เดี๋ยวนี้จะปาร์ตี้อาหารทะเลสดๆ เนื้อหวานๆ กับคนรัก เพื่อนฝูง ครอบครัว ถ้าไม่ใช่ผู้มีอันจะกินต้องดูเงินในกระเป๋าว่ามีพอซื้อกินหรือไม่
หมึก ปูม้า ปลากะพงสดๆ วัตถุดิบหลักในเมนูอาหารทะเลที่คนไทยกินเป็นประจำกลายเป็นอาหารราคาแพง
แม้แต่ ‘ปลาทู’ อาหารทะเลราคาถูกเสริมโปรตีนและไอโอดีนเคียงคู่ครัวทุกบ้านมานาน จากเข่งไม่กี่สิบบาท หาซื้อง่ายตามตลาด ราคาพุ่งไปเข่งละ 30-40 บาท
ประเด็นไม่ได้อยู่แค่ "ค่าครองชีพมันสูงขึ้น" ตามยุคสมัย แต่มีเหตุ ที่มาที่ไปที่อาหารทะเลแพงขึ้นอย่างผิดปกติ
“เพราะจับลูกปลาทูมาขาย มันเลยหายากขึ้น ราคาเลยแพงขึ้น” คำตอบสั้นๆ ที่ผมได้จากจากปาก ‘ปิยะ เทศแย้ม’ ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขาบอกระหว่างลากอวนปลาทูกลางทะเลอ่าวไทยบริเวณหัวหิน
สรุปได้แค่ ‘ปลาทูลัง’ ตัวเดียว นอกนั้นเป็นปลาสีกุนเขียว ปลาเกล็ดข้าวเม่า ปลาแป้น
นี่แค่ตัวอย่างที่ปิยะแสดงให้เห็นว่าในท้องทะเลไทยตอนนี้ปลาทูน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับก่อนปี 2555
"เรือปลาทูพื้นบ้านออกทะเลทีไร ไปบริเวณไหนก็จะได้ปลาทูกลับมา 500-800 กิโลฯ เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ตั้งแต่ปี 2558 ถึงวันนี้มันเปลี่ยนไป"
ปิยะบอกก่อนวิกฤตปลาทู เป็นช่วงที่การทำประมงในทะเลของประเทศไทยเป็นยุครุ่งเรือง เรือประมงเยอะขึ้น ความรู้ในการจับปลาทูแพร่หลาย อุปกรณ์การจับปลาใหญ่และทันสมัย จับได้ครั้งละมากๆ
ชาวประมงเจ้าไหนที่มีทุนหนาและเรือขนาดใหญ่ก็ใช้อวนจับปลาและสัตว์น้ำแบบลากเอาทุกอย่างโดยไม่แยกขนาดและวัยที่เหมาะสมของสัตว์น้ำ เป็นการจับสัตว์น้ำแบบเหมารวม
ไม่ต่างกับคำว่า “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” ปิยะบอกว่่าแบบนี้มันตัดวรจรการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำในทะเล
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคปลาทูเท่านั้น แต่กระทบชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพประมงเพื่อยังชีพด้วย
หากวงจรการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำไม่ถูกตัดตอนโดยวิธี “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” ลูกปลาวัยอ่อนเหล่านี้จะได้เติบโต ขยายพันธุ์ต่อจำนวนมากขึ้น ลูกปลาเหล่านี้นอกจากจะโตมาทดแทนปลารุ่นพ่อแม่ที่ถูกจับไป จะยังเพิ่มจำนวนเหลือให้ประมงพื้นบ้านจับมาขายสร้างรายได้บ้าง
ชาวประมงพื้นบ้านอย่างปิยะไม่ได้จะบอกให้เรือประมงพาณิชย์หยุดการทำประมงเพื่อธุรกิจ แต่ขอแค่เปิดโอกาสให้ชาวประมงขนาดเล็กได้มีรายได้บ้้าง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเรา
หลักใหญ่ใจความของ ‘ทะเล’ คือทรัพย์สินสาธารณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
ปิยะบอกใครที่จะเข้าไปหาประโยชน์จากทรัพย์สินสาธารณะต้องมีกฎกติกา รัฐต้องกำหนดกฎกติกาให้ชาวประมงขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กได้เข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียม
ชาวประมงต้องทำประมงอย่างรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าคนเกิดก่อนจะใช้ทรัพยากรให้หมดในช่วงอายุของตัวเอง ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นต่อไปได้เข้าถึงด้วย
ส่วนผู้บริโภคก็ต้องคิดถึงเรื่องการเลือกกินสัตว์น้ำด้วยความรับผิดชอบ ไม่ส่งเสริมให้มีการซื้อขาย บริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนหรือลูกปลา ถือเป็นการส่งเสริมการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน
ทางเดียวที่จะให้ทะเลไทยกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เขาบอกว่าไทยต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง 2558 มาตรา 57 ที่มีข้อกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” มาบังคับใช้
เรากำลังบอกถึงรัฐสภาว่ากฎหมายดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ออกกฎหมายนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจเต็มในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อกำหนดขนาดของพันธุ์สัตว์น้ำที่ควรจับ แต่ปัญหาคือตอนนี้มีกฎหมาย แต่ไม่นำมาบังคับใช้
ในที่สุด สัตว์น้ำบางชนิดปริมาณลดลง ชาวประมงพื้นบ้านสูญเสียอาชีพ ผู้บริโภคต้องแบกภาระอาหารทะเลแพงขึ้น หรืออาจไม่ได้กินปลาที่เคยหาง่ายอีกต่อไป
เราจะรอให้ถึงวันนั้น ?
