นมาก
ผอ.รพ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า สำหรับพลาสม่าของบุตรชายของผู้ป่วยรายที่ 5 และรายที่ 6 นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจละเอียดที่สภากาดชาดไทย แต่ผลตรวจในเบื้องต้นพบว่ามีภูมิต้านทาน แต่สภากาชาดไทยขอตรวจละเอียดอีกรอบ ซึ่งจะรู้ผลภายใน 1-2 วันนี้ โดยส่วนตัวเชื้อว่ามีคนอีกจำนวนมากที่มีลักษณะเช่นนี้คือมีอาการไม่มาก หรือไม่รู้ตัวว่าเป็น หรือเป็นจนหายแล้ว และไม่รู้ตัวว่าเป็นก็มี
ทั้งนี้ การเก็บพลาสม่าไปนั้น หลายประเทศทำการอยู่ ซึ่งการมีภูมิคุ้มกันของคนที่หายแล้วนั้นน่าจะนำมาต่อสู้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ แต่กระบวนการและกรรมวิธีไม่ได้ง่าย ไม่ใช่เป็นการถ่ายเลือดจากอีกคนไปอีกคนแล้วจะได้เลย เพราะเลือด 1 ถุงที่ได้ พลาสม่าหรือน้ำเหลืองที่เราเห็นนั้นมีภูมิต้านทานอยู่นิดเดียว ดังนั้นกระบวนการจะทำอย่างไรสภากาชาดนั้นมีวิธีในการดำเนินงาน และมีขั้นตอนเยอะมาก จึงจะได้ภูมิต้านทานตัวนั้นออกมา ซึ่งบุตรชายของผู้ป่วยทั้ง 2 รายนั้นเชื่อว่าเป็นตัวที่ดีที่มีภูมิต้านทานจนนำไปสู่แนวทางการรักษาผู้ป่วย ซึ่งหลังผลการตรวจออกมาชัดเจนเช่นไร บุตรชายของผู้ป่วยก็สามารถที่จะเข้าร่วมบริจาค อย่างเต็มรูปแบบได้ตามขั้นตอนต่อไป