นิตยสารฟอร์บส์เผยอันดับมหาเศรษฐีโลก ประจำปี 2564 'เจฟ เบซอส' ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแอมะซอน ยังคงครองแชมป์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ด้วยมูลค่าความมั่งคั่งรวม 177,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น ความร่ำรวยของเขา ยังสูงขึ้นกว่า 60% ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี
ผู้ครองความมั่งคั่งอันดับที่ 2 คือ 'อีลอน มักส์' แห่งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ กับตัวเลขประมาณ 151,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 4.73 ล้านล้านบาท โดยมี 'เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์' ประธานบริหารและซีอีโอของบริษัทมหาชนข้ามชาติ โมเอต์ เฮนเนสซี หลุยส์ วิตตอง ตามมาในอันดับที่ 3
เจ้าพ่ออาณาจักร LVMH ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์หรูอย่างหลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) และ คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) มีตัวเลขความมั่งคั่ง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท
อันดับที่ 4 และ 5 ได้แก่ 'บิล เกตส์' จากไมโครซอฟท์ กับสินทรัพย์รวม 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท และ 'มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก' ผู้ก่อตั้งโซเชียลมีเดียที่ทรงอิทธิพลและถูกวิจารณ์ที่สุดของโลกอย่างเฟซบุ๊ก ด้วยมูลค่าความมั่งคั่งรวม 97,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.03 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
ทว่าเมื่อหันไปสำรวจอายุของผู้ครอบครองความมั่งคั่งสูงสุดแห่งโลกมนุษย์ 'วอยซ์' พบว่า สัดส่วนสำคัญกลับไปกระจุกตัวอยู่กับ 'เบบี้บูมเมอร์ส' (เกิดระหว่างปี 2489 – 2507)
เมื่อนำอายุของมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกมาหาค่าเฉลี่ยพบว่าอยู่ที่ 60.3 ปี
'มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก' ในวัย 36 ปี นับเป็นผู้มั่งคั่งที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มผู้ร่ำรวย 10 อันดับแรกของโลก ขณะที่ 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' ในวัย 90 ปี กับมูลค่าความมั่งคั่ง 96,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท นับเป็นผู้สูงอายุที่สุดในรายชื่อดังกล่าว
'มิลเลนเนียล' หรือ 'เจนวาย' คือกลุ่มประชากรที่เกิดระหว่างปี 2524 - 2539 หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี เมื่อนับอายุ ณ ปี 2564 กล่าวอีกนัยนึง ประชากรกลุ่มนี้คือผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและต่างก็มีความฝันหนึ่งสิ่งร่วมกัน คือ "อยากรวย"
อย่างไรก็ดี วิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2562 ก่อนที่ 'มิลเลนเนียล' บางส่วนจะประสบภาวะว่างงานจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หรือภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น พบว่า 'ความมั่งคั่งสุทธิ' (สินทรัพย์-หนี้สิน) โดยเฉลี่ยของชาวอเมริกันอายุระหว่าง 20-35 ปี ในปี 2559 มีมูลค่าน้อยกว่าประชากรที่มีอายุช่วงเดียวกันในปี 2550 ถึง 25%
เพื่อให้เห็นภาพชัดกว่านั้น บุคคลที่อายุระหว่าง 25-35 ปี ณ ปี 2544 มีความมั่งคั่งสุทธิเฉลี่ยประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 939,000 บาท ขณะที่บุคคลที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปี ณ ปี 2559 มีความมั่งคั่งสุทธิไม่ถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 626,000 บาท ด้วยซ้ำ
