ฟินแลนด์เป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ที่มีพรมแดนร่วมกับรัสเซียยาวที่สุดในภูมิภาคกว่า 1,340 กิโลเมตร โดยในปัจจุบันนี้ พรมแดนของฟินแลนด์มีการตัดตั้งรั้วไม้น้ำหนักเบาเป็นตัวแบ่งเส้นเขตแดนของทั้งสองชาติเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ฟินแลนด์ตัดสินใจสร้างรั้วใหม่ที่มีความเข็งแรงขึ้น เนื่องจากทางการพบชายชาวรัสเซียจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการหลบหนีการเกณฑ์ทหารไปสู้รบในยูเครน แอบหลบหนีเข้ามายังประเทศของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ
ฟินแลนด์ขยับเข้าใกล้การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) มากขึ้น โดยในวันอังคารที่ผ่านมา (28 ก.พ.) รัฐสภาฟินแลนด์เริ่มการอภิปรายร่างกฎหมายเพื่อเร่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่ารัฐสภาฟินแลนด์จะมีการลงมติในร่างกฎหมายดังกล่าวช่วงวันพุธนี้ (1 มี.ค.)
งานก่อสร้างรั้วที่จุดผ่านแดนเมืองอิมาตรา ได้เริ่มการก่อสร้างขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พร้อมกันกับการถางพื้นที่ป่า ขณะที่การก่อสร้างถนน และการติดตั้งรั้วมีแผนที่ จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.นี้ ทั้งนี้ หน่วยพิทักษ์ชายแดนฟินแลนด์ระบุว่า กล้องจับภาพตอนกลางคืน ไฟ และลำโพง จะถูกติดตั้งในบางจุดบริเวณรั้ว โดยโครงการนำร่องสร้างรั้วกั้นพรมแดนระยะทาง 3 กิโลเมตรที่อิมาตรา คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
ฟินแลนด์ได้ผ่านการแก้ไขรัฐบัญญัติพิทักษ์ชายแดนในเดือน ก.ค.ปีก่อน เพื่อให้สามารถสร้างรั้วที่แข็งแรงขึ้นได้ หลังจากที่รั้วไม้ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันบริเวณพรมแดนของตัวเองที่ติดกันกับรัสเซีย มีไว้เพื่อป้องกันปศุสัตว์เดินข้ามพรมแดนเป็นหลัก
นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ฟินแลนด์พยายามเสริมความแข็งแกร่งให้กับพรมแดนด้านตะวันออก โดยในเดือน ก.ย.ปีก่อน มีชายชาวรัสเซียจำนวนมากเริ่มหลบหนีข้ามพรมแดนมายังฝั่งฟินแลนด์ หลังจาก วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ออกกฤษฎีกาสั่งให้มีการระดมกองกำลังกองหนุนเพื่อเข้าสู้รบในยูเครน
หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ปีที่แล้ว ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจว่าทั้งสองชาติต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO โดยเร็วที่สุด หลังจากทั้งสองชาติมีสถานะเป็นกลางทางการทหารมานานหลายปี
ทั้งนี้ ฟินแลนด์เผชิญกับอุปสรรคทางการทูตน้อยกว่าสวีเดน และรัฐบาลฟินแลนด์ต้องการบรรลุความพยายามในครั้งนี้ เพื่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของฟินแลนด์ที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ อย่างไรก็ดี ยังมีแค่ตุรเคียและฮังการีเท่านั้น ที่ยังไม่ให้ความเห็นชอบในการรับทั้งสองชาติเข้าเป็นพันธมิตร NATO
ที่มา: