การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 12 ครั้งที่ 12/2519 (สามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ย. 2519 ณ ตึกรัฐสภา ได้เริ่มต้นการประชุมเมื่อเวลา 09.05 น. การประชุมครั้งนั้น อุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีกิจธุระจำเป็น ทำให้ มงคล สุคนธขจร รองประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทน
โดยวาระการประชุมครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญ ถึงการเสนอญัตติด่วนเพื่อซักถามรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถึงการการกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2519 ของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้บวชเป็นสามเณรจากสิงคโปร์ และตรงไปยังวัดบวรนิเวศฯ เพื่อบวชเป็นภิกษุ โดยได้นามว่า "สุกิตติขจโร"
การกลับมาของจอมพลถนอมในครั้งนี้มีสาเหตุคือเยี่ยมอาการป่วยของบิดา และเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ขบวนการนักศึกษาที่นำโดยศูนย์นิสิตและแนวร่วมต้านเผด็จการแห่งชาติเคลื่อนไหวคัดค้านทันที
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของผู้แทนราษฎรชุดที่ 12 ได้ปรากฏผ่านรายงานการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2591 ซึ่งได้บันทึกคำอภิปรายของ ส.ส.ชุดนั้นโดยบรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด และ ส.ส.พรรครัฐบาลยังโจมตีนายกรัฐมนตรีของตัวเองที่ปล่อยให้ จอมพลถนอม กลับเข้าประเทศจนนำไปสู่การประท้วงเป็นวงกว้าง
โดยก่อนเข้าสู่ญัตติด่วน นั้น เปรม มาลากุล ณ อยุธยา ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคสยามใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถามด่วนก่อนโดยถาม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงการที่รัฐบาลอนุญาตให้ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาในประเทศไทยได้ โดยถามว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ต่อประชาชนเมื่อครั้ง จอมพล ประภาส จารุเสถียร เดินทางเข้ามาในประเทศไทยว่าจะดำเนินการตามกฎหมายไว่ว่าจะเป็นจอมพลถนอม หรือใครก็ตาม แต่รัฐบาลมิได้ดำเนินการ
เปรม ถามต่อว่า การเดินทางเข้ามาครั้งนี้ รัฐบาลทราบหรือไม่ว่าก่อให้เกิดปฏิกิริยาของนิสิตนักศึกาาและประชาชนที่จะต่อต้าน และ ทราบหรือไม่ว่การเดินทางเข้ามาโดยเอาผ้าเหลืองอันสูงส่งของศาสนา จะเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์ใจ และบรรดานิสิตนักศึกษาประชาชนผู้ที่เกลียดชังบุคคลผู้นี้ ซึ่งได้ร่วมกันสั่งฆ่าพี่น้องเพื่อนฟููงของเขาจะยอมอภัยให้ ท่านทราบเช่นนี้แล้วจะแก้ไขอย่างไร
ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ชี้แจงกระทู้ถามด่วนดังกล่าวว่า เบื้องต้นเป็นปัญหาว่ารัฐบาลได้อนุญาตให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เวลานี้บวนเป็นพระภิกษุ สุกิตติขจโร ได้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่นั้น ขอเรียนว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้อนุญาต เข้ามาเองก่อน แต่ก่อนแต่ไรมาก่อนจะมา 2-3 ครั้ง ท่านได้เคยติดต่อมาว่าอยากจะเข้ามาเมืองไทย เราก็บอกไปว่าความเห็นของเราอย่าเข้ามาเลย เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ แต่คราวนี้ไม่ได้บอกกล่าวเข้ามาเฉยๆ
