ไม่พบผลการค้นหา
“หมอศักดิ์ชัย” เผยรอบ 21 เดือนที่ผ่านมา สิทธิประโยชน์บัตรทอง “คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่” แล้วกว่าล้านราย ผลตรวจพบความเสี่ยงกว่า 5 หมื่นราย นำไปสู่การเฝ้าระวังและติดตามต่อเนื่อง พร้อมรักษาระยะแรกเริ่ม ลดผู้ป่วยและอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มต้นในปีงบประมาณ 2561 โดยมีกลุ่มเป้าหมายดำเนินการคัดกรองคือประชาชนทั่วไปอายุตั้งแต่ 50 – 70 ปี ซึ่งถือว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง นอกเหนือจากกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ จากข้อมูลผลการศึกษาชี้ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพ พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบมากในคนไทย อยู่ที่ราว 3,000-5,000 คนต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ประกอบกับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าระยะลุกลามแล้ว ดังนั้นการค้นหาผู้ป่วยและคัดกรองเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาจึงมีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง

จากข้อมูลการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพ ปี 2561 จนถึงสิงหาคม 2562 มีกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1,072,630 ราย ในจำนวนนี้มีผลตรวจที่พบความเสี่ยง 51,909 ราย ได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธีส่องกล้อง 27,217 ราย และตัดเนื้อเยื่อเพื่อตรวจยืนยัน 3,336 ราย รวมถึงการตัดติ่งเนื้อ 1,480 ราย หลังจากที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้บรรจุสิทธิประโยชน์นี้ ได้ทำให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายได้รับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว 1,072,630 ราย พบผู้ที่มีความเสี่ยง 51,909 ราย โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะได้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังติดตามต่อเนื่อง รวมถึงในกลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะแรกเริ่มได้เข้าสู่การรักษาภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

“ทั้งนี้ ก่อนที่กองทุนบัตรทองจะได้บรรจุสิทธิประโยชน์นี้ แพทย์จะพบผู้ป่วยเมื่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลามแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิตลง ทั้งที่เป็นโรคที่รักษาได้หากพบในระยะเริ่มต้น ทั้งการรักษาเมื่อเป็นมะเร็งแล้วยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน ทั้งจากราชวิทยาลัยแพทย์ที่เกี่ยวข้อง หน่วยบริการทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการคัดกรองและได้รับการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย ในปี 2562 ที่ผ่านมาบอร์ด สปสช.ยังได้เพิ่มรายการถุงทวารเทียม (Colostomy Bag) เป็นอุปกรณ์และอวัยวะเทียม ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยที่มีความที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น