ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการชี้จำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก การสอบเข้า 100% การผลิตคนเพื่อป้อน EEC เชื่ออนาคตเสียงของเด็กจะมีความสำคัญ ขณะที่แกนนำเยาวชนมองการถ่ายทอดการเรียนทางเดียว ไร้ปฏิสัมพันธ์ครู-นักเรียน เป็นจุดบอดการศึกษาไทย พัฒนาทักษะทางอารมณ์ การพูด

ที่ห้องประชุมอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีเสวนาสาธารณะวันเยาวชนแห่งชาติ “การปฏิรูปการศึกษาที่เยาวชนเป็นเจ้าของ” และเวทีเสวนา เรื่อง “สุก หรือ สุข พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน” 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า ในระบบการศึกษาจะพบว่าในห่วงโซ่การศึกษาคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและส่วนร่วมต่ำที่สุด คือ เด็กและเยาวชน ดังนั้นสิ่งที่เราจะพบก็คือ ใครเป็นเจ้าของการศึกษา ใครเป็นผู้จัดการศึกษา จากคำถามนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงเกิดชุดแนวความคิดหลักของการศึกษาปีนี้ ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียน หรือ ปฏิรูปการศึกษาโดยเยาวชนเป็นเจ้าของ ดังนั้นสิทธิทางการศึกษาจริงๆ เป็นเรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ต้องออกมา และให้เด็กมีส่วนร่วมในเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ ต่อจากนี้การปฏิรูปการศึกษาต้องอย่าลืมเด็ก ว่า เขาคิด และต้องการอะไร

F2D6631D-0D32-4EFE-83A4-CF5022CF81D0.jpeg

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า UN ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะยากจน พิการ อยู่ในเมืองหรือชนบท ซึ่งใจความสำคัญของเรื่องนี้ ถือเป็นหลักคิดของมนุษยชาติ ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องมาทบทวนว่าเราจัดการศึกษาเพื่อใคร ตอบโจทย์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พ่อแม่ผู้ปกครอง ค่านิยม แต่เราไม่เคยตอบโจทย์วิธีคิดของเด็กเลยหรือไม่ เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ UN ให้ความหมายในเรื่องของปฏิรูปการศึกษา เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ทักษะด้านอารมณ์ ที่เด็กจะได้เรียนตรงกับความสนใจความต้องการ การศึกษามีความเท่าเทียมเที่ยงธรรม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงถึง 20 เท่า ระหว่างในเมืองกับชนบท เด็กฐานะยากจนที่สุดในประเทศ มีถึงร้อยละ 20 และสามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ร้อยละ 20 ของเด็กที่มีฐานะทางสังคมสูง สามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ 100%

 “การที่ประเทศเราพูดถึงการศึกษาเพื่อทุกคน แต่เราจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนกว่า 15,000 โรง และเด็กชนบทก็จะไปเรียนที่ไหน สิ่งที่กำลังจะตามมาอีกคือ การจัดสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แบบ 100% ในจำนวน 400 กว่าโรงเรียน เรื่องนี้ทำให้เราพบกับการเรียนในลักษณะที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย การเรียนกวดวิชาจะเพิ่มขึ้น เพราะค่านิยมของพ่อแม่ที่ต้องให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด และสำหรับโรงเรียนอีก 15,000 แห่งที่เหลือ เราจะเอาไปไว้ไหน ทำไมไม่มีการมองเรื่องการสร้างคุณภาพของโรงเรียนให้มีความเท่าเทียมและเที่ยงธรรม อีกทั้งระบบการศึกษาเรายังออกแบบให้หลักสูตรมีตัวดัชนี บ่งชี้ กว่า 1,400 ตัว ที่ครูจะต้องทำให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครจะมานั่งสนใจชีวิตเด็ก ครูจะมุ่งสอนเนื้อหา แต่ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมมองว่าเราจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก การสอบเข้า 100% การผลิตคนเพื่อป้อน EEC เพราะเด็กในพื้นที่จะหายไปต่างคนต่างเข้าไปเรียนต่อในเมือง ทำให้สายสัมพันธ์ในชุมชนหายไปด้วย” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

 ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นอาวุธสำคัญของการศึกษา เนลสัน แมนเดลา พูดไว้ว่า ถ้าเราไม่ให้การศึกษาที่ดีและไม่เปิดพื้นที่อิสระ และไม่มีเสรีภาพทางความคิด เราก็จะมีคนติดกรอบเป็นค่านิยม และเราก็จะเดินตามเขาโดยที่เราไม่กล้าสวนกระแส ความกล้าและจิตวิญญาณมันจะฝ่อ แม้ว่าประเทศไทยจะมีตัวบ่งชี้ทางการศึกษากว่า 1,400 ตัว แต่สหประชาชาติ บอกว่าตัวบ่งชี้ที่สำคัญมีเพียงการสร้างการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ การศึกษาเป็นที่ยอมรับ การศึกษาที่ปรับใช้กับชีวิตจริง ทั้งนี้ในอนาคตตนเชื่อว่าเสียงของเด็กจะมีความสำคัญ ความต้องการมาจากข้างล่างขึ้นสู่ด้านบน เพราะถ้าเด็กยังไม่มีเสียง เด็กก็จะต้องเดินไปตามเส้นทางที่เป็นค่านิยมที่มีการวางไว้

 ด้านนายคณิน เครือพิมาย นักศึกษามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ธรรมชาติของพื้นที่การเรียนไม่รู้ ตนขอให้ทุกคนนึกสภาพห้องเรียนที่เราพาเด็กคนหนึ่งเข้าไป นั่งฟังครูสอน สิ่งที่ได้รับรู้ คือ บางเรื่องก็สามารถนำไปใช้ได้ แต่ในบางครั้งเราก็ไม่ได้นำมาใช้ และน้อยครั้งมากที่เราจะต้องได้รู้ว่าสิ่งที่เราเรียนมีผลกระทบอย่างไรกับเรา สามารถนำไปใช้ตอนไหน อีกทั้งเรื่องที่เจ็บปวดมาก คือ เราไม่รู้ว่าตัวเองเรียนไปทำอะไร เรียนไปใช้อย่างไร และสภาพแวดล้อมในห้องเรียนก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เราได้เรียนรู้ กีดกันความสามารถของเด็ก กำหนดความสำคัญของรายวิชาให้มีความต่างกันทั้งที่เด็กมีความถนัดไม่เหมือนกัน ปัญหาของระบบการศึกษาส่วนหนึ่ง คือ คนในระบบการศึกษาไม่รู้ว่าตัวเองเรียนไปทำไม และการที่จะแก้ไขระบบการศึกษาค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีความซับซ้อน ดังนั้นตนจึงมองว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี 3 ตัวการสำคัญ คือ คนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ความรู้ และทักษะด้านอารมณ์ ซึ่งพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้สามารถทำได้ในทุกที่ และทุกกลุ่มคน เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ตรงกลางในการแลกเปลี่ยนความคิด สร้างไอเดีย และความเปลี่ยนแปลง เพราะระบบการศึกษาของเรายังแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องเริ่มจากนอกระบบก่อน

 

ด้านนายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น พี่เลี้ยงเครือข่ายเยาวชน กล่าวว่า ตนมองว่าการศึกษาไทยจะไม่สามารถปฏิรูปได้ เพราะสังคมไทยติดระบบความคิด เรื่องระบบอุปถัมภ์ โครงสร้างอำนาจ เส้นสายพรรคพวก และระบบอาวุโส ทั้ง 4 เรื่องนี้ สะท้อนว่าอำนาจและอิสระภาพไม่ได้ถูกออกแบบให้เราใช้ชีวิต แต่ถูกใครก็ไม่รู้เป็นคนขีดไว้ และเมื่ออำนาจและอิสระภาพ ก็จะทำให้เกิดความกลัว ซึ่งความกลัวเป็นสิ่งที่ทำลายความรู้ ตนย้ำว่าอำนาจและอิสระภาพถูกจำกัดด้วยผู้ที่มีอำนาจ และคนที่มีอำนาจจะใช้ความกลัวในการปกคลุม แม้กระทั่งการเรียนการสอน ทั้งนี้หากเราไม่สามารถเกาะทั้ง 4 เรื่องนี้ออกได้ก็ไม่จำเป็นต้องมีการปฏิรูป และจากการที่ตนได้เรียนรู้ชีวิตเด็กๆ จากการทำงานทำให้พบว่า เราต้องเปิดอิสระให้แก่เด็กและเด็กจะคิดเอง ออกแบบการเรียนรู้เองร่วมกับชุมชนได้เอง ดังนั้นตนจึงมองว่าการเป็นอิสระเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก ซึ่งคนรุ่นใหม่จะต้องกล้าที่จะเปลี่ยนตัวเอง เพราะจะไม่มีใครช่วยคุณได้ถ้าคุณไม่เปลี่ยนตัวเอง และตนหวังว่าจะเห็นนักวิชาการและสื่อมวลชน สนใจคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่เปลี่ยนตัวเองได้และพยายามจะสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจ

ด้านนายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ภาพรวมของกรมกิจการเด็กและเยาวชน เรามีคำถามมากมายว่าระบบการศึกษาสามารถสร้างความเท่าเทียมไปสู่ทุกคนได้จริงหรือไม่ เพราะตนเคยพบเด็กอายุ 7 ขวบ ที่อยู่ในระบบการศึกษาปกติไม่สามารถอ่านเขียนได้ อีกทั้งยังมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่มีชุดนักเรียนใส่ ซึ่งตนมองว่าการศึกษาอาจจะไม่ตอบโจทย์เด็กทุกคน เป็นเหมือนการตัดเสื้อตัวเดียวให้เด็กทุกคน ถ้าหากเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสังคมไทยไม่ได้มีความเหมือน หรือใช้รูปแบบเดียวกันในการที่จะให้เขาใช้เดินไปข้างหน้าด้วยหลักสูตรเดียวกัน ดังนั้นกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กเหล่านี้ เพราะเราจะปล่อยให้เด็กทำทุกสิ่งอย่างไม่ได้ แต่วิธีการเป็นสิ่งที่มีปัญหาเพราะเราไม่พยายามสร้างความไว้ใจและเชื่อมั่นในเด็กว่าเขาสามารถทำอะไรได้ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ และในส่วนของภาครัฐเองก็จะต้องหาแนวทางให้เด็กๆ มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน

 นอกจากนี้ภายในงานได้มีการจัดเสวนา ED Talk แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระบบการศึกษาไทย ในประเด็น “สุขของการเรียนอยู่ไหนในการศึกษาไทย” โดยนายวรากรณ์ ใจยา นักศึกษาชมรมรากดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนจากภาคเหนือ เป็นเด็กบ้านนอกใฝ่ฝันที่จะได้เรียนในเมือง ในมหาวิทยาลัยดังๆ แต่ไม่มีโอกาส ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องทุนทรัพย์ แต่ยังคงมีเรื่องอื่นๆ เพราะตนอยู่ในระบบการศึกษา ตั้งต้นจากเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน โรงเรียนประจำอำเภอ และมหาวิทยาลัย นิยามความสุขในการเรียนรู้ พบว่า ความสุขเกิดขึ้นจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน มากกว่าเรียนรู้ในโรงเรียน เพราะโรงเรียนในชนบท ครูจะโฟกัสที่เด็กเรียนเก่ง ส่งเสริมเฉพาะเด็กเก่ง ครูกำกับทิศทางการเรียนอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวก็ใช้ชีวิตตามลู่ทาง ตามระบบค่านิยมที่ถูกสังคมวางไว้ ดังนั้นเราจะขาดการถูกเหลียวแลจากระบบ จึงหันไปทำงานกับศูนย์เพื่อนหญิง ซึ่งเป็นภาคประชาสังคม เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ทำให้ตนเห็นว่าการทำกิจกรรมภายนอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดทักษะชีวิต อีกทั้งตนยังเชื่ออย่างหนึ่งว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การลงมือทำ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ คือ การยุบโรงเรียน ตนเคยอยู่ในโรงเรียนที่ปัจจุบันถูกยุบก็รู้สึกใจหาย เพราะโรงเรียนในชนบทไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่เป็นพื้นที่รวมความสัมพันธ์ของคน เป็นทุกอย่างของชุมชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนแน่นอน 