1. 'อวนตาข่ายจับปลาทู' ขนาดตาอวน 4.5 เซนติเมตร ที่ 'ปิยะ' ใช้จับปลาทู เขาบอกว่าเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านจะจับสัตว์น้ำแบบแยกชนิด อยากได้สัตว์น้ำชนิดไหนก็เอาเครื่องมือชนิดนั้นไปจับ แต่การทำประมงแบบอุตสาหกรรม เครื่องมือจับเป็นแบบจับเหมารวม
2. (จากซ้าย) ปลาทูหลัง ปลาสีกุนเขียว ปลาเกล็ดข้าวเม่า และปลาแป้น จากอวนที่ 'ปิยะ' บอกปลาแป้น (ขวาสุด) ถือว่าเป็นปลาวัยอ่อน หากจับได้ควรจะปล่อยลงทะเล
3. เรือประมงพื้นบ้านของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
4. ปิยะ เทศแย้ม ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์บอกว่า ชาวประมงต้องทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ ใช้เครื่องมือการจับอย่างเหมาะสมเพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลได้เติบโตให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์
5. ข้อมูลจาก สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ปี 2565 ระบุว่า ขนาดปลาทูโตเต็มวัยมาตรฐานเหมาะแก่การนำมาบริโภคควรมีความยาว 15-20 เซนติเมตร (ขนาดเท่ามือถือสมาร์ทโฟนทั่วไป) น้ำหนัก 80-100 กรัม ปริมาณ 10-13 ตัวต่อกิโลกรัม
6. วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่าในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจการจับลูกปลาทูมาขาย 1 กิโลกรัม อาจต้องจับถึง 1,000 ตัว และขายได้เงินเพียง 100-150 บาท แต่ถ้ารอให้ลูกปลาโตเต็มวัย หรือรอเพียง 6 เดือน ปลาทู 1 กิโลกรัม แค่ 10-12 ตัว ราคาตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 100-150 บาท ถ้าลูกปลาทูทั้งหมด 1,000 ได้ตัวโตเต็มวัย มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มหลายเท่า
7. จีรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของเรือประมงพื้นบ้านกล่าวว่า ต้้องรณรงค์ให้คนในประเทศร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อให้อาชีพประมงปลาทูยังคงอยู่ต่อไปได้
8. พล ศรีรัฐ ชาวประมงพื้นบ้านเขาปิหลาย พังงา กล่าวว่า ในอนาคตอาหารทะเลไทยอาจจะแพงจนกลายเป็นอาหารของคนมีฐานะเท่านั้นถึงสามารถกินได้ ชาวบ้านอาจได้กินแค่ปลากระป๋อง
9. ธงผ้าขาวที่มีข้อความว่า “บอกรักทะเลไทยด้วยการหยุดจับ-หยุดซื้อ-หยุดขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน” กลายเป็นธงนำขบวนเรือกิจกรรม #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู
10. ขบวนเรือประมงพื้นบ้าน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู เข้าเทียบท่าบริเวณวัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อมุ่งสู่แม่น้ำเจ้าพระยา-รัฐสภา
--------
ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง
เสกสรร โรจนเมธากุล ภาพ
ณปกรณ์ ชื่นตา ภาพ