ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจอังกฤษ ตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ต้องสงสัยลงมือลักพาตัว-ฆาตรกรรมหญิงสาว 33 ปี จนเสียชีวิต คดีที่สร้างความสะเทือนทั่วประเทศ จุดประเด็นสิทธิผู้หญิง

สร้างความสั่นสะเทือนทั่วอังกฤษ หลังตำรวจพบหลักฐานและตั้งข้อหาตำรวจสังกัด 'สกอตแลนด์ยาร์ด' เป็นผู้ลงมือลักพาตัวและฆ่าหั่นศพ หญิงสาววัย 33 ปี จนโลกโซเชียลอังกฤษเกิดแฮชแท็ก #NotAllMenButAllWomen เรียกร้องความปลอดภัยของผู้หญิง

คดีนี้ เริ่มเมื่อ 3 มี.ค. ราว 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลอนดอน 'ซาราห์ เอเวอร์อาร์ด' (Sarah Everard) เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดวัย 33 ปี เดินทางออกจากบ้านเพื่อนในย่านแคลปแฮม เพื่อกลับบ้านพักของเธอซึ่งอยู่ย่านบริกซ์ตัน ภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกจับภาพเธอขณะเดินทางเพียงคนเดียว โดยเธอสวมเครื่องแต่งกายมิดชิด สวมหน้ากากอนามัย รองเท้าผ้าใบสีขาว กางเกงขายาว เสื้อที่ปิดถึงคอ สวมเสื้อแจ็กเก็ตแขนยาวทับและสวมหมวก 

ในคืนนั้น 'ซาราห์' หายตัวไป ไม่ได้กลับไปถึงบ้านพัก ส่งผลให้ครอบครัวแจ้งความดำเนินการออกตามหา อาศัยภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิดที่ถูกส่งไปเผยแพร่ทั่วทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ตลอดทั้งสัปดาห์ กระทั่ง 10 มี.ค. เธอถูกพบเป็นศพถูกทิ้งในป่า นอกเขตเมืองแอชฟอร์ด มณฑลเคนต์ ห่างจากกรุงลอนดอนราว 60 กิโลเมตร

ซาราห์ เอเวอร์อาร์ด - อังกฤษ

การสอบสวนของตำรวจได้มุ่งเป้าไปที่ ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญรายหนึ่งซึ่งเป็นตำรวจด้วยกัน ที่ชื่อ 

เวย์น คูเซนส์ วัย 48 ปี เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิเศษด้านการทูตและอารักขารัฐสภา ภายใต้สังกัดตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน หรือ 'สกอตแลนด์ยาร์ด' (Scotland Yard) คูเซนส์ ถูกตั้งข้อหาลักพาตัวและฆาตกรรม เขามีกำหนดถูกนำตัวขึ้นศาลในวันจันทร์นี้ โดยตำรวจกำลังเร่งสอบสวนถึงมูลเหตุจูงใจ


แฮชแท็กจุดประเด็นสิทธิผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม คดีลักพาตัวและฆาตกรรม 'ซาราห์ เอเวอร์อาร์ด' ได้จุดประเด็นข้อถกเถียงในสังคมอังกฤษโดยเฉพาะบนแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ผู้หญิงหลายคนออกมาเปิดเผยเรื่องราวความรุนแรงทางเพศ การถูกลวนลามทั้งคำพูด หรือการถูกคุกคามในหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานที่สาธารณะ ผ่านแฮชแท็กดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ผู้ชายยุติและเคารพความเท่าเทียมทางเพศ

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอังกฤษ หลายรายยังเผยเรื่องราวที่พวกเธอเคยเผชิญผ่านแฮชแท็กดังกล่าว โดยระบุว่า เมื่อผู้หญิงเผชิญการถูกคุกคามทางเพศไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เมื่อมีการร้องเรียนหรือพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้ ผู้หญิงมักเป็นกลายเป็นเหยื่อที่ถูกโยนความผิด (victim blaming) ว่าเหตุที่ถูกตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเหล่านั้นเพราะ พวกเธอแต่งตัวยั่วยวน หรือกระทำสิ่งที่ไม่ระวังเอง แต่แท้จริงแล้วความรุนแรงเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากฝ่ายชายปฏิบัติอย่างให้เกียรติและรู้ว่าไม่ควรทำเช่นนี้ไม่ว่ากับเพศใดก็ตาม

ซาราห์ เอเวอร์อาร์ด - อังกฤษ

อีกด้านหนึ่ง คดีนี้ได้จุดประเด็นความหวาดกลัว และเกิดการตั้งคำถามในสังคมอังกฤษ ถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของหญิงสาวที่ต้องเดินทางคนเดียวในยามกลางคืน โดย เครสซิดา โรส ดิค ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน กล่าวว่าเธอในฐานะผู้หญิง ทั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน (Commissioner of Police of the Metropolis) ตกใจอย่างมากกับข่าวนี้เมื่อรู้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตกเป็นจำเลยในคดี ทั้งยังมีผู้หญิงอีกมากที่ออกมาแชร์ประสบการณ์ที่พวกเธอเคยเผชิญ ทุกภาคส่วนควรเร่งกระดับมาตรการปกป้องคุ้มครองและระงับป้องกันรุนแรงต่อสตรีทั่วประเทศ