ปัจจัยที่ทำให้มิลเลนเนียลต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้เป็นเพราะพวกเขาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในภาวะที่มีข้อดีของยุคสมัยอยู่บ้างแต่กลับมีข้อเสียอีกมาก
ข้อดีเด่นชัดที่สุดของคนในยุคนี้คือ 'การศึกษา' ที่พวกเขาเข้าถึงได้อย่างสาธารณะกว่าคนยุคก่อน มิลเลนเนียลมีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับวิทยาลัยถึง 60% ขณะที่เบบี้บูมเมอร์สมีโอกาสเดียวกันเพียง 46% เท่านั้น
โอกาสดังกล่าวไม่เพียงช่วยเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่มิลเลนเนียลมีโอกาสได้รับในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่ยังหมายถึงโอกาสในการเก็บออมเพื่อดูแลตัวเองยามเกษียณ
ข้อดีประการที่ 2 คือพวกเขาอยู่ในยุคสมัยที่การเกษียณอายุถูกเลื่อนออกไปในนานขึ้น หมายความว่า พวกเขาจะมีเวลาในการทำงานเก็บเงินเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี มิลเลนเนียลต้องเผชิญกับข้อเสียอีกยาวเป็นหางว่าว อันดับแรก คือ กลุ่มมิลเลนเนียลต้นๆ เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่นานหลังจากที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้ตลาดอ่อนแอ โดยวิจัยระบุว่า การเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลต่อรายได้ระยะยาวของบุคคลผู้นั้น
ประเด็นต่อมาคือรูปแบบงานที่มีความ 'เสรี' มากขึ้น แต่ก็ตามมากับการขาดความสัมพันธ์ที่มีบริษัทคอยสนับสนุนในระยะยาว ขณะที่แรงงานยุคก่อนนิยมทำงานกับบริษัทในระบบและได้สวัสดิการสนับสนุนยามเกษียณอายุงาน
แรงงานยุคปัจจุบันนิยมทำงานฟรีแลนซ์ หรือเป็นคนงานประเภท 'gig worker' อาทิ คนขับรถบนแพลตฟอร์มส่งอาหารหรือสินค้า ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการว่านับเป็นแรงงานในหรือนอกระบบกันแน่ ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญความเสี่ยงในบั้นปลายชีวิตการทำงาน จากการไม่มีแผนรองรับตัวเองที่ชัดเจน
ยังไม่นับว่า ผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในยุคปัจจุบันน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นก็มาพร้อมกับสัดส่วนหนี้ โดยเฉพาะหนี้จากการศึกษาที่สูงตามเป็นเงา ทั้งยังไม่มีท่าทีว่าเศรษฐกิจโดยรวมของโลกจะกลับไปเติบโตแบบยุคที่เคยบูมสุดๆ ได้
ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ 'มิลเลนเนียล' มีติดตัวเป็นลักษณะเฉพาะของยุคสมัยแบบไม่เสื่อมคลายเสมอคือความหวังว่าพวกเขาจะรวย
ในปี 2561 ผลสำรวจพบว่า มิลเลนเนียลในสหรัฐฯ พบว่า กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามเพศชาย เชื่อว่าพวกเขาจะเป็นเศรษฐีสักวันหนึ่ง ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวตกลงมาเหลือประมาณ 38% สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิง
แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า 'มิลเลนเนียล' หรือใครก็ตามจะไม่มีสิทธิไปสู่อิสระภาพทางการเงิน หากมีการวางแผนที่ดีและเริ่มลงมือทำตั้งแต่เนิ่นๆ
ผลสำรวจเดิมพบว่ามิลเลนเนียลอเมริกันวางแผนจะเก็บเงินเพื่ออนาคตยามเกษียณตอนอายุ 36 ปี ซึ่งนับว่าช้ากว่าคำแนะนำของที่ปรึกษาทางการเงินอยู่หลายปี
'แดเนียล นอสตรอม' ที่ปรึกษาทางการเงิน ชี้ว่า การเริ่มต้นออมเงินเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่อายุ 25 คุณจะมีเงินรวมประมาณ 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่ออายุ 67 ปี หากคิดอัตราดอกเบี้ยราว 6% ต่อปี
ถ้าไปเริ่มตอนอายุ 30 เงินดังกล่าวจะลดลงมาเหลือ 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลงมาเหลือเพียง 810,579 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากเริ่มตอนอายุ 40 ปี
อ้างอิง; BI, CNBC(1), CNBC(2), Forbes, The Economist
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;