ไม่พบผลการค้นหา
วิปฝ่ายค้าน ลงสัตยาบันร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดมั่นหลักการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 7 พรรคฝ่ายค้านจัดเสวนา "พรรคการเมืองร่วมใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ดำเนินรายการโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่ออิสระ 

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ และเป็นความต้องการสืบทอดอำนาจ ดังนั้นจึงมีการวางแผน จัดตั้งบุคลากรต่างๆ จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดปัญหา เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นตรงข้าม จึงเกิดปัญหาที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ตลอดจนการพิจารณาบังคับใช้กฎหมายยังมีข้อกังขามากมาย ทั้งตัวบทกฎหมายไม่ตรงกับการปฏิบัติ จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ 

ทั้งนี้ เจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่ดีโดยทั่วไปต้องเขียน หรือสร้างขึ้นมาให้เหมาะสมกับประชาชน เป็นธรรม ยุติธรรม สร้างดุลยภาพของทุกภาคส่วนให้สมดุล แต่รัฐธรรมนูญนี้สร้างองค์กรหนึ่ง คือ ส.ว. ที่เป็นเครื่องมือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการสืบทอดอำนาจให้เป็นไปโดยสะดวก และ ส.ว. ยังมีอำนาจมากกว่าประชาชน จึงมองว่า การเดินหน้าประเทศ ต้องเกิดจากรัฐธรรมนูญที่มีความสมดุล ไม่ใช่เกิดจากปืน หรือ รถถัง ขอวิงวอนทุกภาคส่วน ร่วมมือที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนส่วนอื่นๆเข้าใจ และหาทางแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้ และเชื่อว่ารัฐบาลจะเสียสละเงินเพื่อให้ทำประชามติ 

หยุดขัดแย้งด้วยรัฐธรรมนูญ 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เพื่อต้องการหยุดยั้งความขัดแย้ง จัดสรรอำนาจใหม่ ว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรอิสระ และประชาชน ว่าควรจะมีอำนาจฝ่ายละเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาการรัฐประหาร มีการจัดสรรอำนาจใหม่ให้กับตัวเองเท่านั้น ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ โดยให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันกำหนดกฎกติกา ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีแค่ 2 ทางเท่านั้น คือการแก้ไขด้วยเลือดหรือการแก้ไขด้วยความยินยอมพร้อมใจด้วยกัน 

ดังนั้นเวลานี้ จึงเป็นเวลาที่จะต้องแสดงจุดยืนร่วมกัน เพื่อหาทางรอดให้กับสังคมไทย เพราะมองว่าของขวัญปีใหม่ที่จะทำให้ประชาชนมีความสุขมากที่สุด คือ การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง

อัด รธน.60 แย่ที่สุด 

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เชื่อว่า ขณะนี้คนไทยทั้งประเทศเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แย่ที่สุด แต่แนวทางในการแก้ไขของตนนั้นคงต่างจากพรรคอื่นๆ คือ ถ้าตนมีอำนาจเมื่อไหร่ตนจะยึดอำนาจ และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และเอารัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี 2540 กลับมาใช้ 

ด้านนายวันมูหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หากยังปล่อยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะทำให้เกิดปัญหา ทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งนายธนาธร ถือว่าเป็นหนึ่งในเหยื่อ ขอระบบเผด็จการ ที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยเดินหน้า ขอย้ำว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่เราไม่ต้องการ ให้ระบอบเผด็จการ ทำรัฐประหารต่อไป 

ขณะที่ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เผยว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเท่านั้น

ด้านนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ระบุว่า เราเป็นผู้รักชาติ จึงขออยากเก็บความรักชาติไว้คนเดียว แต่ต้องมาร่วมมือกัน ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญมาไม่ดี ก็จะทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย 

ทั้งนี้ย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนขึ้นมาแล้วปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ก็จะไม่เกิดผลสำเร็จ หากไม่แก้รัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นทาสจะเป็นทาสยันชั่วลูกชั่วหลาน

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า ขอตั้งฉายาให้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปล้นประชาชน ปล้นความสุขไปจากประชาชน ปล้นเศรษฐกิจไปจากประชาชน ปล้นความหวังไปจากประชาชน และปล้นอนาคตใหม่ ไปจากประชาชน ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่แก้ไขได้ยาก และเขียนเพื่อฉีดและยึดอำนาจเอง

สัตยาบันร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

7 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ลงนามให้สัตยาบันร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ด้วยความตระหนักในปัญหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พรรคฝ่ายค้าน ขอให้สัตยาบันร่วมกันว่า เราจะร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมกันแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยยึดมั่นในหลักการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

พร้อมกันนี้ก็เห็นพ้องและตกลงกันว่าจะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม อาทิ ภาควิชาการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ตลอดจนกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในการดาเนินการดังกล่าวตามครรลองระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ที่สะท้อนเจตนารมณ์และตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง จึงลงนามเป็นหลักฐานไว้เป็นสัตยาบันร่วมกัน

สัตยาบัน-ฝ่ายค้าน