"กระผมทราบข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 18 ก.ย. 2519 ว่าจะเข้ามา แต่ตอนนั้นยังไม่แน่และรุ่งขึ้นนก็มีข่าวว่าจะยังไม่มา เพราะแท้ที่จริงเป็นการสับเครื่องบินแรกว่าจะมาเครื่องบิน แอร์ สิงคโปร์ แล้วไปสับกันเป็นเจแปนแอร์ไลน์ของญี่ปุ่น ข่าวก็ยังสับสนอยู่ แต่ว่าไม่ได้อนุญาตให้เข้ามาแน่ครับ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะว่ารัฐบาลได้รู้เห็นเป็นใจในการเข้ามาก็ไม่ถูก"
ม.ร.ว.เสนีย์ ยังชี้แจงถึงการที่รัฐบาลได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหาทางออก โดยในทางรัฐศาสตร์ จะขอให้มีการติดต่อกับท่านพระภิกษุ ว่าจะทางท่านจะออกไปจากประเทศได้หรือไม่ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดย คณะรัฐมนตรีได้ตกลงกันว่าให้ดำเนินการชั้นนี้ก่อน ส่วนปัญหาเรื่องคดีความตามกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามกระบิลเมือง
"ในชั้นนี้ก็ได้มีการตกลงกันว่าจะให้ดำเนินการ พยายามให้ท่านออกไปจากเสีย ไปจากการเมืองนี้ เพื่อจะป้องกันนมิให้มีเกิดเหตุร้ายเกิดขึ้น สำหรับการประท้วงนี้รัฐบาลต้องยอมรับรู้อีกว่าตามรัฐธรรมนูญสิทธิของบุคคลที่เขาจะทำการประท้วง เขาทำโดยสงบ โดยปราศจากอาวุธ เขาก็มีสิทธิจะทำได้ ถ้าเผื่อว่าถึงขั้นรุนแรง ได้มีการทำลายความสงบของบ้านเมือง ทำผิดกฎหมายใดๆ ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจต้องจัดการป้องกัน" ม.ร.ว.เสนีย์ ระบุ
สภาถกญัตติด่วน 'แคล้ว'ชี้ 'ถนอม' กลับไทยเปิดช่องรัฐประหาร
จากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติด่วนเรื่อง จอมพลถนอม ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ของ ชุมพล มณีเนตร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปไตย เป็นผู้เสนอ ญัตติด่วนเรื่องให้รัฐบาลแถลงถึงมาตรการในการรักษาความสงบเนื่องจากการที่ จอมพล ถนอมเดินทางมาอุปสมบทในประเทศของ แคล้ว นรปติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เป็นผู้เสนอ รวมทั้งยังพิจารณาญัตติใหม่ที่เสนอเข้ามาของ มานะ พิทยาภรณ์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคกิจสังคม บรม ตันเถียร ส.ส.พังงา พรรคกิจสังคม ดิเรก หลักคำ ส.ส.อุดรธานี พรรคกิจสังคม ชัชวาล ชุติมา ส.ส.เชียงใหม่ พรรคกิจสังคม และอำพล พันธุ์ประสิทธิ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคกิจสังคม ที่เพิ่งเสนอญัตติด่วนเรื่องให้รัฐบาลแถลงถึงมาตรการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เนื่องจากจอมพลถนอมเดินทางเข้ามาในประเทศ
ทั้งนี้ แคล้ว นรปติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้อภิปรายถึงการที่จอมพลถนอมเดินทางเข้ามาอุปสมบทในประเทศไทย โดยตนได้เสนอญัตติด่วนมากเพื่อให้รัฐบาลแถลงให้ประชาชนได้ทราบว่าเนื่องจากจอมพล ถนอม ได้บวชเณรแล้วเดินทางเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2519 แล้วนั้น มีเค้าส่อสว่าจะเกิดการต่อต้านเกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศไทย จึงขอทราบนโยบายของรัฐบาลต่อการเข้ามาในประเทศของจอมพล ถนอมว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งขอให้รัฐบาลแถลงถึงมาตรการป้องกันการรัฐประหาร อันหากจะมีฝ่ายอื่นใช้การเข้ามาของจอมพล ถนอมเป็นเครื่องมืออีกด้วย
"กระผมเพิ่งได้ทราบว่าตั้งแต่ท่าน (จอมพลถนอม) ได้ออกไปเมื่อ พ.ศ.2516 วันที่ 16 แล้ว ท่านได้ลักลอบเข้ามาถึง 2 ครั้งแล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งที่ 1 ไม่มีใครรู้หรอกครับ ครั้งที่ 2 มีคนทราบในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็สกัดกั้นกันไว้ที่ดอนเมือง อยู่ได้ไม่ทันข้ามคืนก็ส่งกลับไปนอกประเทศตามเดิม รัฐบาลสัญญาในสมัยนั้นได้ใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของประชาชน" แคล้ว ระบุ
