ไม่พบผลการค้นหา
‘พิธา’ ยันพร้อมนั่งเก้าอี้กลาโหม ดันปฏิรูปกองทัพ แต่พร้อมเปิดทางหากมีคนเชี่ยวชาญกว่า เชื่อหมดเวลารัฐประหาร ไม่หวั่นคดีงอกเตะตัดขาทางการเมือง เพราะทีมกฎหมายทำงานเข้มพร้อมแจงทุกปม

ที่อาคารอนาคตใหม่ ซอยหัวหมาก 12 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการจัดสรรเก้าอี้กระทรวงกลาโหมว่า พรรคก้าวไกล หรือ พรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้ดูแลเพราะมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันมากว่า ขณะนี้ พรรคก้าวไกลมี 151 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง แต่สิ่งสำคัญ คือ นโยบายปฏิรูปกองทัพ หรือ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไม่ได้อยู่ที่ตัวกระทรวงเท่าไหร่นัก เพราะขึ้นอยู่กับหลักการเจรจาต่อรองร่วมกับคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต่อไป 

อย่างไรก็ดี พิธา ยืนยันว่า ตนเองมีความพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ในทุกตำแหน่งเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน หากมีคนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ก็ไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ การที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 แล้ว สื่อไปถาม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าจะมีรัฐประหารหรือไม่หลังจากนี้ พิธา มองว่า หมดเวลาของการทำรัฐประหารแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นชัยชนะของพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นชัยชนะของประชาชนที่อยากห็นการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต ประชาธิปไตยไม่สะดุดลง 

เมื่อถามว่าชัยชนะของก้าวไกลจะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมอ่อนแอลงหรือกลับมาแข็งแกร่งขึ้นเพื่อเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง พิธา มองว่า ตนไม่เชื่อว่าอนุรักษนิยมจะเป็นอนุรักษนิยมได้ตลอดไป ตนไม่เชื่อว่า การเมืองในโลกยุคใหม่จะเป็นการต่อสู้ระหว่างอนุรักษนิยม-เสรีนิยม อุดมการณ์ซ้าย-ขวา อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของคน 1% และคนอีก 99% ซึ่งสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงด้วยกันผ่านการทำงานทางความคิด รับฟังและแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกัน

เมื่อให้ประเมินว่า ปมถือหุ้นสื่อหรือคดีต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นต่อหลังจากนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่ พิธา บอกว่า ไม่กังวล เพราะมีการเตรียมตัวและชี้แจงไปแล้วหลายรอบ หาก กกต. มีคำร้องมา เราก็มีหลักฐาน และทีมกฎหมายที่เข้มข้น ในการชี้แจงกับประชาชนในหลายเรื่อง จึงขอให้ทุกคนมีความเชื่อมั่น

ผู้สื่อข่าวถามว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือความสำเร็จสูงสุดหรือไม่ พิธา ตอบว่า ความสำเร็จสูงสุดของตน จะวัดได้เมื่อทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ไม่ว่าจะนโยบายหรือร่างกฎหมายที่พยายามจะผลักดัน เพราะทางรอดของประเทศไทย คือ การทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่น้ำหยดจากบนลงล่าง เราจะปลีกตัวออกจากระบบโลกไม่ได้ แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกที่มีสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียม และวิธีคิดที่ทำให้การทำงานของเราได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ครั้งใหม่ ซึ่งตนจะขอทำสิ่งเหล่านี้สำเร็จให้ได้