สำนักข่าวรอยเตอร์สลงบทวิเคราะห์สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่า ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่รู้สึกผิดเกี่ยวกับสิ่งที่บรรพบุรุษทำในยุคอาณานิคมและยุคสงครามโลกน้อยลง
ในปี 1993 ที่โยเฮ โคโนะ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นขณะนั้น ออกมาขอโทษ “หญิงบำเรอสงคราม” ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานรับรองทหารญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลี คำขอโทษของเขาเป็นการพูดแทนประชาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในขณะนั้นที่ต้องการจะหันมาปรองดองกับประเทศเพื่อนบ้าน
25 ปีถัดมา ทะโร โคโนะ ลูกชายของโยเฮ โคโนะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลของชินโซ อาเบะ และกลายมาเป็นแนวหน้าของรัฐบาลญี่ปุ่นในการยกระดับความขัดแย้งกับเกาหลีใต้ เรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวเกาหลีที่ถูกบังคับเป็นแรงงานทาสในเหมืองและโรงงานช่วงเกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น
ความแตกต่างระหว่างท่าทีของพ่อและลูกสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพรรครัฐบาลของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่อาเบะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยแอนดรูว์ ฮอร์แวต อาจารย์มหาวิทยาลัยโจไซกล่าวว่า ประชากรญี่ปุ่นได้เปลี่ยนรุ่นไปแล้ว คนที่เห็นแรงงานเกาหลีต้องอยู่ในสภาพย่ำแย่ในเหมืองและบริษัทของญี่ปุ่นได้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ก็แก่มากแล้ว ความล้มเหลวในการบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับเรื่องในอดีตส่งผลให้คนรุ่นใหม่ไม่อดกลั้นมากนัก เพราะไม่ได้พบเจอประสบการณ์จริง
จุดยืนแข็งกร้าวของอาเบะ
รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า คำตัดสินของศาลเกาหลีใต้ที่ให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานทาสในสมัยอาณานิคมเป็นการทำผิดสัญญาข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติในปี 1965 ที่ญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยและให้เงินกู้กับเกาหลีใต้แล้วความขัดแย้งทั้งหมดระหว่างกันจะจบลง แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยืนยันว่า ข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐไม่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียของปัจเจกบุคคล ทำให้อาเบะกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็คือความเชื่อใจกัน และจะรักษาสัญญาที่ทั้งสองประเทศตกลงกันไว้หรือไม่
ในปี 1993 ที่อาเบะที่ได้รับเลือกเป็นส.ส.ไปปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาสมัยแรก เป็นปีเดียวกันกับที่โยเฮ โคโนะออกแถลงการณ์ขอโทษหญิงบำเรอสงคราม และอีก 2 ปีต่อมา โทมิอิจิ มุระยะมะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นฝ่ายสังคมนิยมที่ทำรัฐบาลร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยมแอลดีจี ได้ออกมาขอโทษผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานในช่วงอาณานิคม ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่ในพรรคแอลดีพี รวมถึงอาเบะวิจารณ์ว่า คนรุ่นเก่ามีจุดยืนทางประวัติศาสตร์แบบ “มาโซคิสม์”
ในปี 2006 อาเบะได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัยแรก และเขาก็เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว แล้วในปี 2012 อาเบะก็ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วยการสนับสนุนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะอาเบะตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินนโยบายอย่างภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และรู้สึกผิดกับช่วงสงครามน้อยลงกว่าที่ผ่านมา
ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลของอาเบมีจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งในยุคอาณานิคมและยุคสงครามโลก และการสำรวจความเห็นของประชาชนก็แสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนจุดยืนนี้ของรัฐบาลด้วย โดยหนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซังเคและฟูจินิวส์เน็ตเวิร์กได้เปิดเผยผลการสำรวจที่ระบุว่า ผู้ตอบสำรวจถึง 2 ใน 3 สนับสนุนการถอดเกาหลีใตออกจากบัญชีขาว หรือรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งออก แต่เกือบร้อยละ 60 ยังรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
วิลเลียม อันเดอร์วูด นักวิจัยอิสระที่ทำงานด้านแรงงานบังคับกล่าวว่า ชาวญี่ปุ่นรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่าจุดยืนของรัฐบาล โดยคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากนัก เพียงแต่รู้สึกว่าคนเกาหลีเอาใจยาก และท่าทีที่แข็งกร้าวของผู้นำทั้งสองประเทศก็ดูจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งนี้จะจบลงได้ยาก จนกว่าความขัดแย้งนี้จะกระทบเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านความมั่นคง