แคล้ว อภิปรายตอนหนึ่งด้วยว่า "จอมพลถนอม เข้ามาในประเทศไทยครั้งนี้ ได้อาศัยช่องว่างวัฒนธรรมอันล้ำเลิศของไทย นั่นคืออ้างว่าได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อเยี่ยมบิดา บิดาป่วยหนัก แล้วอีกประการหนึ่งได้อาศัยผ้าเหลืองคุ้มตัวมาในฐานะสามเณรมีคนภายในประเทศ ญาติๆ จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว พอลงเครื่องบินก็ตรงแน่วไปโน่นทันทีวัดบวรนิเวศวรวิหาร"
"เข้ามาแค่นี้ก็แตกแยก ประชาชนแบ่งแยกออกกันเป็นหลายฝักหลายฝ่าย ในสภาฯของเราก็แตกแยก ใน ครม.ก็แตกแยก ประชาชนก็แตกแยกระส่ำระสาย นี่จะเป็นสะพานทอดให้เกิดการรัฐประหาร ไม่ใช่ปฏิวัติ เกิดการรัฐประหาร จะแสดงให้เห็นว่าสมรรถภาพเสถียรภาพของรัฐบาลนี้อ่อนแอ แล้วฝ่ายที่ชอบรัฐประหารมุ่งต่อการรัฐประหารอยู่ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยก็จะเข้ามารัฐประหาร ถนอม ประภาส เป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้นท่านประธาน มันจะเป็นอย่างนี้แน่นอน" แคล้ว อภิปราย
แคล้วเสนอให้รัฐบาลดำเนินการทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้จอมพล ถนอม ออกนอกประเทศให้จงได้ เพราะความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด
'หม่อมพี่' ย้ำเนรเทศทันทีไม่ได้ หวั่นขัด รธน.
จากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ชี้แจงญัตติด่วนถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ทำการป้องกันไม่ให้จอมพลถนอมเข้ามาประเทศไทย โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2517 จอมพลถนอมตอนนั้นเข้ามาก่อนและสมัยนั้นยังมีมาตรา 17 ใช้บังคับอยู่ ถ้าตนจำไม่ผิด แต่ว่าตอนนี้เราได้ออกรัฐธรรมนูญนี้มาใช้ ก็ติดขัดในข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าคนไทยนั้นมีสิทธิที่จะเดินทางเข้ามาเมืองไทย และจะไปเนรเทศเขาก็ไม่ได้ อันนี้เป็นอุปสรรคที่รัฐบาลไม่มีทางที่จะจัดการป้องกันไม่ให้จอมพลถนอมเข้ามา
"จอมพลถนอมเข้ามาครั้งนี้เพื่อจะเยี่ยมบิดามาให้บิดาเห็นอานิสงส์ของชายผ้าเหลือง แล้วความมุ่งหมายก็เมื่อได้เยี่ยมเยียนกันแล้ว ตลอดถึงได้ปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นเสร็จเรียบร้อยก็จะได้นิมนต์ออกไป แต่ว่าถ้อยคำอาจจะกำกวมอยู่บ้าง อันนี้ขอรับ การที่ท่านเข้ามามีการแตกแยก อันนี้กระผมรับครับ ปฏิเสธไม่ได้ความเป็นจริง และเป็นข้อที่รัฐบาลนี้วิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ แล้วก็ความรู้สึกต่างเหล่าต่างฝ่ายเป็นอย่างนี้ ก็แตกแยก"
ไม่เชื่อ 'ทหาร' จะรัฐประหาร เหตุ 3 ปีไม่มีวี่แววก่อการ
ม.ร.ว.เสนีย์ ยังข้อคำถามที่ว่าต่อไปจะเกิดรัฐประหารหรือไม่ว่า นับตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์ ต.ค. 2516 แล้วทหารสมัยนี้เท่าที่ตนได้สังเกตเห็นมาก็มีความสำนึกในข้อนี้ว่าประชาชนนี่เป็นหลัก อำนาจอธิปไตยอันแท้จริงอาจจะมีบ้างบางคนอาจจะคิดกระทำเช่นนี้
"3 ปีล่วงมาแล้วก็ยังไม่มีวี่แววที่ทหารจะทำการแบบเก่าๆ กระผมจึงยังเชื่อว่ารัฐประหารทางด้านทหารคงจะไม่มี" ม.ร.ว.เสนีย์ ยืนยันกลางสภาฯ
นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำด้วยว่า "กระผมอยู่ในพรรคการเมืองที่ค้านเผด็จการมาตลอดเวลานาน ก็ขอรับประกันว่าในจิตใจไม่ได้มีที่จะเข้าข้างฝ่ายใด มีแต่จะเข้าข้างประชาชนเท่านั้น"
รับปากสภาจะนิมนต์ 'พระถนอม' ออกประเทศโดยเร็ว
"ขณะนี้เรากำลังคิดว่าจะดำเนินนโยบายที่จะนิมนต์ท่านออกไปโดยเร็วที่สุด ถ้าสามารถจะทำได้ นี่ก็สมประสงค์กับข้อเสนอของท่านสมาชิกอีกท่านหนึ่ง คือคุณ ไพฑูรย์ วงศ์วานิช ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ว่าควรจะทำการทุกวิถีทางควรที่จะให้ท่านออกไปโดยเร็วที่สุด นี่ก็เป็นความประสงค์ของรัฐบาลเหมือนกัน"
'วีระ' ถล่มรัฐบาลตัวเองเมินกฎหมายจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท
จากนั้น วีระ มุสิกพงศ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาล ได้อภิปรายสนับสนุนความเห็นของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและความเห็น ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยชี้ว่าการบวชครั้งนี้ของจอมพลถนอม ไม่ใช่อยู่ที่การตั้งใจจะพึ่งพระศาสนา ไม่ใช่บวชเพราะเลื่อมใสศรัทธา แต่เป้าหมายของการบวชของจอมพลถนอมนั้น ทุกคนเห็นตรงกันว่าเพื่อพึ่งจีวรของพระเท่านั้น เป้าหมายอยู่ที่ต้องการเอาชนะรัฐบาลชุดนี้ ให้รู้ว่าฉันจะเข้า ฉันจะต้องเข้าให้ได้
"ความผิดของจอมพลประภาส จอมพลถนอมนั้น หนักหนาสาหัสสากรรจ์ มีตั้งแต่ก่อน 14 ต.ค. 2516 คุณแคล้ว ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าบุคคลผู้นี้ได้ร่วมกับผู้ปฏิวัติกระทำการรัฐประหารตลอดมา บุคคลนี้เป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการ" วีระ ย้ำ
ในช่วงท้าย วีระยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในขณะนั้นด้วยว่า รัฐบาลมีความจริงใจกับประชาชนเพียงใดแค่ไหนนั้น ตนอยากจะถามเมื่อกี้นี้มีคนได้พูดถึงว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เสนอกฎหมายให้จำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท ซึ่งความจริงก็มี 3 คนเท่านั้น ให้รัฐบาลชี้แจง รัฐบาลบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสมาชิก รัฐบาลไม่เกี่ยว ตนอยากจะเห็นความจริงใจของรัฐบาล โดยต้องการชี้ให้เห็นว่าถ้าสมาชิกเสนอกฎหมายนี้เข้าสภาล่าช้ามาก ถ้ารัฐบาลนี้จริงใจรัฐบาลนี้ทำเพียงอย่างเดียวเท่านั้นลุกขึ้นตอบว่ารัฐบาลจะเอาร่างกฎหมายนี้เสนอเข้าสู่สภาในนามของรัฐบาลเองให้มันชัดเจนอย่างนี้จะได้หรือไม่
"และก็ขอให้พูดไปถึงพระเหมือนกัน บัดนี้ก็เลยเพลแล้วก็คงจะมีเวลาฟังวิทยุ อยากจะบอกคำเดียวว่า ถ้ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เหมือนปากพูด ไปเสียเถอะครับ มิฉะนั้นแล้วเป็นอาบัตินะครับ" วีระ อภิปรายสรุปปิดท้าย
(นสพ.ดาวสยาม รายงานการลาออกนายกฯ ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช)
(รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2519)
'เสนีย์' แสดงสปิริตขอลาออกนายกฯกลางสภา รับผิดที่ตัวเองปล่อย 'ถนอม' กลับไทย
จากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ใช้สิทธิชี้แจงตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ถึงการจำกัดเสรีภาพของคนที่จะมาอยู่ในประเทศไทยนั้น ซึ่งตามมาตรา 47 วรรคสองกำหนดให้ออกกฎหมายมาจำกัดได้เพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือการผังเมือง แต่ที่ตนเห็นเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรนั้นจะกระทำมิได้อยู่ในวรรคสาม ซึ่งไม่มีข้อแม้เงื่อนไขให้ออกกฎหมายไม่ได้
"ผมได้ฟังหมดแล้วครับทั้งหมดนี่ ก็เห็นจะอยู่ที่ตัวผมนี่แหละเป็นสำคัญ หลายท่านก็แสดงออกมาว่าไม่ไว้วางใจ ผมรับจะไปพิจารณาตัวเองจะยื่นใบลาออกบ่ายวันนี้ครับ ขอบคุณ" ม.ร.ว.เสนีย์ ประกาศลาออกหลังถูก ส.ส.ในสภาฯ อภิปรายโจมตีถึงการเปิดทางให้จอมพล ถนอม กลับเข้าประเทศได้
'ชวน' ชี้เข้าทางฝ่ายที่ต้องการให้นายกฯ ลาออก
