ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก บช.น. แถลงภาพรวมเหตุการณ์ม็อบ Redem 20 มี.ค. จับ 20 ราย แจ้งข้อหาระนาว ชี้ความรุนแรงเกิดจากผู้ชุมนุม ตำรวจเป็นฝ่ายตั้งรับและรักษากฎหมาย มีมาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะ โฆษก บช.น. แถลงภาพรวมการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า มีการนัดชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก(Redem) กลุ่มศิลปะปลดแอก และกลุ่มเพื่อนอานนท์ ที่บริเวณท้องสนามหลวง รวมประมาณ 1,000 คน

เกิดเหตุของการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากการใช้ความรุนแรงของ กลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยใช้ไม้ แผงเหล็ก การใช้วัตถุระเบิด(ระเบิดปิงปอง) การทำลายรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ทุบตีรถตู้ของทางราชการมีการเผาภาพพระบรมฉายาลักษณ์ มีการพ่นสีและการลากตู้คอนเทนเนอร์ ใช้คีมตัดเหล็กตัดรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ ขว้างปาก้อนหิน และของแข็งอื่นๆ ใส่เจ้าหน้าที่ ตำรวจ 

เผาวัตถุต่างๆ บนพื้นถนน โดยไม่เป็นไปตามเจตนาของการชุมนุมโดยสงบ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมในครั้งนี้หลายราย และมีทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 20 มี.ค. ถึง 00.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องเข้าทำการจับกุม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ทั้งนี้ จากการชุมนุมดังกล่าวสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 20 ราย มีการแจ้งข้อหาหลักๆ 

1.ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง

2. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) และมาตรา 51

3. ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215

4. เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216

5. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 

6. ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรกและมีผู้กระทำผิดบางส่วน ที่ได้กระทำผิดลักษณะกระทบจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมากอย่างจงใจ ก็ได้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 ทั้งหมดถูกส่งตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1

นอกจากนี้มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 50 ราย ยังพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ 9 ราย และ รพ.วชิระ 2 ราย


กล่าวหาผู้ชุมนุมรุนแรง

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดจากผู้ชุมนุมเป็นหลัก ตำรวจเป็นฝ่ายตั้งรับและรักษากฎหมาย มีหน้าที่รักษาความสงบและรักษาสาธารณสมบัติ และโบราณสถานของชาติ ทั้งนี้ลักษณะการชุมนุมที่อ้างว่าไม่มีแกนนำ แต่การสืบสวนเชิงลึก กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีแกนนำตามปกติ แต่ไม่ปรากฎตัวเท่านั้น

ระหว่างแถลงข่าว พล.ต.ต.ปิยะ ยังได้นำภาพชายสวมเสื้อสก็อต ระบุฝากประชาสัมพันธ์ถึงนักสืบโซเชียลให้ช่วยหาตัว เนื่องจากเป็นผู้ขว้างระเบิดใส่ตำรวจจำนวนหลายลูก หากใครพบเห็นให้แจ้ง บช.น. หรือ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล 

พล.ต.ต.ปิยะ ยังกล่าวถึงกรณีมีสื่อมวลชนหลายราย ถูกยิงด้วยกระสุนยาง ระหว่างการเข้ากระชับพื้นที่ของตำรวจ ว่า เราได้กำชับในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนให้เป็นไปตามระเบียบ มีการประกาศเตือนพี่น้องสื่อมวลชน แพทย์อาสา และประชาชนให้ออกจากพื้นที่ แต่ยังมีสื่อมวลชนที่ยังออกไม่หมด ทำให้ถูกลูกหลงช่วงชุลมุน ทางพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. รับทราบแล้ว และจะเดินทางไปเยี่ยมอาการ

ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(โฆษก ตร.) กล่าวว่า เรามีมาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ชุมนุม เราพยายามดูแลสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ และไม่เกิดความรุนแรงให้มากที่สุด มีการแจ้งเตือนเป็นระยะๆ เพื่อควบคุมพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำลงไปยืนยันว่าทำไปเพื่อรักษากฎหมาย