ไม่พบผลการค้นหา
ก้าวไกลกรุงเทพฯ หาเสียงสร้างสรรค์แม้ทุนน้อย ตั้งเวทีริมถนน ประชาสัมพันธ์นโยบายให้คนสัญจรในเมือง ผลตอบรับดีมากประชาชนมอบน้ำ-พวงมาลัยให้กำลังใจ

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ และให้ผู้สมัครจับเบอร์ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกลทั่วประเทศ ก็เดินหน้าลงพื้นที่หาเสียงอย่างเข้มข้น

ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ภาพผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ ของพรรคก้าวไกลหลายเขต ใช้วิธีการหาเสียงแบบใหม่ ด้วยการยืนปราศรัยบนเวทีที่ยืนขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ ยางรถยนต์ แล้วใช้เครื่องเสียงขนาดเล็กประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคก้าวไกลและตัวผู้สมัคร

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่าวิธีการหาเสียงแบบนี้ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายเขตทำแล้วได้ผลตอบรับดีมาก เพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนท้องถนน หรือเดินทางสัญจรไปมาทั้งบนถนนและบนทางเท้า รวมทั้งมีต้นทุนในการหาเสียงที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับรถแห่หาเสียงหรือเวทีขนาดใหญ่

“หัวใจสำคัญของการหาเสียงด้วยวิธีนี้ คือความใกล้ชิดกับประชาชน เพราะยืนอยู่ในระยะที่ประชาชนเข้าถึงตัว มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สมัคร ส.ส. ได้ เราได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากประชาชนที่สัญจรผ่านไป-มา บางคนจอดรถให้กำลังใจ บางคนซื้อน้ำ-ซื้อพวงมาลัยให้ บางคนก็เข้ามาพูดคุยสอบถามนโยบายพรรคก้าวไกล การหาเสียงด้วยวิธีนี้สอดคล้องกับค่านิยมพรรคก้าวไกลที่บอกว่าผู้แทนราษฎรของเราต้องเป็นคนธรรมดา ไม่ทำตัวสูงส่งกว่าประชาชนหรือเข้าถึงยาก รวมทั้งยังเป็นวิธีการที่มีต้นทุนต่ำมากๆ ในการหาเสียง” พิจารณ์กล่าว

โดยผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ที่ใช้วิธีนี้ เช่น จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 3 (เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา) เบอร์ 4, กันตภณ ดวงอัมพร ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 6 (เขตพญาไท เขตดินแดง) เบอร์ 3, ภัสริน รามวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 7 (เขตบางซื่อ เขตดุสิต เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี) เบอร์ 7, สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 22 (เขตสวนหลวง เขตประเวศ เฉพาะแขวงหนองบอน) เบอร์ 8 และ รักชนก ศรีนอก ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 28 (เขตจอมทอง เฉพาะแขวงบางขุนเทียน, เขตบางบอน ยกเว้นแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน และเขตหนองแขม เฉพาะแขวงหนองแขม) เบอร์ 4

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มาตรา 62 ได้กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เพราะครบอายุของสภาผู้แทนฯ ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 7,000,000 บาท ส่วนกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเกิดการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 1,900,000 บาท