“เราต่างก็ผ่านระบบการศึกษา ทุกคนมีคำตอบในใจว่าความสุขของเราอยู่ตรงไหนในระบบการเรียน ต่างก็ฝันไม่ให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น เช่น การถูกตีตราจากครู การเหยียดเพศ หรือการล้อเล่น ยังคงมีอยู่ในโรงเรียน แต่นั่นคือแรงผลักดันของตัวเองมาทำงานในจุดนี้ แต่ประเด็นสำคัญ คือ การมีเสรีภาพทางความคิดให้กับเด็ก เปิดอิสระในการเรียนรู้ให้กับเด็ก เด็กควรมีสิทธิที่จะเลือก คนยุคเก่า ไม่ควรจะตีกรอบว่าอาชีพไหนดีหรือไม่ดีกว่าอาชีพอื่น ขอโอกาสให้ผู้ใหญ่เปิดใจในการให้ช่องทางกับเด็กในสังคม” นายวรากรณ์ กล่าว

นางสาวชลธิชา ศรีษะโคตร นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำกิจกรรมการพัฒนาตัวเองกับระบบการศึกษาไทย ทำให้ตนเกิดคำถามว่า ถ้าเราต้องการพัฒนาตัวเอง เรามีวิธีการอะไร และมีช่องทางใดบ้างที่จะสามารถพัฒนาตัวเองได้บ้าง ในระบบการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่การศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา จะมีครูทำหน้าที่สอนนักเรียนบริเวณหน้าชั้นเรียน นักเรียนนั่งจดตามที่ครูสอน จำนวน 40-50 คนต่อห้อง ซึ่งตนถือเป็นคนหนึ่งที่คุ้นชินกับการจัดการศึกษาในลักษณะนี้ ระบบที่มีแค่การถ่ายทอดความรู้ในระบบทางเดียว โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่มีการสื่อสาร ความร่วมมือทั้งระหว่างครู และนักเรียน หรือนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน ซึ่งถือเป็นจุดบอดอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาไทยที่ทำให้ตัวนักเรียนไม่ได้พัฒนาเรื่องทักษะทางอารมณ์ ทั้งการพูด การมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีม ดังนั้นระบบการศึกษาไทยจึงไม่ตอบโจทย์เรื่องพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐานของมนุษย์ต่างๆ การศึกษาที่มีในปัจจุบันสอนเราเรื่องทักษะด้านความรู้ที่จะนำไปสู่การเข้ามหาวิทยาลัยและการทำงาน ไม่เคยสอนเรื่องการการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือการสื่อสารในชีวิตการทำงาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นทักษะที่ไม่ได้เรียนรู้ผ่านการที่ครูพูดกับนักเรียน แต่เกิดจากการเรียนรู้ การลงมือทำ ได้มีการทดลองรวมถึงพัฒนาตนเอง

“ในปัจจุบันเวลาที่ครูมีคำถามซึ่งเป็นความรู้ที่เรียนอยู่แล้ว ถามนักเรียนในห้องปรากฎว่าไม่มีใครกล้าตอบคำถาม เรื่องนี้ถือว่าเป็นการสื่อสารง่ายๆ แต่กลับไม่มีนักเรียนคนไหนกล้าที่จะตอบ เป็นจุดบอดของระบบการศึกษาที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตประจำวันทักษะทางวิชาชีพอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะยังมีสิ่งอื่นๆ ที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไป และดิฉันเชื่อว่าระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ทุกคนมองเห็นปัญหาในส่วนนี้ แต่ยังมีการแก้ไขอย่างไม่ตรงจุด และยังไม่ได้เข้าถึงนักเรียนทุกคน ดังนั้นดิฉันคิดว่าควรที่จะมีการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย เพื่อพัฒนาเด็กในจุดนี้ เพิ่มเรื่องการสร้างกิจกรรม

7CA38BA5-783B-42B4-97CE-A6FA11E6ABC7.jpegCDE97FA1-DC98-42CB-A5F2-8D18DDA1482D.jpegAE902BFD-5C6B-4DA1-A463-E51E4FB98FA2.jpeg