จากนั้น ชวน หลีกภัย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ โดยเห็นว่า รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ในปัญหาที่เกิดขึ้นว่ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ หากว่าจะมีความบกพร่อง ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาล ตนไม่เชื่อว่าความผิดพลาดนั้นเกิดเพราะความแก่ของบุคคลซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี
"กระผมคิดว่าคำประกาศของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อสักครู่นี้ที่จะลาออกนั้นคงจะได้เป็นที่สมใจของผู้ที่ประสงค์จะให้เกิดขึ้นอย่างนี้ ท่านประธานครับ กระผมไม่เชื่อไม่คิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะได้ตัดสินใจไปโดยใช้วิจารณญาณที่สุขุมรอบคอบเพียงพอแล้ว การยอมแพ้ง่ายๆ กับฝ่ายผู้ที่พยายามจะให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ เท่ากับเป็นการขยับที่ให้กับโจรเข้ามานั่งอีกครั้งหนึ่ง อาจจะสมใจท่านสมาชิกที่ได้ร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีลาออก แต่กระผมคิดว่าการลาออกของท่านนายกรัฐมนตรีนั้นเสมือนหนึ่งการไม่ยอมรับที่จะสู้แก้ปัญหานี้ต่อไป กระผมคนหนึ่งที่อยู่ร่วมรัฐบาลชุดนี้ ไม่เห็นด้วย กระผมอยากจะกราบเรียนนท่านประธานว่า ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับ คนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้น คือการที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวบ้างเพื่อให้ทางบ้านเมืองเกิดความสงบสุข" ชวน อภิปราย
ทั้งนี้ ชวน ยังเรียกร้องไปถึงจอมพลถนอมที่บวชเป็นพระภิกษุว่า "ถ้าท่านจะเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ยอมสละความสุขส่วนตัวเพียงเล็กน้อย เพื่อให้บ้านเมืองนี้อยู่ด้วยความสงบ ออกไปจากประเทศไทยโดยไม่ต้องมีการใช้วิธีการอื่นนอกเหนือไปจากนี้ กระผมคิดว่าทำได้"
x
x
(คณะรัฐมนตรีชุดที่ 38 เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน)
การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ ม.ร.ว.เสนีย์ แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ก็ได้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2519 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 38 ซึ่งเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่เกิดกระแสต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม
การลาออกนายกรัฐมนตรีของ ม.ร.ว.เสนีย์ เมื่อวันที่23 ก.ย. 2519 ไม่สามารถคลี่คลายวิกฤตได้ เพราะได้เกิดกระแสต่อต้านจอมพลถนอมบานปลายไปทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชน ซึ่งติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ได้ถูกคนร้ายฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ต.พระประโทน จนกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขข้อเรียกร้องจากศูนย์นิสิตฯ ให้รัฐบาลเร่งจับตัวคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว
เหตุการณ์ดังกล่าวยังลุกลามเป็นชนวนสำคัญนำไปสู่การนองเลือดในวันที่ 6 ต.ค. 2519 เมื่อเกิดการสังหารนิสิต นักศึกษาและประชาชน อย่างโหดเหี้ยมกลางเมืองหลวงของประเทศ
คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2519 ก็ทำหน้าที่ได้เพียง 1 วันเท่านั้น เพราะถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 6 ต.ค. 2519
ประเทศไทยต้องกลับเข้าสู่วังวนของการถอยหลังทางประชาธิปไตยอีกครั้ง และรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ก็มีอายุเพียง 12 วันหลังได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ได้รับฉายาว่า "รัฐบาลวันเดียว"
อ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง