26 พ.ย.2565 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลว่า ที่ผ่านมา 1 ปีแล้วยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่มุ่งหวังเพียงใช้เป็นนโยบายรักษาคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ โดยไม่ได้หวังผลสำเร็จ
พิธา กล่าวว่า ตนคิดว่าที่ปิยบุตรกล่าวมีเหตุผล และพร้อมที่จะรับลูกเพื่อไปเดินหน้าต่อ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการใช้มาตรา 112 ในการทำลายศัตรูทางการเมืองและผู้เห็นต่างมากขึ้น รวมถึงเยาวชน ซึ่งพรรคก้าวไกลได้พยายามไปช่วยประกันตัวและเพิ่มสิทธิเสรีภาพในการพูด ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าในสภาชุดนี้ยังมีการปิดกั้นการยื่นแก้ไขมาตรา 112
"บางครั้งเราพยายามผลักเพดานในการอภิปรายหลายๆ เรื่อง ให้เป็นเรื่องปกติ เหมือนที่สภาสมัยก่อนเป็น หลายเรื่องถ้าทำด้วยความสุภาพ มีวุฒิภาวะ มีเหตุมีผลก็สามารถพูดได้ พร้อมที่จะใช้เวลาในช่วงที่เหลือดูว่าสามารถทำอะไรในสภาชุดนี้ได้หรือไม่ ถ้าหากไม่ได้ ในสภาชุดหน้าก็ต้องแข็งขันในเรื่องนี้มากขึ้น"
พิธา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมาก็มีวิกฤตหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ที่พรรคอาจจะใช้สมาธิกับเรื่องเหล่านั้น เพราะประเทศก็มีความต้องการหลากหลาย แต่ขอยืนยันกับปิยบุตรและประชาชนที่ต้องโทษจากมาตรา 112 ได้รับผลกระทบจากการฟ้องมั่วไปหมด รวมถึงอัตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ซึ่งพรรคก้าวไกลรับปากจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป รวมถึงในสภาด้วย
เมื่อถามว่าในสมัยหน้า พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภาอีกครั้งหรือไม่ พิธา ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าจะตอบได้หรือเปล่า คงต้องดูตามบริบท แต่ก็จะพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องนี้ ซึ่งรัฐสภาก็เป็นที่ซึ่งเหมาะสมที่สุด บางทีต้องคำนึงถึงบุคคลที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 แล้วยังไม่เข้าใจว่ามันทำลายชีวิตคนได้มากแค่ไหน
สำหรับผลงานด้านการแก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นรูปธรรมในปีที่ผ่านมา พิธา ระบุว่า มีเรื่องการยื่นแก้ไขสู่วาระสภา การอภิปรายงบประมาณที่มีปัญหา และการพยายามยกเพดานทั้งในและนอกสภา รวมถึงการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 และพร้อมผลักดันต่อไปอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล
พิธา ยังกล่าวถึงวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 29-30 พ.ย.นี้ ที่มีการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และประชาชน 50,000 รายชื่อร่วมเสนอ โดยระบุว่า รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันที่จะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขฉบับดังกล่าว
ส่วนความเห็นของฝ่ายรัฐบาลก็ต้องกระทุ้งถามเพราะเวลาที่มีการอภิปรายเรื่องการกระจายอำนาจทุกคนต่างร่วมแสดงความเห็นอภิปราย ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามการพิจารณาของวุฒิสภาซึ่งเชื่อว่าหลายคนทำงานเรื่องนี้ ซึ่งจะเข้าใจความลำบากของข้าราชการในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้หาก 3 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมก็เชื่อว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่พิจารณาวาระนี้
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ใจว่าร่างแก้ไขดังกล่าวจะเข้าสู่วาระการประชุมสัปดาห์นี้หรือไม่ เพราะการประสานงานของวิปทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ราบรื่นนัก